สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 18 ก.ย. ว่า สถาบันวิจัยด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มิดเดิลบิวรี ที่เมืองมอนเตเรย์ ในรัฐแคลิฟอร์เนีย เผยแพร่รายงานเป็นผลการวิเคราะห์ชุดภาพถ่ายดาวเทียมสองภาพ บันทึกเมื่อวันที่ 1 ก.ย. และ 14 ก.ย.ที่ผ่านมา พบความเคลื่อนไหวและความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญครั้งใหม่ ภายในนิคมนิวเคลียร์ยองบยอน ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเกาหลีเหนือ
สำหรับภาพถ่ายดาวเทียมเมื่อวันที่ 1 ก.ย. เผยให้เห็นการปรับแต่งพื้นที่เพื่อการก่อสร้างใต้ดิน โดยการทำงานของรถขุดดินสามารถเห็นได้อย่างชัดเจน ส่วนภาพถ่ายเมื่อวันที่ 14 ก.ย.ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นกำแพง และมีการปิดกั้นพื้นที่อย่างเป็นสัดส่วน เบื้องต้นผู้เชี่ยวชาญประเมินอาณาเขตของพื้นที่แห่งนี้ไว้ที่ประมาณ 1,000 ตารางเมตร เพียงพอติดตั้งเครื่องหมุนเหวี่ยงอีก 1,000 เครื่อง เสริมศักยภาพการผลิตยูเรเนียมเสริมสมรรถนะให้กับนิคมแห่งนี้ได้อีก 25%
ภาพถ่ายดาวเทียมของสหรัฐ ลงวันที่ 14 ก.ย. เผยให้เห็นความเปลี่ยนแปลงภายในนิคมนิวเคลียร์ “ยองบยอน” ของเกาหลีเหนือ
รายงานดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลที่ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ ( ไอเออีเอ ) เผยแพร่เมื่อปลายเดือนที่แล้ว เกี่ยวกับ "การพบความเคลื่อนอย่างมีนัยสำคัญ" และต้องจับตาอย่างใกล้ชิด กับเตาปฏิกรณ์ขนาด 5 เมกะวัตต์ ภายในนิคมนิวเคลียร์ยองบยอน ซึ่งไอเออีเอเชื่อว่า สามารถผลิตพลูโตเนียมเกรดอาวุธได้ โดยนับเป็นความเคลื่อนไหวครั้งแรก ตั้งแต่ปี 2561 ทั้งนี้ หนึ่งในจุดสังเกตสำคัญคือการระบายน้ำหล่อเย็น ซึ่งในทางทฤษฎีระบุว่า ชนิดของพลูโตเนียมที่เหมาะสมสำหรับการผลิตระเบิดนิวเคลียร์นั้น ต้องสกัดซ้ำมาจากแท่งเชื้อเพลิงปรมาณูที่ผ่านการใช้งานแล้ว 
อนึ่ง ย้อนกลับไปเมื่อปี 2550 เกาหลีเหนือเคยหยุดการทำงานของเตาปฏิกรณ์ในนิคมยองบยอน เพื่อแลกกับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากสหประชาชาติ ( ยูเอ็น ) และสหรัฐ ตามข้อตกลงร่วมกัน แต่กลับมาเปิดใช้งานอีกครั้งเมื่อปี 2556 อย่างไรก็ตาม  รัฐบาลเปียงยางไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ของไอเออีเอเข้าประเทศตั้งแต่ปี 2552 หมายความว่า ผลการวิเคราะห์และการประเมินสถานการณ์นับจากนั้นเป็นต้นมา อาศัยเพียงภาพถ่ายจากดาวเทียม.

เครดิตภาพ : AP