เมื่อวันที่ 23 ต.ค. นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ในหัวข้อทางออกของเรือดำน้ำ ประเทศไทยต้องไม่เสียเปรียบ ตอนหนึ่งว่า มหากาพย์เรือดำน้ำ ที่ยังหาทางออกที่เหมาะสมไม่ได้ นั้นเริ่มต้นเมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2558 ในยุค ครม. พล.อ.ประยุทธ์ ที่มีการอนุมัติหลักการให้จัดหาเรือดำน้ำ 2 ลำ ผ่านมากว่า 8 ปี แล้ว ยังหาข้อสรุปที่ชัดเจนไม่ได้ มันก็สะท้อนถึง “ความไม่จำเป็นของเรือดำน้ำ” ในตัวมันเองอยู่แล้ว จนเมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2560 ครม. อนุมัติให้จัดซื้อเรือดำน้ำ Yuan Class S26T จากจีน จำนวน 1 ลำ วงเงิน 13,500 ล้านบาท โดยเป็นงบผูกพัน ตามแผนจะมีการจัดซื้อทั้งหมด 3 ลำ รวม 36,000 ล้านบาท ในเวลา 11 ปี โดยในวันที่ 14 พ.ค. 2560 กองทัพเรือได้ลงนามสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง แบบ G2G โดยในสัญญาระบุว่าเรือดำน้ำที่ไทยสั่งจะใช้เครื่องยนต์ดีเซล MTU 396 จากบริษัท Motor and Turbine Union ของเยอรมนี เป็นตัวเดินเครื่องจ่ายไฟของเรือ โดยเรือดำน้ำลำแรกจะส่งมอบในปี 2566 โดยผู้รับจ้างผลิตเรือดำน้ำ คือ บริษัท China Shipping & Offshore International Co. (CSOC)

จนกระทั่งวันที่ 1 เม.ย. 2565 กองทัพเรือ ได้ออกมายอมรับว่า เรือดำน้ำลำแรกน่าจะไม่สามารถส่งมอบได้ทันในปี 2566 เนื่องจากเยอรมนีไม่สามารถส่งออกอาวุธให้จีนได้ตามคำสั่งที่สหภาพยุโรปได้ประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2532 หลังเกิดเหตุสังหารหมู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน จึงเกิดคำถามว่า ก่อนทำสัญญากองทัพเรือไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลให้เรียบร้อยก่อนหรือว่า สหภาพยุโรปห้ามส่งออกอาวุธให้กับจีน

นายวิโรจน์ ระบุว่า จนวันที่ 13-14 ธ.ค. 2565 จีนจึงเสนอให้ใช้เครื่องยนต์ CHD620 ที่จีนพัฒนาและผลิตเอง ให้กองทัพเรือไทยแทน ถ้าหากกองทัพเรือยอม ไทยจะเป็นประเทศแรกในโลก ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล CHD620 ของจีนในเรือดำน้ำ แม้แต่ประเทศจีนก็ยังไม่ได้ใช้เอง คำถามคือถ้าเกิดปัญหาขึ้นทั้งปัญหาในการใช้งาน และปัญหาจากการบำรุงรักษา จากเครื่องยนต์จีน ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ

โครงการจัดหาเรือดำน้ำ ไม่ใช่แค่ซื้อเรือดำน้ำ 36,000 ล้านแล้วจบ มันต้องมีค่าใช้จ่ายด้านยุทโธปกรณ์อื่นๆ ด้วย โดยมีงบประมาณรวมทั้งสิ้น 47,438 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าเรือดำน้ำ 36,000 ล้านบาท และค่ายุทโธปกรณ์อื่น 11,438 ล้านบาท (เรือยกพลขึ้นบก หรือเรือหลวงช้าง 6,100 ล้านบาท ระบบอำนวยการเรือหลวงช้าง 1,000 ล้านบาท โรงซ่อมบำรุง 995 ล้านบาท ท่าจอดเรือดำน้ำ และอาคารสนับสนุน ระยะที่หนึ่ง 900 ล้านบาท ระยะที่สอง 950 ล้านบาท คลังเก็บตอร์ปิโด และทุ่นระเบิดสนับสนุน 130 ล้านบาท อาคารทดสอบและคลังอาวุธปล่อยนำวิถี 138 ล้านบาท แผนที่เรือดำน้ำ และระบบแสดงข้อมูลข่าวสารกองทางอุทกศาสตร์ระยะที่หนึ่งและสอง 265.12 ล้านบาท เรือลากจูงขนาดกลาง 366.50 ล้านบาท อาคารพักข้าราชการ 294 ล้านบาท ระบบสื่อสารควบคุมบังคับบัญชาเรือดำน้ำ 300 ล้านบาท ซึ่งคงต้องตรวจสอบต่อว่า อะไรที่มีการจัดซื้อจัดจ้างไปแล้วบ้าง เพราะนั่นคือ มูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น

