การแข่งขันเอเชียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 4 หรือกีฬาเอเชียนเกมส์ ของนักกีฬาคนพิการ ที่เมืองหางโจว ประเทศจีน ได้ปิดฉากลงแล้ว เมื่อวันที่ 28 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยพิธีปิดถูกจัดขึ้นที่ หางโจว โอลิมปิก สปอร์ตส์ เซ็นเตอร์ สเตเดี้ยม เริ่มเวลา 18.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ที่เร็วกว่าเมืองไทย 1 ชั่วโมง ใช้เวลาทั้งหมดราว 55 นาที 

ในพิธิปิด เจ้าภาพได้สื่อถึง ความสนิทสนม และการแสดงความรัก ที่จีนมีต่อเพื่อนๆ ชาวเอเชีย พร้อมทั้งส่งต่อบทกวี ซึ่งเป็นธรรมเนียมของจีนโบราณที่จะมอบให้เป็นของขวัญ เมื่อเพื่อนๆ ต้องแยกทางกัน เพื่อแสดงความรัก ความปรารถนา และความเศร้าโศก ท่ามกลางอารมณ์ความรู้สึกอันหลากหลาย ซึ่งมันจะเต็มไปด้วยความโรแมนติกแบบจีน ท่ามกลางการแสดงในชื่อชุด ที ฟอร์ แฟร์เวลล์ (Tea for Farewell

นอกจากนี้ตลอดพิธี เครื่องดนตรีจีนโบราณ ได้แก่ ตี้ (ขลุ่ยจีน), เซียว (ขลุ่ยไม้ไผ่ที่เล่นในแนวตั้ง) และกู่ฉิน (เครื่องดนตรีเจ็ดสาย) ถูกนำมาแสดงอย่างโดดเด่น และผู้ชมได้เพลิดเพลินไปพร้อมกับดนตรีออเคสตร้า เป็นการผสมผสานระหว่างดนตรีจีนและดนตรีสากล ทั้งแบบดั้งเดิมและสมัยใหม่ พร้อมด้วยเสน่ห์อันโดดเด่นของเจียงหนาน

โดยตลอดการแข่งขันเอเชียนพาราเกมส์ ได้ยึดถือปรัชญาของการไม่แบ่งแยกมาโดยตลอด และนั่นยังคงเป็นเช่นนั้น ซึ่งในระหว่างพิธีปิด ได้มีผู้พิการทั้งหมด 213 คน เข้าร่วมแสดง อย่างไรก็ตาม พิธีปิดจะไม่เหมือนพิธีเปิด ที่ใช้เทคโนโลยีสุดล้ำมากมาย โดยเมื่อเปลวไฟหรี่ลง มีเจ้าหน้าที่บรรยายสำหรับผู้พิการทางสายตาได้ฟัง ขณะที่พวกเขานั่งอยู่บนบันไดรอบกระถางคบเพลิง เป็นอันจบพิธี ซึ่งครั้งต่อไป เอเชียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 5 เมืองนาโกยา ประเทศญี่ปุ่น เป็นเจ้าภาพจัดปี 2026

“ฟิว” ทุบสถิติส่งท้ายเอเชียนพารา

ด้านการแข่งชันเอเชียนพาราเกมส์ครั้งที่ 4 วันสุดท้าย เมื่อ 28 ต.ค. ที่ผ่านมา ก่อนถึงพิธีปิดเป็นทางการ ทัพนักกีฬาพาราไทยยังยอดเยี่ยม โดยกรีฑา ที่สนามหวงหลง สปอร์ต เซ็นเตอร์ สเตเดี้ยม ทเมืองหางโจว ไฮไลต์ทัพไทยอยู่ที่ วีลแชร์ 400 ม. ชาย คลาส T54 รอบชิงชนะเลิศ ซึ่งทีมชาติไทยส่ง “ฟิว” อธิวัฒน์ แพงเหนือ เจ้าของเหรียญทองวีลแชร์ 100 ม. ชาย ในการแข่งขันครั้งนี้ และเจ้าของเหรียญเงิน วีลแชร์ 400 ม. ชาย  ในศึกเวิลด์ พารา แอธเลติก แชมเปี้ยนชิพ 2023 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส, “เจ” ภูธเรศ คงรักษ์ เจ้าของ 2 เหรียญเงิน 1,500 ม. และ 5,000 ม. ในการแข่งขันครั้งนี้ และ พิพัฒน์พงศ์ เสียงล้ำ ลงล่าเหรียญรางวัล

ปรากฏว่า “ฟิว” อธิวัฒน์ ควบวีลแชร์คู่ใจพุ่งทะยานฉีกออกนำและเข้าเส้นชัยเป็นคนแรก ทำเวลา 44.62 วินาที คว้าเหรียญทองมาครองและเป็นเหรียญทองที่ 2 ของตัวเองในการแข่งขันครั้งนี้ พร้อมทุบสถิติการแข่งขันเอเชียนพาราเกมส์ลงได้อย่างราบคาบ ทำลายสถิติเดิม 46.82 วินาที ของ เฉิง หมิง ลู จากจีนลงได้ ส่วนเหรียญเงินตกเป็น หยาง ฮู จากจีน ทำเวลาได้ 45.05 วินาที และ หยุน เชียง ไต้ จากจีน ทำเวลาได้ 45.71 วินาที ส่วน ภูธเรศ คงรักษ์ เข้าอันดับ 4 ทำเวลาได้ 46.54 วินาที ถือว่าเป็นสถิติที่ดีที่สุดของเจ้าตัวในปีนี้ และ พิพัฒน์พงศ์ เสียงล้ำ เข้าอันดับ 6 ทำเวลาได้ 48.06 วินาที  

หลังจากคว้าเหรียญทอง  “ฟิว” อธิวัฒน์ แพงเหนือ เปิดใจว่า “ดีใจมากๆ ครับ ที่สามารถคว้าเหรียญทองเหรียญสุดท้ายของทัพวีลแชร์เรซซิ่งมาฝากคนไทยได้สำเร็จ”

ขณะที่วิ่ง 400 ม. ชาย คลาส T12 รอบชิงชนะเลิศมี กฤษณพงษ์ ทิสุวรรณ วิ่งเข้าเส้นชัยเป็นอันดับ 3 ทำเวลาได้ 50.49 วินาที และเป็นสถิติที่ดีที่สุดของตัวเอง คว้าเหรียญทองแดง มาครองได้สำเร็จ ส่วนเหรียญทองเป็นของ เมอห์ดัด โมราดี จากอิหร่าน ทำเวลาได้ 50.17 วินาที และ คานห์ มินห์ เหงียน พัว จากเวียดนาม ทำเวลาได้ 50.49 วินาที คว้าเหรียญเงิน

สรุปผลงานกรีฑาทีมชาติไทยในศึกเอเชียนพาราเกมส์ครั้งที่ 4 คว้ามาได้ 10 เหรียญทอง จาก จักริน ดำมุนี 100 ม. ชาย (T13), ชัยวัฒน์ รัตนะ 100 ม. ชาย (T34), อธิวัฒน์ แพงเหนือ 100 ม. ชาย (T54), จักริน ดำมุนี 400 ม. ชาย (T13), พงศกร แปยอ 400 ม. ชาย (T53), อธิวัฒน์ แพงเหนือ 400 ม. ชาย (T54), พงศกร แปยอ 800 ม. ชาย (T53), ประวัติ วะโฮรัมย์ 1,500 ม. ชาย (T54), ประวัติ วะโฮรัมย์ 5,000 ม. ชาย (T54), ศศิราวรรณ อินทะโชติ  200 ม. หญิง (T47),

8 เหรียญเงินจาก พงศกร แปยอ 100 ม. ชาย (T53), พิชญา คูรัตนศิริ 200 ม. (T52), อภิสิทธิ์ ทาพรม 400 ม. ชาย (T37), มะสบือรี อาแซ  800 ม. ชาย (T53), สายชล คนเจน 800 ม. ชาย (T54), ภูธเรศ คงรักษ์ 1,500 ม. ชาย (T54), ภูธเรศ คงรักษ์ 5,000 ม. ชาย (T54), อรวรรณ ไกร์สิงห์ 400 ม. หญิง (T20)    

10 เหรียญทองแดง จาก พิเชษฐ์ กรุงเกตุ 100 ม. ชาย (T53), พลาธิป คำทา 100 ม. ชาย (T63), กฤษณพงษ์ ทิสุวรรณ 400 ม. (T12), จะฟะ แซ่เปล่า 400 ม. ชาย (T64), ประวัติ วะโฮรัมย์ 800 ม. ชาย (T54), บุญกอง เสน่ห์พูด ทุ่มน้ำหนัก ชาย (F20), สุนีย์ภรณ์ ถนอมวงศ์ 100 ม.หญิง (T11), อรวรรณ ฉิมแป้น 100 ม. หญิง (T37), ศศิราวรรณ อินทะโชติ  100 ม. หญิง (T47), อรวรรณ ฉิมแป้น 200 ม.หญิง (T37)

“รุ่ง-หนึ่ง” ดับจีนคว้าทองลูกเด้ง

เทเบิลเทนนิส ที่สนาม โรงยิมเนเซียมศูนย์กีฬากงซู ในประเภทคู่ผสม คลาส XD14 รอบชิงชนะเลิศ “รุ่ง” รุ่งโรจน์ ไทยนิยม เจ้าของ 2 เหรียญทองในการแข่งขันครั้งนี้ จับคู่กับ “หนึ่ง” กัลยา ชัยวุฒิ ที่คว้าไป 2 เหรียญก่อนหน้านี้ สู้กับ รุย หวังกับ เชา ยาน 2 นักกีฬาจากจีนได้อย่างสนุกคู่คี่สูสี ผลัดกันแพ้กันชนะ จนมาเสมอ 2-2 เกมต้องตัดสินกันในเกมสุดท้าย ก่อนเป็น  รุ่งโรจน์ กับ กัลยา ที่ผนึกกำลังหวดเอาชนะไปได้ ได้ 3-2 เกม 11-6, 10-12, 11-6, 7-11 และ 11-7 คว้าเหรียญทองมาครองได้สำเร็จ ส่วนเหรียญทองแดงตกเป็นของ พิสิษฐ์ หวังผลพัฒนศิริ/กนกพร ประทุมชัย จากไทย และคู่เจ้าภาพจีน

โดยนับเป็นเหรียญทองที่ 3 ของ รุ่งโรจน์ ที่ก่อนหน้านี้ได้มาจาก เดี่ยวและคู่ ส่วน กัลยา ก็เป็นเหรียญที่ 3 ของการแข่งขันครั้งนี้ แต่เป็นเหรียญทองแรก ก่อนหน้านี้ทำได้ 1 เงินจากหญิงคู่ และ 1 ทองแดงจากหญิงเดี่ยว 

ด้านประเภทคู่ผสม คลาส XD4 รอบชิงชนะเลิศ ถิรายุ เชื้อวงษ์ จับคู่กับ ชิลชิตพยัค บุตรวรรณสิริณา ต้านความแข็งแกร่งไม่ไหว พ่ายคู่ของ จิน โชล พาร์ค กับ ซู ยอน เซโอ ไปขาดลอย 0-3 เกม 3-11, 9-11 และ 7-11 ทำให้คู่ผสมทีมชาติไทยได้เหรียญเงิน ส่วนเหรียญทองแดงตกเป็นของจีนทั้ง 2 คู่, ประเภทคู่ผสม คลาส XD7 วันชัย ชัยวุฒิ ที่คว้ามาแล้ว 2 เหรียญทอง ในการแข่งขันครั้งนี้ จับคู่กับ วิจิตรา ใจอ่อน ที่คว้ามา 2 ทองแดงก่อนหน้านี้ พ่าย ปัน เฟง เฟง กับ หยิง ชู คู่หูจากจีน ไปอย่างสนุก 2-3 เกม 6-11, 11-9, 11-9, 9-11, 12-10 ได้เหรียญเงิน  ส่วนเหรียญทองแดงเป็นของเกาหลีใต้ ทั้ง 2 คู่ และประเภทหญิงคู่ คลาส WD14 “หนึ่ง” กัลยา ชัยวุฒิ จับคู่กับ กนกพร ประทุมชัย พ่าย เวน ยวน ฮวาง กับ ยู ฉาง จิน จากจีนไป 0-3 เกม 10-12, 10-12, 3-11 ได้เหรียญเงินปลอบใจ ส่วนทองแดงเป็นของทีมชาติฮ่องกงและทีมชาติเกาหลีใต้

แข้งตาบอดไทยสร้างประวัติศาสตร์

ฟุตบอลคนตาบอด รอบชิงเหรียญทองแดง ที่ ก่งซู่ คาแนล สปอร์ตส์ พาร์ก สเตเดี้ยม เมืองหางโจว ทีมชาติไทย โคจรมาเจอกับคู่กัด ญี่ปุ่น อีกครั้ง หลังในรอบแรกเจ๊ากันมา 1-1 ซึ่งเกมนี้ เจอร์มัน อัลแบร์โต มาร์เกวซ กุนซือชาวอาร์เจนตินาของไทย จัดชุดที่ดีที่สุดลงสนาม 5 คนแรกนำทัพโดย “เต๋า” ปัญญาวุฒิ คุพันธ์ กัปตันทีม, พรชัย กสิกรอุดาลไพศาล (GK), ประครอง บัวใหญ่, กิตติกร บัวดี และ สมชาย มากอง ส่วน ญี่ปุ่น มี มาซากิ โกโตะ และ ไทชิ ฮิราบายาชิ เป็นตัวชูโรง 

เปิดฉากมาทั้งสองทีมเปิดฉากแลกกันอย่างคู่คี่สูสี แต่ครบ 30 นาที ไม่สามารถทำประตูกันได้ จบเกมเสมอกันไป 0-0 ต้องตัดสินทีมชนะด้วยการดวลจุดโทษฝ่ายละ 3 คน และคนแรกของญี่ปุ่น ยูซึกิ โซโนเบะ ซัดหลุดกรอบ แต่ ปัญญาวุฒิ ครุพันธ์ ก็ยิงไปติดเซฟ ซูมิ เคนยา สกอร์ 0-0

จากนั้น ไทชิ ฮิราบายาชิ คนที่สองของซามูไรซัดไปซ้าย แต่ พรชัย กสิกรอุดาลไพศาล เซฟเอาไว้ และ รณรส ภูนา ยิงไปตรงตัวนายทวารญี่ปุ่น สกอร์ยัง 0-0 แล้ว ญี่ปุ่นส่ง คาวามูระ โร ห้องเครื่องตัวเก่งลงเป็นคนที่สาม และยิงหลุดกรอบไปไกล ขณะที่ ประคอง บัวใหญ่ กัปตันทีมไทย บรรจงซัดผ่านมือ ซูมิ เคนยา บอลพุ่งเสียบคานเข้าไปตุงตาข่าย เป็นประตูชัยให้ ทีมชาติไทยเอาชนะญี่ปุ่นในการดวลจุดโทษไปอย่างหวุดหงิด และเป็นการย้ำแค้นให้แข้งซามูไรอีกครั้ง หลังจากที่เอาชนะจุดโทษและเขี่ยญี่ปุ่นตกรอบรองชนะเลิศฟุตบอลตาบอลชิงแชมป์เอเชีย ที่อินเดีย เมื่อปี 2022 

นอกจากนั้น ทีมฟุตบอลตาบอดไทยยังครองเหรียญทองแดงสำเร็จได้เป็นครั้งแรก จึงนับเป็นเหรียญประวัติศาสตร์ของทัพฟุตบอลคนตาบอดไทยในศึกเอเชียนพาราเกมส์ ซึ่งหลังจบเกม “เต๋า” ปัญญาวุฒิ คุพันธ์ กัปตันทีม กล่าวว่า “ในวันนี้ทุกคนร่วมแรงร่วมใจอย่างเต็มที่เพื่อคว้าเหรียญรางวัลมาครองให้ได้ และก็ทำได้สำเร็จ ต้องขอบคุณโค้ช, สมาคม และเพื่อนร่วมทีมทุกคนที่ช่วยกันอย่างเต็มที่ อยากจะมอบเหรียญรางวัลที่ทำได้ครั้งนี้ ให้กับแฟนบอลทุกคน”

ด้าน ประจักษ์ ฤทธิ์นุช ผู้ฝึกสอนทีมชาติไทย เผยว่า เหรียญทองแดงเหรียญนี้ เป็นเหรียญประวัติศาสตร์ของนักกีฬาคนตาบอดทีมชาติไทย หลังจากลงแข่งมา 2 ครั้งก่อนหน้านี้ แต่ไม่เคยได้รับเหรียญติดมือเลย แต่ครั้งนี้ทำได้สำเร็จ ขอขอบคุณแฟนบอลชาวไทยทุกคน ที่ร่วมชมร่วมเชียร์นักกีฬาฟุตบอลคนตาบอดทุกช่องทาง

ทัพพาราไทยรั้งอันดับ 7

บทสรุปวันสุดท้ายของการชิงชัย ทัพนักกีฬาไทย เก็บเพิ่มอีก 2 เหรียญทองจาก วีลแชร์เรซซิ่ง 400 ม. และเทเบิลเทนนิส คู่ผสม ปิดฉากผลงานที่ 27 เหรียญทอง 26 เหรียญเงิน 55 เหรียญทองแดง รั้งอันดับ 7 ของตาราง โดยนักกีฬาได้รับเงินรางวัลจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ เป็นรายบุคคล เหรียญทองคนละ 1 ล้านบาท เหรียญเงิน 5 แสนบาท และทองแดง 2.5 แสนบาท

ส่วนจีน เจ้าภาพ ครองเจ้าเหรียญทองเป็นสมัยที่ 4 ติดต่อกัน โดยวันสุดท้ายโกยไปอีก 18 เหรียญทอง ทะลุไปถึง 217 เหรียญทอง 167 เหรียญเงิน และ 140 เหรียญทองแดง 

อันดับ 2 อิหร่าน 44 ทอง 46 เงิน 41 ทองแดง อันดับ 3 ญี่ปุ่น 42 ทอง 49 เงิน 59 ทองแดง อันดับ 4 เกาหลีใต้ 30 ทอง 33 เงิน 40 ทองแดง อันดับ 5 อินเดีย 29 ทอง 31 เงิน 51 ทองแดง ส่วนอันดับ 6 อินโดนีเซีย เจ้าอาเซียน ที่แซงไทยขึ้นมาวันสุดท้าย โดยมี 29 ทอง 30 เงิน 36 ทองแดง

“บิ๊กต่อย” พอใจผลงาน

ด้าน “บิ๊กต่อย” ร.ท.ณัยณพ ภิรมย์ภักดี ประธานคณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในเอเชียนพาราเกมส์ ครั้งนี้ ไทยเราได้เหรียญทองมากกว่าครั้งก่อน ที่ทำได้ 23 เหรียญทอง ถือเป็นอะไรที่ดีมาก แสดงให้เห็นว่า ศักยภาพของทีมพาราไทย พัฒนาขึ้นกว่าครั้งที่แล้ว ต้องขอบคุณนักกีฬา ผู้ฝึกสอน ผู้ติดตามทุกคน ที่ทำผลงานสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในครั้งนี้ ตนมีความสุขที่ได้มีโอกาสมาดู และเยี่ยมนักกีฬา แม้บางชนิดกีฬาอาจไม่ได้มีโอกาสไปเชียร์ แต่ก็ส่งกำลังใจให้ตลอดเวลา 

“ต้องยอมรับว่าบางกีฬา หรือบางเหรียญที่เราอาจพลาดไป ก็เป็นสิ่งที่เราต้องกลับไปดู และศึกษาว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ก็มีหลายอีเวนต์ที่เราเซอร์ไพร้ส์คว้าเหรียญรางวัลมาเช่นกัน แสดงให้เห็นว่า เราได้พัฒนาขึ้นมามาก และเดินมาถูกทาง”