โดยมี คุณ Anna Jakenberg Brinck จากสวีเดน คุณ Hugh Lim จากสิงคโปร์ และผู้ว่าฯ กทม. คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ซึ่งผมได้รับหน้าที่ให้เป็น moderator ซึ่งใน session ดังกล่าว ได้มีการแลกเปลี่ยนมุมมองของเมืองในอนาคต รวมถึงเรื่องของวิกฤติต่าง ๆ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ ที่ส่งผลทำให้คุณภาพชีวิตคนเมืองขาดความยั่งยืน ตลอดจนมีการหยิบยกนำเอาตัวอย่างเกี่ยวกับการจัดการเมืองด้วยนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย SDG

สำหรับปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศสวีเดน และสิงคโปร์ติดอันดับโลกด้านความยั่งยืนนั้น เป็นเพราะทั้งสองประเทศนี้เขามีผู้รับผิดชอบโดยตรง ที่เป็นผู้บริหารด้านความยั่งยืนของเมือง รวมถึงมีหน่วยงานชัดเจน มีบุคลากร มีแผนงาน มีงบประมาณ ตลอดจนได้รับความร่วมมือจากชุมชน จึงทำให้ทั้งสองประเทศนี้ มีความโดดเด่นเป็นอย่างมาก

อันที่จริง กทม. ก็เคยมีคณะกรรมการ CSR และความยั่งยืนของเมืองเช่นกันเมื่อ 15 ปีที่แล้ว ในเวลาไล่เลี่ยกับสวีเดน และก่อนสิงคโปร์เสียอีก โดยในช่วงนั้น กทม. ได้พันธมิตรจากภาคธุรกิจมาช่วยงานด้านความยั่งยืนหลาย ๆ เรื่อง แต่ในขณะที่กำลังเริ่มต้นได้ดี ก็กลับต้องมาหยุดชะงักไป เพราะเหตุที่ผู้ว่าฯ กทม. ในขณะนั้นลาออก และหลังจากนั้นไม่เคยมีผู้ว่าฯ คนใดที่จะสนใจนำเรื่องนี้มาต่อยอดจริงจังอีกเลย แต่หนึ่งเดือนหลัง session ของผู้ว่าฯ ชัชชาติ ที่งาน SX 2023 ทาง กทม. ก็ได้แต่งตั้ง พรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ให้มาดำรงตำแหน่ง ผู้บริหาร ด้านความยั่งยืน (Chief Sustainability Officer) หรือ CSO คนแรกของ กทม.

โดยตั้งเป้าผลักดันความยั่งยืน 10 ด้านให้ กทม. ได้แก่ 1.อากาศสะอาด 2.การจัดการทรัพยากรและขยะ 3.พื้นที่สีเขียว 4.การบริหารจัดการนํ้า 5.การเดินทางขนส่ง 6.พลังงาน 7.ความมั่นคงอาหาร 8.การรับมือความเสี่ยง 9.ธรรมาภิบาล 10.เศรษฐกิจสีเขียว โดยมีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ของ กทม. รวมถึงสร้างความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้เสียต่าง ๆ โดยจะเริ่มจากจัดทำแผนแม่บทความยั่งยืนให้ครอบคลุม ESG (Environment/Social/Governance) และตอบโจทย์ SDG อีกด้วย เรียกได้ว่า…มาช้ายังดีกว่าไม่มา เพราะตอนนี้เราต้องเร่งการลงมือทำ Decade of Action กันแล้ว หวังว่าเพื่อน ๆ วงการความยั่งยืนจะให้การสนับสนุน CSO คนแรกของ กทม. กันนะครับ.