จากการเดินทางเข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ หรือ UN General Assembly (UNGA) ครั้งที่ 78  ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาของ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลังบนเวทีการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (ยูเอ็นจีเอ) เมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ได้เน้นย้ำเจตนารมณ์ขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน ร่วมมือผลักดันให้บรรลุเป้าหมาย SDGs และต่อเนื่องมาถึงอีกหลายเวทีในประเทศได้แสดงวิสัยทัศน์การขับเคลื่อนเพื่อผลักดันประเทศไทยสู่ความยั่งยืน 

ครั้งนี้ “Sustainable Daily” ได้รับเกียรติจาก “นายกฯเศรษฐา” เปิดโอกาสให้กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เดลินิวส์และเดลินิวส์ออนไลน์สัมภาษณ์พิเศษในประเด็นโลกที่เปลี่ยนแปลง การปรับตัว การเดินหน้าขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน โดย “นายกฯเศรษฐา” เปิดถึงมุมมองเวทีผู้นำทั่วโลกในการแก้ปัญหาโลกเดือด หลังจากร่วมประชุมในเวทีสหประชาชาติที่ผ่านมาว่า สมาชิกกว่า 190 ประเทศ ได้ร่วมพูดคุยถกปัญหา ปีนี้ได้เลือก ประเด็น SDGs การพัฒนาอย่างยั่งยืน เรื่องนี้ทุกประเทศเห็นตรงกันหมด ไม่มีการทะเลาะกันเรื่องนี้  เป็นเรื่องที่น่ายินดี และเพื่อไม่ให้ประมาท เราเป็นประเทศที่มี SDGs อยู่ในลำดับที่ 43 ของโลก เบอร์ 1 ของอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพลังงานสะอาด เรื่องอีวี และอีกหลายอย่างซึ่งกำลังพัฒนาไปในทิศทางที่ดีมาก ๆ

สร้างจุดขายพลังงานสะอาด-จัดการน้ำ

ตรงจุดนี้จะส่งผลต่อหลาย ๆ อย่าง จะเป็นการยกระดับให้ประเทศไทย หลุดพ้นจาก “กับดักรายได้ปานกลาง”  นอกจากการทำการเกษตร อุตสาหกรรมไฮเทคทั้งหลาย หากจะมาตั้งฐานการผลิตที่นี่ เขาเองต้องได้รับพลังงานบริสุทธิ์ ตรงนี้จะเป็นจุดหนึ่งที่จะเป็นจุดขาย จากการเดินทางไปประชุมได้พบปะกับหลายบริษัท ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ว่า เขามีความสนใจ

ส่วนคำถามที่ว่าประเทศที่จะเข้ามาลงทุน มองโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวกับความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพลังงาน เรื่องมาตรฐานความยั่งยืน ESG การปฏิบัติต่อแรงงาน เป็นเรื่องที่เขาให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นบริษัทระดับโลก การจะเข้ามาลงทุนต้องดูว่า เรามีพลังงานสะอาดหรือไม่ สิทธิประโยชน์ด้านภาษีต่าง ๆ หรือในเรื่องความยั่งยืนก็ต้องเกี่ยวข้องกับการศึกษา ซึ่งเรามีวิศวกรจบการศึกษาแต่ละปีไม่น้อย และแน่นอนว่าต้องมีเพิ่มขึ้นอีก ก็เป็นที่บ่งบอกว่าประเทศไทยมีความพร้อม

เดินหน้าปรับหยุดอยู่นิ่งไม่ได้ 

การบริหารจัดการเรื่องน้ำ ไม่ท่วมไม่แล้ง อย่างเช่น การพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก (อีสเทิร์นซีบอร์ด)  ทุกวันนี้ต้องการน้ำเท่าไร เราก็ต้องบริหารจัดการ ต้องสร้างความมั่นใจให้กับผู้ที่จะมาลงทุนมีความมั่นใจ มีน้ำเพียงพอ จะเห็นว่า ในเรื่องความยั่งยืนเราเป็นประเทศต้น ๆ ของอาเซียน แต่เราก็ต้องปรับให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ จะหยุดนิ่งไม่ได้ ต้องร่วมกันขับเคลื่อนกับภาคธุรกิจต่าง ๆ ร่วมมือกันมากขึ้น โดยเรื่อง พลังงานสะอาด  เป็นเรื่องสำคัญ แต่อย่างที่บอกว่าเราต้องเป็นเซลส์แมน หน้าที่ของผมไปประสานต่อและเพิ่มขยาย เพิ่มต่ออีก หลายคนอยากมาลงทุนที่นี่ อย่างครั้งที่ไปที่ประเทศจีน พูดเรื่องรถไฟความเร็วสูงก็น่าจะเป็นรถไฟฟ้าก็จะมาที่นี่ ส่งผลให้เราทำ logistic ส่งไปถึงเมืองจีน ไปยุโรป คาร์บอนจะลดน้อยลง เติบโตควบคู่ไปกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

