ผู้คนได้หันมาพูดคุยกันเกี่ยวกับเรื่องของSDG ว่า มีรายงานเพียง 12% เท่านั้นที่ทำได้ดีตามเป้าหมาย ส่วนอีก 50% นั้นแม้จะพยายามดำเนินการอยู่ แต่ดูเหมือนจะยังขาดประสิทธิภาพ และยากที่จะบรรลุไปสู่เป้าหมาย ขณะที่อีก 30% มีแนวโน้มที่จะล้มเหลว จากอุปสรรคมากมายที่รั้งเราเอาไว้ เช่น วิกฤติ Covid-19, มหันตภัยภาะโลกเดือด, ความยากจน-ความเหลื่อมล้ำอย่างสุดขั้ว, ภาวะฝืดเคืองของเศรษฐกิจโลก และจากความขัดแย้งของมหาอำนาจโลก จนนำไปสู่สงครามยูเครนและตามมาด้วยสงครามในอิสราเอล ที่อาจบานปลายไปสู่ประเทศอื่น ๆ ด้วยเหตุนี้วิธีการแบบเดิม ๆ คงใช้ไม่ได้แล้ว แต่เป็นยุคที่ต้องรื้อและต้องเร่งลงมือทำกันอย่างจริงจัง

ทั้งนี้ จากเวทีต่าง ๆ ทั่วโลก วาทกรรม “Decade of Action” กลับมาเป็นคำพูดที่ย้ำแล้วย้ำอีกในทุก ๆ เวที โดยในประเทศไทยก็เช่นกัน มีงานสัมมนาและการจัด Forum ด้านความยั่งยืนต่าง ๆ อาทิ  Sustainable,  ESG, BCG, Net Zero และอื่น ๆ มากมายเป็นพิเศษในช่วงที่ผ่านมา และทุกคนต่างก็ใช้คำว่า “ทศวรรษแห่งการลงมือทำ” จนบางครั้งผมก็สงสัยว่าคนที่พูดวาทกรรมสวยหรูเหล่านั้นได้เคยลงมือทำหรือไม่? หรือเข้าใจสิ่งที่พูดมากน้อยแค่ไหน ตลอดจนมีความพยายามที่จะทำสิ่งที่พูดให้เกิดขึ้นจริงหรือเปล่า? แต่อย่างน้อยก็ยังถือเป็นการส่งสัญญานที่ดี

แล้วการรื้อและเร่งควรจะทำอย่างไร? หากเป็นในภาคธุรกิจที่มีความก้าวหน้าในการลงมือทำไปมากแล้วนั้น ก็คงมีคำถามว่าจะทำอย่างไรให้ดียิ่งขึ้นไปได้อีก? โดยแนวทางรื้อและเร่งในที่นี้ก็จะประกอบด้วย ประการแรก ทำเรื่องความยั่งยืนที่มีปัจจัยแวดล้อมเปลี่ยนแปลงรวดเร็วอย่างตลอดเวลา โดยที่ทีมงานความยั่งยืนจะต้อง Reskill-Upskill อยู่เสมอ โดยเปลี่ยนความคิดจากผลงานเพื่อประชาสัมพันธ์ มาเป็นผลงานเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน และสำหรับนักปฏิบัตินั้นการลงมือทำจะช่วยพัฒนาความคิด ซึ่งเมื่อความคิดเปลี่ยนก็จะเกิดนวัตกรรมหรือวิธีการปฏิบัติใหม่ ๆ โดยผมได้ยินคำนี้มาจากนักธุรกิจต่างชาติที่เรียกตัวเองว่ากลุ่ม Moral Capitalism ที่ใช้หลัก “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ในการขับเคลื่อนความยั่งยืน ประการที่สอง ทีมงานความยั่งยืนต้องขยายงานไปในทุกฝ่ายและทุกแผนกขององค์กร เพื่อให้ทุกส่วนที่ขับเคลื่อนความยั่งยืนได้ลงมือทำอย่างมีระบบและเป็นไปทิศทางเดียวกัน ประการที่สาม ต้องขยายผลต่อไปสู่พันธมิตรและคู่ค้าของบริษัทตลอด supply chain เพื่อชวนทุกคนในเครือข่ายให้เกิดการลงมือทำ ประการที่สี่ เชิญชวนบริษัทอื่น ๆ ในธุรกิจเดียวกันให้มาร่วมกันลงมือทำ โดยเปลี่ยนจากคู่แข่งการค้ามาเป็นพันธมิตรร่วมขับเคลื่อน

