เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 24 ต.ค. ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 โดยเป็นการประชุดนัดแรก โดยมี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ในฐานะรองประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโกม นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการฯ เข้าร่วมประชุมด้วย เพื่อพิจารณาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค

โดย น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประสบความสำเร็จในการประกาศใช้มาแล้วกว่า 20 ปี และในวันนี้ เราจำเป็นจะต้องยกระดับนโยบายดังกล่าวให้สอดคล้องกับสภาพสังคมและวิถีชีวิตในปัจจุบัน เพื่อให้มั่นใจว่า นโยบายนี้ยังคงเป็นหลักประกันสุขภาพที่ดีที่สุดและเหมาะสมที่สุดสำหรับประชาชนทุกคนในทุกพื้นที่ของประเทศไทย เพราะที่ผ่านมา เราประสบปัญหาประชาชนเข้าถึงสิทธิการรักษา แต่เนื่องจากการกระจายจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ยังไม่เหมาะสม และยังขาดแคลนพยาบาล รวมถึงระบบส่งต่อผู้ป่วยที่ไม่มีการเชื่อมต่อข้อมูลของผู้ป่วย ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการรับบริการและความแออัด ดังนั้น นโยบาย 30 บาท รักษาได้ทุกที่ จะพัฒนาระบบฐานข้อมูลผู้ป่วยให้กลายเป็นระบบดิจิทัลทั้งหมด เพื่อให้สะดวกและรวดเร็วในการสืบค้นข้อมูลและประวัติของคนไข้ ไม่ว่าจะเข้ารับการรักษาที่ใดก็ตาม โดยการยื่นบัตรประชาชนใบเดียวเท่านั้น ผู้ป่วยก็จะสามารถเข้ารับการรักษาได้ทั่วประเทศ ทั้งโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน รวมไปถึงคลินิกและร้านขายยาใกล้บ้าน เพื่อลดภาระของผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ หากเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรงสามารถรักษาและจ่ายยาผ่านระบบออนไลน์ได้ แต่หากเป็นโรคที่ต้องเดินทางไปพบแพทย์ สามารถนัดเวลาล่วงหน้าผ่านระบบออนไลน์ได้เช่นกัน

น.ส.แพทองธาร กล่าวอีกว่า แต่หากต้องใช้ผลเลือด ก็สามารถเจาะเลือดที่คลินิกใกล้บ้านและส่งผลเลือดที่คลินิกใกล้บ้านแล้วนำผลเลือดไปพบแพทย์ในวันถัดไปได้ ฉะนั้นจุดเปลี่ยนที่สำคัญคือการนำเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัยเข้ามาใช้ในการพัฒนาและเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพประชาชนอำนวยความสะดวกให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลไปใช้เพิ่มเติม เพื่อช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพ และลดขั้นตอนการบริการ ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลให้สามารถเข้ารับการบริการได้ทันท่วงที ทั้งนี้ มั่นใจเมื่อยกระดับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเสร็จสมบูรณ์ ประเทศไทยจะมีระบบสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ และเพิ่มขีดความสามารถในการดูแลสุขภาพของประชาชนชาวไทยได้อย่างมั่นคงและยังยืนต่อไปในอนาคต

ด้านนายกฯ กล่าวว่า การขับเคลื่อนนโยบายทั้ง 5 ด้านนี้ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา จึงเห็นควรตั้งคณะกรรมการติดตามการขับเคลื่อนและการดำเนินการให้เป็นไปอย่างบูรณาการและมีประสิทธิภาพ โดยให้ น.ส.แพทองธาร เป็นประธานคณะกรรมการ และมีคณะกรรมการจากทุกภาคส่วนเข้าร่วม เพื่อดำเนินการเป็นรูปธรรมก่อให้เกิดความมั่นคงทางสุขภาพในระยะยาวของประเทศให้คนไทยแข็งแรง ประเทศชาติมั่นคง นำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมการแพทย์ และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป.