“เศรษฐกิจดิจิทัล” หรือ “Digital Economy” ถือเป็นเศรษฐกิจในโลกยุคใหม่ ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งกำลังมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้า จนถึงเวลาเข้านอน!!

ซึ่งตัวเลข “เศรษฐกิจดิจิทัล” จะมีทิศทางเป็นอย่างไรต่อไป วันนี้มีคำตอบ เมื่องทาง  Google, Temasek และ Bain & Company ได้เปิดเผยรายงานเศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฉบับที่ 8 (e-Conomy SEA 2023 Report-Reaching new heights: Navigating the path to profitable growth) ซึ่งมีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับ  “เศรษฐกิจดิจิทัล” ของประเทศไทย และภูมิภาคอาเซียน

โดยผลสำรวจพบว่า  เศรษฐกิจดิจิทัลไทยใหญ่เป็นอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นรองเพียงอินโดนีเซีย  โดยในปี 66 นี้ มีมูลค่าสินค้ารวม  (จีเอ็มวี) สูงถึง 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ  1.27  ล้านล้านบาท และคาดว่า จะเติบโต เป็น 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.77 ล้านล้านบาท ในปี 68

ภาพ pixabay.com

นอกจากนี้ได้คาดการณ์ว่าเมื่อถึงปี 73 จะมีมูลค่าเพิ่มไปถึงประมาณ 1-1.65 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 3.55-5.85 ล้านล้านบาท!!  

สำหรับภาพรวมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาดว่ามูลค่าสินค้ารวมของเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคฯ จะสูงถึง 2.18 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 7.73 ล้านล้านบาท ในปี 66 หรือโตขึ้น 11% จากปีที่ผ่านมา  ในขณะที่รายได้เศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคฯ จะแตะ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3.55 ล้านล้านบาทในปีนี้ มีอัตราการเติบโตที่เร็วกว่ามูลค่าสินค้ารวมของภูมิภาคฯ ถึง 1.7 เท่า!!

“แจ็คกี้ หวาง” ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กูเกิล ประเทศไทย บอกว่า เศรษฐกิจดิจิทัลของไทยยังคงแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการฟื้นตัวอย่างน่าทึ่ง แม้จะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน ด้านเศรษฐกิจมหภาคก็ตาม ซึ่งการให้ความสำคัญกับการลดช่องว่างด้านการมีส่วนร่วมทางดิจิทัล

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มที่อยู่นอกเขตกรุงเทพฯ และการขจัดอุปสรรคต่างๆ อย่างจริงจังเพื่อให้ผู้คนสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ และบริการดิจิทัลได้มากยิ่งขึ้น จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถปลดล็อกศักยภาพเพื่อการเติบโตต่อไปในทศวรรษแห่งดิจิทัล

ทั้งนี้ การเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย มีอีคอมเมิร์ซเป็น “เครื่องจักร” ตัวขับเคลื่อนหลักที่สำคัญ โดยคิดเป็น 61% ของมูลค่าสินค้ารวมในปี 66 เติบโตขึ้น 10% จากปี 65 โดยมีมูลค่าสินค้ารวม 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 7.8  แสนล้านบาท  และคาดว่าจะแตะ 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.06 ล้านล้านบาท ในปี 68 ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี อยู่ที่ 16% 

แจ็คกี้ หวาง

แม้ว่าผู้ประกอบการจะลดการจัดโปรโมชั่นและปรับส่วนลด เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างการเติบโตและการสร้างผลกำไร ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าสินค้ารวมของภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซ จะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีโอกาสที่จะแตะ 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2.13 ล้านล้านบาท ในปี 73

ในขณะที่ “การท่องเที่ยวออนไลน์” เป็นอีกหนึ่งตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ โดยการท่องเที่ยวออนไลน์ของไทย มีอัตราการเติบโตเร็วเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาค โดยในปี 66 คาดว่าจะเติบโต 85% จากปีที่ผ่านมา  ซึ่งมูลค่าสินค้ารวม จะแตะ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.77 แสนล้านบาท แต่ยังไม่กลับสู่ระดับก่อนสถานการณ์โควิด-19 ที่สูงถึง 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2.48 แสนล้านบาท ในปี 62 ซึ่งจากนโยบายรัฐบาลการยกเว้นวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยว และโครงการกระตุ้นท่องเที่ยวต่างๆ จะช่วยให้ท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวอย่างเต็มรูปแบบภายในปี 67

สำหรับ สื่อออนไลน์  คือ บริการวิดีโอออนดีมานด์ เพลงออนดีมานด์ เกม นั้น ไทยครองตลาดบริการ วิดีโอสตรีมมิ่งที่เรียกเก็บค่าสมาชิกที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และคาดว่าไทยจะเป็นหนึ่งในตลาดสื่อออนไลน์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคฯ ในช่วงปี 66-73

“แม้ว่าจะมีข้อจำกัดทางด้านคอนเทนต์ที่เป็นภาษาท้องถิ่น แต่ผู้บริโภคชาวไทยก็เต็มใจที่จะสมัครใช้บริการวิดีโอ และเพลงแบบออนดีมานด์ โดยธุรกิจสื่อออนไลน์ของไทยคาดว่าจะมีมูลค่าสินค้ารวมอยู่ที่ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.77 แสนล้านบาท ในปีนี้ เพิ่มขึ้น 12% จากปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 16% มีมูลค่าสินค้ารวม 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2.48 แสนล้านบาท ในปี 68 และจะเพิ่มขึ้นไปแตะ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 5.32 แสนล้านบาทในปี 73”

ขณะที่ส่วนของการขนส่งและบริการส่งอาหารออนไลน์  จะมีมูลค่าสินค้ารวมอยู่ที่ 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.06 แสนล้านบาท ในปี 66 เพิ่มขึ้น 1% จากปี 65  โดยพฤติกรรมการสั่งอาหารออนไลน์ยังคงเหมือนเดิม หลังการระบาดใหญ่ ในขณะที่ความต้องการเดินทางคืนสู่ระดับก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของบริการด้านการเงินดิจิทัล (Digital financial services: DFS) นั้น บริการสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัลในไทยเติบโตเร็วที่สุดในภูมิภาคฯ  ถึง 65% ในปี 66 โดย มียอดสินเชื่อสูงถึง 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ  4.26 แสนล้านบาท

ภาพ pixabay.com

ขณะที่บริการด้านความมั่งคั่งทางดิจิทัลคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีเร็วที่สุดถึง 39% มีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการอยู่ที่ 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 8.16 แสนล้านบาท ในปี 68 โดยคาดว่าบริการด้านการเงินดิจิทัลของไทยจะมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของภูมิภาคฯ ในปี 73  

โดยปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากนโยบายของรัฐที่มุ่งเน้นให้การสนับสนุนกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน จึงช่วยส่งเสริมการเติบโตของภาคการบริการด้านการเงินดิจิทัลต่อไป ในขณะเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็มีแผนที่จะออกใบอนุญาตประกอบการธนาคารดิจิทัลใหม่ในปี 67 ช่วยให้คนไทยทั่วประเทศเข้าถึงบริการด้านการเงินได้มากขึ้น การขยายระบบผูกบัญชีพร้อมเพย์จะเข้ามารองรับในเรื่องนี้ โดยจะช่วยให้คนไทยเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินได้มากขึ้น

จากรายงานของยักษ์ไอทีระดับโลกนี้แสดงให้ห็นว่า ”เศรษฐกิจดิจิทัลไทย” ในหลายเซ็กเตอร์ ที่ไทยก้าวขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งในอาเซียนไปแล้ว หากรัฐบาลมีนโยบายขับเคลื่อนและส่งเสริมอย่างจริงจัง  “เศรษฐกิจดิจิทัล” จะเป็นส่วนหนึ่งที่หนุนให้จีดีพีของไทยเติบโตอย่างต่อเนื่องได้.

จิราวัฒน์ จารุพันธ์