’ความรักเหมือนโรคา    บันดาลตาให้มืดมน
ไม่ยินและไม่ยล        อุปะสัคคะใด ๆ
ความรักเหมือนโคถึก    กำลังคึกผิขังไว้
ก็โลดจากคอกไป       บ ยอมอยู่ ณ ที่ขัง
ถึงหากจะผูกไว้      ก็ดึงไปด้วยกำลัง
ยิ่งห้ามก็ยิ่งคลั่ง         บ หวนคิดถึงเจ็บกาย”

บทกวีสุดซาบซึ้งข้างต้นที่พรรณาถึง “อานุภาพแห่งความรัก” นี้ มาจากเรื่อง “มัทนะพาธา” หรือ “ตำนานแห่งดอกกุหลาบ” ที่เป็น พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ซึ่งเมื่อพูดถึงเรื่องของ “ความรักและความยั่งยืน” แล้ว ชื่อเมือง “เพชรบุรี” ได้ผุดขึ้นมาในห้วงความคิดของผม เพราะที่นี่มีความหลากหลายทางการท่องเที่ยว อีกทั้งมีเรื่องราวกับสถานที่ให้ค้นหาครอบคลุมในทุกมิติ ที่นักท่องเที่ยวทุกเพศทุกวัยสามารถไปแสวงหาประสบการณ์ใหม่ได้มากมาย และที่สำคัญอยู่ใกล้กรุงเทพฯ แค่นี้เอง

โดยถ้าหากจะพูดถึงเมืองนี้ในด้าน “มิติสิ่งแวดล้อม Environment” แล้ว เพชรบุรี และจังหวัดรอบข้างก็มีวนอุทยานและป่าสงวนที่สมบูรณ์ทั้งภูเขา ถํ้า อ่างเก็บนํ้า พื้นที่ชุ่มนํ้า ลุ่มแม่นํ้า ป่าชายเลน และอุทยานทางทะเล เช่น แก่งกระจาน ที่เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ, ชุมชนคนไม่เอาถ่านบ้านถํ้าเสือ หรือบางตะบูน บ้านแหลม ที่ออกทะเลเพื่อไปดูโลมาและวาฬบรูด้าได้ นอกจากนั้นยังมีป่าชายเลนแหลมผักเบี้ย ที่สามารถเรียนรู้เรื่องของการบำบัดนํ้าเสียตามธรรมชาติก่อนปล่อยลงสู่ทะเล หรือจะสำรวจแหล่งท่องเที่ยว unseen ที่ถํ้าโบ้ the adventure ซึ่งอยู่ในพื้นที่ อ.เขาย้อย หรือจะตามรอยวรรณคดีสังข์ทองที่วนอุทยานเขานางพันธุรัต และชายหาดชะอำ ที่เป็น sandbox ของ wellness ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเชิงนิเวศอย่างยั่งยืน โดยสถานที่เหล่านี้ทุกคนสามารถค้นหาได้ตามความสนใจของแต่ละคน

ขณะที่ “มิติทางสังคม Social” นั้น เพชรบุรีถือเป็นแหล่งอารยธรรมโบราณ ตั้งแต่สมัยทวารวดี ที่ยังมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่บ้านโคกเศรษฐีให้สำรวจค้นหา โดยที่นี่เคยเป็นเมืองการค้าทางทะเลในสมัยโบราณ เป็นประตูเพื่อส่งออกและนำเข้าสินค้าจากนานาชาติ ที่มีช่างฝีมือซึ่งสร้างงานด้านศิลปวัฒนธรรมมาหลายชั่วคน ถึงแม้ศิลปินบางตระกูลจะถูกกวาดต้อนไปมัณฑะเลย์ในช่วงเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 แต่ก็ยังคงมีหลักฐานมากมายปรากฏอยู่ และอีกเรื่องที่กำลังโด่งดังของเพชรบุรี คือด้านอาหาร โดยได้รับการยกย่องจาก UNESCO ให้เพชรบุรีเป็นเมืองแห่งความหลากหลายของอาหารพื้นถิ่น หรือ Gastronomy ด้วยความที่อาหารของที่นี่นั้น มีรสชาติที่โดดเด่นและกลมกล่อม ทั้ง 3 รสชาติ ได้แก่ 1.รสเค็มตามธรรมชาติจากเกลือสมุทรของนาเกลือโบราณ 2.รสหวานละมุนของนํ้าตาลโตนดจากต้นตาลพื้นถิ่น 3.รสเปรี้ยวจี๊ดที่ไม่เหมือนใครจากมะนาวท่ายาง ส่งผลให้เมนูอาหารพื้นถิ่นของชาวเพชรบุรีมีความหลากหลายทั้งคาวทั้งหวาน ที่มีตั้งแต่สูตรชาวบ้านจนถึงตำรับชาววัง

ส่วน “มิติการบริหารจัดการและการปกครอง Governance” เพชรบุรีแห่งนี้นับเป็นเมือง 3 วัง 3 รัชกาล ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลง ทั้งด้านการปกครองและการพัฒนา โดยพระราชวังทั้ง 3 ประกอบด้วย 1.พระนครคีรี หรือเขาวัง ซึ่งเป็นพระราชวังฤดูร้อนของ ร.4 ที่ตั้งโดดเด่นบนยอดเขา และสามารถมองเห็นภูมิทัศน์ได้ทั่วเมือง อีกทั้งมีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบผสมผสาน ระหว่างไทย จีน และตะวันตก โดยพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นแม่กองที่ควบคุมการก่อสร้าง 2.พระรามราชนิเวศน์ หรือชื่อเรียกอีกอย่างว่าพระราชวังบ้านปืนเป็นพระราชวังของ ร.5 อยู่ติดแม่นํ้าเพชรบุรี ที่เลื่องชื่อว่ามีนํ้าในแม่นํ้าที่ใสสะอาดมาก ทั้งมีแร่ธาตุและรสชาติที่อร่อยเหมาะแก่การดื่ม ซึ่งพระราชวังหลังนี้ออกแบบโดยสถาปนิกชาวเยอรมัน ชื่อ Karl Siegfried Dohring ผู้ฝากฝีมือการออกแบบวังบางขุนพรหมกับวังวรดิศอีกด้วย

3.พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน พระราชวังของ ร.6 ตั้งอยู่ริมชายหาดชะอำ ซึ่งถูกเรียกขานว่าเป็น ’พระราชวังแห่งความรักและความหวัง“ โดยเป็นการผสมผสานออกแบบตามหลักสถาปัตยกรรมไทยและสถาปัตยกรรมตะวันตก จากฝีมือของสถาปนิกชาวอิตาลี ที่ชื่อ Ercole Manfredi ซึ่งออกแบบให้พระราชวังนี้กลมกลืนกับธรรมชาติ โดยไม่ต้องตกแต่งมากนัก ขณะที่บริเวณด้านหน้าชายหาดได้เลือกใช้พืชพรรณท้องถิ่นที่ขึ้นตามธรรมชาติ ส่วนพื้นที่ด้านหลังก็ให้คงรักษาป่าและต้นใม้ใหญ่ไว้ให้ระบบนิเวศสมบูรณ์แบบดั้งเดิมที่เป็นการออกแบบที่ให้ความเคารพต่อพื้นที่อย่างยั่งยืน และที่สำคัญที่นี่ยังมี “โรงไม้แห่งพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน” ที่ได้รับ รางวัล New Design in Heritage Context with Special Recognition for Sustainable Development อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันพระราชนิเวศน์มฤคทายวันก็มีอายุกว่า 100 ปีแล้ว ซึ่งการที่อาคารไม้ที่อยู่ริมทะเลยืนตระหง่านท่ามกลางแดด สายฝน ความชื้นของลมทะเลเช่นนี้ จึงย่อมทรุดโทรมตามเวลา โดย คุณเกล้ามาศ ยิบอินซอย ผู้อำนวยการสำนักงานมูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวันในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาสิริโสภาพัณณวดี เล่าให้ผมฟังว่า ปัจจุบันพระราชวังแห่งนี้ กำลังอยู่ในระหว่างการบูรณะ ทั้งในส่วนของสถาปัตยกรรมและระบบนิเวศตามธรรมชาติ เพื่อพัฒนาให้เป็น พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และจะกลับมาเปิดเป็นปกติตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2567

แต่ก่อนหน้านั้นจะมีการเปิดเป็นกรณีพิเศษในช่วงฤดูหนาว ระหว่างวันที่ 24-26 กุมภาพันธ์ 2567 เพื่อให้นักท่องเที่ยวและประชาชนได้มีโอกาสเยี่ยมชมกระบวนการอนุรักษ์ และ ในวาระพิเศษครบรอบ 100 ปี บทพระราชนิพนธ์ “มัทนะพาธา” ในเดือนพฤศจิกายน 2566 นี้ มูลนิธิฯ จึงขอเชิญชวนประชาชนและนักท่องเที่ยวเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และบูรณะพระราชวังดังกล่าว ผ่านการเข้าร่วม กิจกรรมการอ่านบทพระราชนิพนธ์เรื่องมัทนะพาธา ซึ่งจะเป็นการอ่านบทพระราชนิพนธ์ ประกอบการแสดงของศิลปินรับเชิญและดนตรีไทยร่วมสมัย เพื่อพาผู้ชมย้อนอดีตกลับไป 100 ปีก่อน โดยในการแสดงครั้งนี้ ผู้เข้าชมจะได้เคลิบเคลิ้มกับสุนทรียภาพของบทพระราชนิพนธ์ภายใต้บรรยากาศสวนกุหลาบของพระราชวังริมทะเล โดยการแสดงดังกล่าวกำกับการแสดง โดย “ครูเล็ก-ภัทราวดี มีชูธน” ศิลปินแห่งชาติ ส่วนวันจัดแสดงนั้นจะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 25-26 พฤศจิกายน 2566 ณ สวนมัทนะพาธา พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน

ซึ่งกิจกรรมนี้ถือเป็นกิจกรรมเริ่มต้นของการระดมทุนเพื่อการอนุรักษ์และบูรณะพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน จึงอยากขอเชิญชวนผู้ที่มีความรักที่ยั่งยืน และผู้ที่สนใจร่วมรักษาสืบทอดมรดกของชาติ ร่วมสมัครเป็นสมาชิกและร่วมกิจกรรมดังกล่าว โดยรายละเอียดเพิ่มเติมติดตามได้ทาง “เฟซบุ๊กพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน” หรือสอบถามข้อมูลต่าง ๆ ได้ที่ โทร. 0-3250-8444.