สมาคมกีฬาคิกบ็อกซิ่งแห่งประเทศไทย เดินหน้าขับเคลื่อนการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎกติกากีฬาคิกบ็อกซิ่งอย่างถูกต้อง ตามแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2565-2570) ที่ได้กำหนดวิสัยทัศน์ประเด็นยุทธศาสตร์ และแนวทางพัฒนา จึงได้จัดการโครงการจัดอบรมกฎและกติกา กีฬาคิกบ็อกซิ่งขึ้น โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นบุคลากรทางการกีฬา และผู้ที่สนใจจาก 77 จังหวัด ใน 5 ภาค รวมทั้งเจ้าหน้าที่, บุคลากรของสมาคม, นักกีฬาคิกบ็อกซิ่ง และนักกีฬาประเภทการต่อสู้ ประมาณ 600 คน เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในกฎ และกติกา กีฬาคิกบ็อกซิ่งตามมาตรฐาน WAKO ให้เพิ่มมากขึ้นในทุกภูมิภาคในประเทศไทย รวมทั้งเพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในการใช้อุปกรณ์กีฬาคิกบ็อกซิ่ง เพื่อการอบรมและฝึกซ้อม ยกระดับให้บุคลากรมีทักษะ และสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลสูงสุด

โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อเผยแพร่กีฬาคิกบ็อกซิ่งตามมาตรฐาน WAKO ที่คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ให้การรับรอง ทำให้แพร่หลายในประเทศไทยอย่างมีมาตรฐาน และเพิ่มพูนทักษะของนักกีฬา, ผู้ตัดสิน และผู้ฝึกสอน โดยจะเป็นการเตรียมความพร้อมสู่การแข่งขันระดับชาติ และระดับนานาชาติที่ WAKO จัดขึ้น รวมถึงมหกรรมกีฬาระดับนานาชาติ

หลักสูตรการอบรม ประกอบด้วย ภาคทฤษฎี ความเข้าใจเกี่ยวกับกีฬาคิกบ็อกซิ่งในประเทศไทย, คุณสมบัติของผู้สอนกีฬาคิกบ็อกซิ่งที่ดี, ความแตกต่างระหว่างคิกบ็อกซิ่งกับกีฬามวยไทย, ประเภทของคิกบ็อกซิ่ง และแนวทางปฏิบัติการขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกของสมาคม และผู้ตัดสินคิกบ็อกซิ่ง ส่วนภาคปฏิบัติเป็นของกีฬาคิกบ็อกซิ่ง ประเภททาทามิ และประเภทริง

การอบรมประเดิมภาคแรกแล้ว ที่ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ ณ ห้องประชุมป่าสักหลวง โรงแรมโลตัส ปางสวนแก้ว โดยพิธีเปิดวันที่ 11 พ.ย. 66 มี ผศ.ดร.อนันต์ เมฆสวรรค์ อดีตรองอธิการบดี ม.การกีฬาแห่งชาติ ประจำวิทยาเขตชัยภูมิ เป็นประธาน เริ่มต้นช่วงเช้าด้วยการอบรมภาคปฏิบัติกีฬาคิกบ็อกซิ่ง ประเภททาทามิ โดย “โค้ชเอก” นายเอกรินทร์ ทองมา ผู้ฝึกสอนคิกบ็อกซิ่งทีมชาติไทย ประเภททาทามิ และคณะ จากนั้นช่วงบ่าย เป็นการอบรมภาคปฏิบัติกีฬาคิกบ็อกซิ่ง ประเภทริง โดย “โค้ชดวง” นายประวิทย์ สวัสดิรักษา ผู้ฝึกสอนคิกบ็อกซิ่งทีมชาติไทย ประเภทริง, นายวินัย จำปาทอง และนายสุรสิทธิ์ ภูงามเงิน ร่วมติวเข้มให้กับผู้เข้าร่วมการอบรม

วันที่ 2 วันที่ 12 พ.ย. ช่วงเช้ายังคงเป็นการอบรมภาคปฏิบัติกีฬาคิกบ็อกซิ่ง ประเภททาทามิ และประเภทริง ตามด้วยช่วงบ่ายกับการอบรมแนวทางปฏิบัติการขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกของสมาคมกีฬาคิกบ็อกซิ่งฯ และผู้ตัดสินคิกบ็อกซิ่ง โดย น.ส.ปณิชตา ดีเหลือ เลขาธิการสมาคมกีฬาคิกบ็อกซิ่งฯ ก่อนได้มีการทำแบบทดสอบ และแบบประเมิน