ส่วนภาควิชาการซึ่งถือว่ามีบทบาทมากในการสร้างความเปลี่ยนแปลง แล้วอาจารย์ทั้งหลายเหล่านี้จะต้องเปลี่ยนแปลงไหม? ซึ่งเรื่องนี้ในเวทีต่าง ๆ ผู้จัดมักจะเชิญนักวิชาการมาร่วมบรรยาย ทำให้ผมได้ยินทฤษฎีหรู ๆ ตัวเลขสถิติต่าง ๆ จากงานวิจัย อีกทั้งมีบทวิเคราะห์และคำแนะนำต่าง ๆ มากมาย แต่เพื่อนนักปฏิบัติที่นั่งฟังอยู่ข้าง ๆ ต่างก็สงสัยกันว่าอาจารย์เหล่านั้นเคยลงมือทำจริง ๆ หรือไม่? ซึ่งถ้าหากเคยลงไปพยายามล้มลุกคลุกคลานแก้ปัญหาจนได้ผลจริงแล้วนำมาบรรยาย ก็จะยิ่งทำให้ดูน่าเชื่อถือมากขึ้น และนี่ก็น่าจะเป็นคำแนะนำที่ดีสำหรับอาจารย์กับนักวิชาการ นอกจากนั้นผมสังเกตเห็นเหล่าอาจารย์และนักวิชาการในเวลานี้ เริ่มเกาะติดลงมือปฏิบัติกันบ้างแล้ว แต่ก็ยังมีจำนวนไม่มากนัก โดยหลาย ๆ ท่านได้เปลี่ยนการวิจัยและการสอนในห้องมาเป็นการทำ active learning ในชุมชน และใช้ชุมชนรอบ ๆ สถานศึกษาเป็น community living lab ซึ่งถ้าหากเมื่อไหร่ที่อาจารย์ส่วนใหญ่รื้อการสอนให้เป็นแบบนี้ ก็จะพูดได้เต็มปากว่าเป็นยุคของ “ทศวรรษแห่งการลงมือทำ” ซึ่งจะช่วยสร้างทักษะ ประสบการณ์ และนิสัยของคนรุ่นใหม่ให้มาลงมือทำร่วมกันอย่างมีพลังได้

ขณะที่ในส่วนของภาครัฐนั้น ผู้นำภาครัฐล้วนพูดกันเป็นเสียงเดียวว่าเรื่องนี้เอกชนนำหน้าไปไกลแล้ว และเวลานี้น่าจะเป็นโอกาสสำคัญที่หน่วยงานรัฐจะต้องปรับตัวเพื่อเติมเต็มสิ่งที่หายไป หลังจากเจ้ากระทรวงต่าง ๆ หัวหน้าหน่วยงานต่าง ๆ มาร่วมงานความยั่งยืนกันมากขึ้น และเริ่มเปิดใจคุยกับผู้มีส่วนได้เสีย แต่ก็ยังคงมองเห็นปัญหาที่สำคัญ นั่นคือ “การขาดเจ้าภาพ” เพื่อสร้างความเชื่อมโยง เพราะตอนนี้ดูเหมือนจะต่างคนต่างทำ ทำให้ไม่มีเจ้าภาพที่จะเป็นผู้นำปัญหาใหญ่ ๆ ไปประสานงานกันระหว่างหน่วยงานราชการจนนำไปสู่การปรับเปลี่ยนนโยบาย หรือออกกฎหมายใหม่ ๆ เพื่อช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งถ้าเพียงข้าราชการจากหน่วยงานต่าง ๆ มาร่วมเวทีกับภาคเอกชนและภาคประชาสังคมบ่อยขึ้น และริเริ่มที่จะก่อตั้งกลไกที่เป็นเจ้าภาพในการทำงานแบบทวิภาคีหรือพหุภาคี ก็เชื่อว่าจะสามารถช่วยขับเคลื่อนเรื่องของความยั่งยืนได้ เพื่อให้เกิดการรื้อและเร่งสู่เป้าหมาย SDG ได้อย่างรวดเร็ว

เพื่อให้เป็น “ทศวรรษแห่งการเข้าใจ-เข้าถึง-พัฒนา” อย่างแท้จริง สำหรับสื่อมวลชนก็มีคำถามว่าจะต้องปรับตัวอย่างไร โดยเวลานี้สื่อมวลชนกำลังเปลี่ยนจากสื่อเพื่อทราบกลายมาเป็นสื่อเพื่อการเปลี่ยนแปลง “Media for Change” หลังจากข่าวแจกที่มีมากขึ้นนั้น มักมีเรื่องราวซ้ำกันจนทำให้ไม่มีใครอยากอ่าน ดังนั้นนักข่าวคงต้องเรียนรู้ทำความเข้าใจว่าความยั่งยืนคืออะไร มีมิติที่ซับซ้อนอย่างไร รวมถึงเปลี่ยนวิธีนำเสนอให้เข้าใจง่าย แตกต่าง สดใหม่ เพื่อให้ผู้บริโภคตระหนักว่าเรื่องนี้คือเรื่องใกล้ตัว ที่ทุกคนต้องช่วยกันลงมือทำ หรือจะนั่งนิ่ง ๆแบบเดิมไม่ได้ ซึ่งผมได้ข่าวมาว่า จอนนี้สื่อมวลชนพยายามที่จะรวมตัวกันเพื่อให้เกิดเป็นเครือข่ายสื่อเพื่อขับเคลื่อนเรื่องของความยั่งยืนขึ้นในเร็ว ๆ นี้ ภายใต้คำถามคือเราจะช่วยกันผลักดันกลไกต่าง ๆ เหล่านี้อย่างไร? เพื่อให้เกิดทศวรรษแห่งการลงมือทำที่แท้จริง.