ดึงบริษัทใหญ่พี่เลี้ยงรายเล็กไปด้วยกัน 

ในเวที Sustainability Expo 2023 (SX 2023) ESG Symposium 2023 นักธุรกิจรุ่นใหม่ ๆ หน่วยงานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย  ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ฯลฯ พวกเขาแอ็กทิฟมาก ต้องให้เกียรติเขาเลย ขณะที่ผมไป
พูดที่เวทีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเน้นเรื่อง SDG ทั้งคุณฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ท่านมีวิสัยทัศน์มองข้ามไปอีก ไม่ใช่แค่บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่ยังต้องรวมไปถึงคู่ค้า ซัพพลาย เชน ทั้งหมดที่ไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ควรต้องนำเรื่องมาตรฐานการพัฒนาด้านความยั่งยืนนำมาใช้ด้วย  ตรงจุดนี้บริษัทใหญ่ ต้องเป็นพี่เลี้ยงให้กับบริษัทเล็ก ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ปรับไป จูงมือไปด้วยกัน

เป็นการ ผสานกับทุกภาคส่วนร่วมขับเคลื่อนไปด้วยกัน นอกจากภาคธุรกิจจะขับเคลื่อนแล้ว ภาครัฐก็ให้ความสำคัญผสานการขับเคลื่อนร่วมไปกับภาคเอกชน ปัจจุบันเอกชนก็ไม่ได้เดินเดี่ยว เราจะจับมือไปด้วยกัน ไปทีละเรื่อง  การเดินทางไปต่างประเทศจึงมีหน่วยงานรัฐไปด้วย อย่าง สำนักงานส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ หน่วยงานที่มีความสำคัญ กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  กระทรวงคมนาคม  เดินทางร่วมกันเป็น “ทีมประเทศไทย”   

ชูปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง “สมดุล ยั่งยืน”

ที่สำคัญของความยั่งยืน คือ โครงการพระราชดำริเป็นแบบอย่าง การใช้น้ำ การปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ซึ่ง “น้ำ” เป็นเรื่องสำคัญ การเกษตร บางทีฝนตกมากไปก็ท่วม ไม่มีน้ำหน้าแล้งก็แล้ง หากบริหารจัดการให้ไม่ท่วมไม่แล้ง เศรษฐกิจไทยจะไปได้อีก และอีกส่วนหนึ่งที่ต้องเริ่มพูดถึงคือ ภาคอุตสาหกรรม เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความขาดแคลน การบริหารจัดการจะต้องเริ่มดำเนินการนับแต่หน้าฝนกักเก็บน้ำให้เพียงพอ นอกจากการวัดคาร์บอนฟุตพรินต์ หรือปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ถูกปล่อยออกมาจากกิจกรรมของมนุษย์  เรื่องวอเตอร์ฟุตพรินต์ หรือเครื่องมือด้านสิ่งแวดล้อมในการประเมินปริมาณการใช้น้ำทั้งทางตรงและทางอ้อมก็ต้องให้ความสำคัญ แต่ประเทศไทยเราค่อนข้างโชคดี มีฝน มีน้ำค่อนข้างเยอะ แต่ก็ต้องพัฒนาต่อไปอีก ให้ความสำคัญมากขึ้น เพราะตอนนี้เรายังเก็บน้ำฝนได้เพียง 1 ใน 3 ของปริมาณฝนที่ตกลงมาเท่านั้น

เปิดเจตนารมณ์ SDG ของรัฐบาล

เราดำเนินงานตามเป้าหมาย SDG ของยูเอ็น โดยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก เนื่องจากเป็นโรดแม็ปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป็นองค์รวม รัฐบาลไทยมีความมุ่งมั่นแก้ไขความท้าทายเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นความยากจนและความเหลื่อมล้ำไปจนถึงความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับภูมิภาคไทย โดยประกาศเจตนารมณ์ดังกล่าวบนเวทีการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (ยูเอ็นจีเอ) ที่ผ่านมา เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย รัฐบาลจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

พร้อมตั้งเป้าหมายพัฒนาไทยให้ขึ้นสู่กลุ่มประเทศรายได้สูง ภายในปี 2613 สนับสนุนเศรษฐกิจไทย สนับสนุนการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน ทั้งให้ความร่วมมือแก้ไขปัญหาสภาพอากาศ รวมถึงการเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น ภายในปี 2573 ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 40% ภายในปี 2583 และรักษาเป้าหมายคาร์บอนเป็นศูนย์ ภายในปี 2593

ทั้งนี้สามารถชมคลิปเพิ่มเติมได้ที่ เดลินิวส์ออนไลน์ www.dailynews.co.th