สามีของอันโด และพี่น้อง 3 คนของเธอ ปฏิเสธที่จะออกจากบ้านในเมืองตักโลบัน ซึ่งอยู่ห่างจากทะเลไม่ถึง 100 เมตร พวกเขาเสียชีวิตไปพร้อมกับเด็ก 4 คน จากนํ้าที่ไหลทะลักเข้าท่วม และสิ่งปลูกสร้างที่พังทลาย

“ตอนนี้ฉันสามารถหัวเราะได้อีกครั้ง แต่ฉันจะไม่มีวันลืมพวกเขา” อันโด ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว เพราะเธอใส่ใจคำเตือนของทางการให้กลับเข้าฝั่งก่อนพายุพัดถล่ม กล่าว

10 ปีต่อมา หลุมศพหมู่ของครอบครัวนี้ เป็นหนึ่งในสิ่งเตือนใจถึงหายนะที่เกิดขึ้นในเมืองตักโลบัน ซึ่งถูกไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนที่รุนแรงทำลายล้าง จนต้องมีการสร้างใหม่เกือบทั้งหมดตั้งแต่ต้น

ปัจจุบัน เมืองตักโลบันมีสภาพเหมือนกับเมืองอื่น ๆ ในฟิลิปปินส์ ทั้งถนนที่มีการจราจรติดขัด และร้านอาหารที่มีคนพลุกพล่าน ขณะที่ตามแนวชายฝั่งมีกำแพงกันคลื่นทอดยาว 18 กิโลเมตร เพื่อป้องกันคลื่นพายุในอนาคต

“ผมคิดว่าพวกเราฟื้นตัวเต็มที่แล้ว” นายอัลเฟรด โนมูอัลเดซ นายกเทศมนตรีเมืองตักโลบัน กล่าว

อนึ่ง บรรดานักวิทยาศาสตร์กล่าวเตือนมานานแล้วว่า พายุมีความรุนแรงมากกว่าเดิม เมื่อโลกร้อนขึ้น เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ขับเคลื่อนโดยมนุษย์ แม้ฟิลิปปินส์มีประสบการณ์มากมายในการรับมือกับภัยพิบัติ แต่นั่นไม่ได้ทำให้ประเทศเตรียมพร้อมสำหรับซูเปอร์ไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน ซึ่งมีความเร็วลมสูงถึง 315 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และทำให้เกิดคลื่นสูง 5 เมตร

“ผมรู้สึกว่าในแง่ของรัฐบาลและเทศบาล มันมีบทเรียนมากมายที่เราได้เรียนรู้ แต่มันก็ยังมีบทเรียนอีกมากมายที่พวกเราต้องเรียนรู้ และทำให้เป็นระบบ” โรมูอัลเดซ กล่าวเพิ่มเติม

ด้านเจ้าหน้าที่ภัยพิบัติและสภาพอากาศของฟิลิปปินส์ กล่าวว่า นับตั้งแต่ไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนพัดถล่มประเทศ ฟิลิปปินส์ลงทุนในระบบเตือนภัยล่วงหน้า, เทคโนโลยีการส่งข้อความจำนวนมาก และแอปพลิเคชันสาธารณะ เพื่อระบุพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดอันตราย

นอกจากนี้ แผนที่อันตรายซึ่งหน่วยงานของรัฐใช้งาน ยังได้รับการอัปเดตเป็นประจำ รวมทั้งมีการแจ้งเตือนสภาพอากาศล่วงหน้าในภาษาถิ่น และการอพยพล่วงหน้า ถือเป็นแนวปฏิบัติมาตรฐานของฟิลิปปินส์เช่นกัน

“กรอบความคิดได้เปลี่ยนไปแล้ว” นายเอ็ดการ์ โปซาดาส ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันพลเรือน ในกรุงมะนิลา กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้เทศบาลในหลายเมืองของฟิลิปปินส์ ใช้เงินทุน ชุดอาหาร และเจ้าหน้าที่กู้ภัยของตนเอง แทนที่จะพึ่งพารัฐบาลกลางของประเทศ นั่นจึงทำให้พวกเขาตอบสนองต่อภัยพิบัติได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงข้างต้น ช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตในภัยพิบัติแต่ละครั้ง นับตั้งแต่หายนะของซูเปอร์ไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนเป็นต้นมา

“ประสบการณ์ คือ ครูที่ดีที่สุดจริง ๆ” นายฮัวนิโต กาลัง หัวหน้าหน่วยงานบริการสภาพอากาศ กล่าวทิ้งท้าย.