ปิดท้ายด้วยพิธีมอบเกียรติบัตรให้กับผู้เข้าร่วมการอบรม โดยมี ดร.ปัญญา หาญลำยวง คณะอนุกรรมการติดตามการใช้จ่ายเงินของกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีมอบเกียรติบัตร ร่วมด้วย นายมนตรี หาญใจ กรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ และนายกสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดเชียงใหม่, ผู้แทนนายสงค์ศักย์ คำดีรุ่งริรัตน์ ผอ.สำนักงานการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ภาค 5, นายก่อพงศ์ นำบุญจิตต์ ผอ.สำนักงาน กกท.จังหวัดเชียงใหม่, นายวิสูตร วรรคดี หัวหน้างานวิทยาศาสตร์การกีฬาภูมิภาค และ ผศ.ชัยพร แก่ววิวัฒน์ เลขาธิการสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดเชียงใหม่ เข้าร่วม

ทั้งนี้ หลังจากนี้สมาคมฯ เตรียมที่จะจัดการอบรมต่อเนื่องในอีก 4 ภูมิภาค ประกอบด้วย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.อุดรธานี วันที่ 17-19 พ.ย. 66, ภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี วันที่ 24-26 พ.ย. 66, ภาคตะวันออก จ.ชลบุรี วันที่ 1-3 ธ.ค. 66 และปิดท้ายที่ภาคกลาง จ.พระนครศรีอยุธยา วันที่ 8-10 ธ.ค. 66 โดยสิทธิพิเศษสำหรับผู้เข้าอบรมโครงการจะได้รับที่พักฟรี, กระเป๋าเดินทางขนาด 20 นิ้ว 1 ใบ, เสื้อยืดของสมาคม และใบประกาศนียบัตรสำหรับผู้เข้าร่วมครบทั้ง 3 วัน โดยสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่เพจ สมาคมกีฬาคิกบ็อกซิ่งฯ Kickboxing Association of Thailand หรือสอบถามเพิ่มเติม โทร. 09-269-7447 หรือ 06-3141-9546

ดร.ปัญญา หาญลำยวง คณะอนุกรรมการติดตามการใช้จ่ายเงินของกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ เปิดเผยว่า คิกบ็อกซิ่งเป็นกีฬาใหม่ในไทย แต่ในระดับโลกเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยม และมีโอกาสบรรจุเข้าโอลิมปิกเกมส์ในอนาคต ซึ่งการจัดการอบรมกฎ และกติกาของสมาคมกีฬาคิกบ็อกซิ่งฯ ในครั้งนี้ ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก ทำมาตรฐานในการจัดอบรมไว้สูงมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่พัก อาหาร และที่สำคัญคือ เรื่องอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งสมาคมได้แจกให้กับผู้เข้ารับการอบรม ถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการพัฒนา รวมถึงเรื่องความรู้เป็นสิ่งสำคัญมาก บุคลากรที่อบรมจะไปถ่ายทอดให้กับเยาวชนในภูมิภาคต่างๆ โดยสมาคมได้จัดอบรม 5 ภาค เพื่อให้ครอบคลุมทั้งประเทศ ทำให้มีคนรู้จัก และเล่นกีฬาคิกบ็อกซิ่งเพิ่มมากขึ้น

“หลังจากนี้แผนของสมาคมกีฬาคิกบ็อกซิ่งฯ เตรียมจะจัดแข่งขันชิงแชมป์ภาค และชิงแชมป์ประเทศไทย ขั้นต่อไปเราจะนำมาพัฒนาเป็นตัวแทนทีมชาติในการส่งเข้าแข่งขันรายการต่างๆ ของโลก ซึ่งที่ผ่านมา นักกีฬาคิกบ็อกซิ่งไทยมีทักษะพื้นฐานที่ดีจากมวยไทย แต่ยังไม่เข้าใจเรื่องกฎกติกา และไม่ค่อยประสบความสำเร็จ ฉะนั้นสมาคมได้เห็นปัญหาแล้ว จึงได้วางรากฐาน ด้วยการอบรมกฎกติกา และเผยแพร่ความนิยม ผมเชื่อว่าในระยะเวลาอันใกล้นี้ จะทำให้นักคิกบ็อกซิ่งไทยประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติ และเชื่อว่าในโอลิมปิกในอนาคตข้างหน้า กีฬาคิกบ็อกซิ่งมีโอกาสเข้าบรรจุ ถึงตอนนั้นนักกีฬาไทยจะมีความพร้อมเต็มที่ มั่นใจว่าจะมีโอกาสประสบความสำเร็จได้” ดร.ปัญญา กล่าว

ทางด้าน นายมนตรี หาญใจ กรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ และนายกสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ต้องขอบคุณสมาคมกีฬาคิกบ็อกซิ่งฯ ที่ให้เกียรติ จ.เชียงใหม่ เป็นเจ้าภาพในการจัดอบรมครั้งนี้ ซึ่งคิดว่าจะเป็นการส่งเสริมให้นักกีฬาที่สนใจคิกบ็อกซิ่ง และให้ความรู้เรื่องกฎกติกา สามารถนำไปถ่ายทอดให้ได้รู้กฎที่แท้จริง มองว่าเป็นประโยชน์ต่อวงการคิกบ็อกซิ่งไทย ที่ตลอดเวลา 2 ปีที่ผ่านมา คิกบ็อกซิ่งไทยมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด.