นายภิญโญ ตรีเพชราภรณ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายกำกับและตรวจสอบความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในอีก 2 สัปดาห์ หรือภายในเดือน พ.ย. นี้ ธปท. จะมีการออกแก้ไขประกาศ เรื่องหลักเกณฑ์การกำกับดูแลความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของสถาบันการเงินและสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยได้ระบุถึงบทลงโทษหากระบบขัดข้องนานเกินที่กำหนด

ซึ่งได้กำหนดว่าระบบโมบายแบงก์กิ้งของธนาคารจะขัดข้อง หรือล่มได้ไม่เกิน 8 ชั่วโมงภายใน 1 ปี คือการล่มต้องหยุดชะงัก แต่ถ้าหากล่มนานเกิน 8 ชั่วโมงต่อปี จะมีบทลงโทษตามระดับความรุนแรงเริ่มจากตักเตือน สั่งให้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไข จนโทษสูงสุดคือโทษปรับสูงสุด 500,000 บาทต่อครั้ง และหากไม่ดำเนินการแก้ไข จะปรับเพิ่ม 5,000 บาทต่อวัน

“สถิติระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของธนาคารพาณิชย์ขัดข้อง เมื่อตรวจดูจากข้อมูลพบว่าธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่ง มีอัตราการขัดข้อง หรือระบบโมบายแบงก์ล่มลดน้อยลงเป็นจำนวนมาก ซึ่งเชื่อว่าการปรับปรุงประกาศการกำกับความเสี่ยงด้านไอทีนั้น จะช่วยให้ธนาคารเร่งพัฒนาระบบและการขัดข้องของโมบายแบงก์กิ้งลดน้อยลงกว่าเดิม”

รายงานข่าวจาก ธปท. กล่าวว่า สถิติเทคโนโลยีสารสนเทศของธนาคารพาณิชย์ขัดข้อง ข้อมูลไตรมาส 3 ปี 66 ที่เพิ่งออกมาล่าสุด หากดูโมบายแบงก์กิ้งขัดข้องรวมกันมี 4 ครั้ง ระยะเวลารวม 4 ชั่วโมง น้อยกว่าไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไตรมาสก่อนหน้าที่มีการขัดข้องของโมบายแบงก์กิ้ง 6 ครั้ง รวมกันนานถึง 11 ชั่วโมง โดยไตรมาส 3 มีธนาคารโมบายแบงก์กิ้งขัดข้อง ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ 2 ครั้งนาน 1 ชั่วโมง ธนาคารทหารไทยธนชาต 1 ครั้ง นาน 1 ชั่วโมง และธนาคารกรุงเทพ 1 ครั้ง นานน้อยกว่า 1 ชั่วโมง

ขณะที่เมื่อเทียบไตรมาส 2 ก่อนหน้านั้น มีระบบโมบายแบงก์กิ้งธนาคารพาณิชย์ขัดข้อง รวมกัน 5 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ขัดข้อง 2 ครั้ง แต่ล่มนานถึง 5 ชั่วโมง ธนาคารกรุงไทย 1 ครั้ง นาน 1 ชั่วโมง ธนาคารกรุงศรีอยุธยา 1 ครั้ง ล่มนาน 2 ชั่วโมง ธนาคารกสิกรไทย 1 ครั้ง ล่มนาน 2 ชั่วโมง และธนาคารทหารไทยธนชาต ล่ม 1 ครั้ง นานน้อยกว่า 1 ชั่วโมง

ส่วนระบบธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ในไตรมาส 3 ปี 66 มีเพียงสาขาของธนาคารเกียรตินาคินภัทรเท่านั้น ที่ขัดข้อง 1 ครั้ง นาน 2 ชั่วโมง นอกเหนือจากนั้นทั้งอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้งและตู้เอทีเอ็ม ไม่มีการขัดข้องเลยแม้แต่ครั้งเดียว