นายวิโรจน์ ระบุต่อว่า สรุป สถานการณ์ในตอนนี้ ก็คือ บริษัท China Shipping & Offshore International Co. (CSOC) ผิดสัญญากับกองทัพเรือ และประเทศไทยได้รับความเสียหาย อย่างน้อยก็ค่าเสียโอกาสจากระยะเวลา 8 ปี ที่สูญเปล่า ผมคิดว่าสิ่งทีสำคัญที่สุดในตอนนี้ คือ การหาทางออกที่ดีที่สุด สำหรับประเทศ ที่สามารถอธิบายกับประชาชนได้ ซึ่งผมคิดว่า การใช้เครื่องยนต์ดีเซล CHD620 ของจีน ไม่ใช่ทางออกที่ควรเลือกแน่ๆ

ทางออกที่ดีที่สุด ก็คือ การขอเงินที่ไทยจ่ายไปแล้ว 7,000 ล้านบาทคืน และอาจจะต้องพิจารณาในรายละเอียดสัญญาในส่วนค่าปรับ เพื่อเจรจาเรียกร้อง “การชดเชยความเสียหาย” ที่สมเหตุสมผลด้วย แต่อย่างไรก็ตาม หากมีความจำเป็นที่จะต้องรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ก็สามารถพิจารณาที่จะงดเว้นค่าปรับตามสัญญา หรือค่าชดเชยความเสียหายได้ แต่ควรต้องแถลงให้ประชาชน ในฐานะเจ้าของเงินภาษีได้รับทราบ (แม้ว่าการทำสัญญา G2G จะได้รับการยกเว้นจาก พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง แต่อย่างไรก็ตาม ก็ควรต้องหาทางออกที่ประเทศไทยได้รับการชดเชย ในฐานะของผู้เสียหาย และถูกละเมิดสัญญาเอาไว้ในลำดับแรกก่อน)

นายวิโรจน์ ระบุต่อไปว่า ทางออกที่ 2 ก็คือ ไม่ขอเงิน 7,000 ล้านบาทคืน แต่ขอแลกเปลี่ยนเป็นสินค้าอย่างอื่น ในมูลค่า 7,000 ล้านบาท แทน เช่น ปุ๋ย แม่ปุ๋ย สารเคมีที่เกี่ยวข้องกับการกำจัดวัชพืช สารกำจัดแมลง หรือสารป้องกันหรือกำจัดโรคพืช เป็นต้น คำถามคือคงต้องตรวจสอบในรายละเอียดสัญญาว่า เงินที่ไทยจ่ายไปแล้ว 7,000 ล้านบาทนั้น จะขอคืนได้หรือไม่ และในรายละเอียดสัญญานั้นสามารถเรียกร้องค่าปรับ หรือค่าชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ อย่างไร

ทางออกที่ 3 ที่พอจะเป็นไปได้ ก็คือ การขอแลกเป็นยุทโธปกรณ์ประเภทอื่น ที่กองทัพเรือมีความจำเป็น เช่น เรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง (เรือ OPV: (Offshore Patrol Vessel) หรือ เรือรบอเนกประสงค์ขนาดใหญ่ หรือเรือฟริเกต ที่สามารถต่อสู้ได้ทั้งทางอากาศผิวน้ำ และใต้น้ำ ก็สามารถทำได้ แต่ต้องเจรจาต่อรอง โดยตระหนักว่า “จีนเป็นผู้ผิดสัญญา และไทยเป็นผู้เสียหาย” ไม่ใช่ว่าเปลี่ยนเป็นเรือฟริเกต แล้วต้องไปเพิ่มเงินอีก1,000-3,500 ล้านบาท โดยอ้างสั้นๆ ว่า เรือฟริเกตราคาลำละ 17,000 ล้านบาท เรือดำน้ำลำละ 13,500 ล้านบาท เราก็ต้องควักกระเป๋าจ่ายเพิ่ม แบบนี้ไม่ยุติธรรม และไม่สมเหตุสมผลเลย

นายวิโรจน์ ระบุต่อไปว่า คำถามคือการเปลี่ยนเป็นเรือฟริเกต หรือเรือ OPV ผมเชื่อว่าเป็นทางออกที่สามารถพิจารณาได้ แต่ควรต้องพิจารณาราคา ความยุ่งยากในการสำรองอะไหล่ในการบำรุงรักษา และเงื่อนไขต่างๆ ที่สมเหตุสมผลร่วมด้วย เช่น การเจรจาให้มาต่อเรือที่ประเทศไทย แทนการซื้อแบบทั้งลำ เพื่อสร้างการจ้างงาน และการพัฒนาซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศในประเทศไทย ซึ่งผมเชื่อว่ากรมอู่ทหารเรือ และอู่ต่อเรือในประเทศไทยมีศักยภาพที่จะต่อเรือฟริเกตได้ (อย่างบริษัท มาร์ซัน เป็นต้น) ซึ่งคงต้องหารือว่าแนวทางนี้มีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงไรที่สำคัญจะต้องพิจารณาถึงยุทธศาสตร์ของทัพเรือที่ระบุเอาไว้ในสมุดปกขาวร่วมด้วยว่า การมีเรือรบหลายแบบ ซึ่งต้องสำรองอะไหล่ในการบำรุงรักษาหลากหลายรุ่น จะขัดกับนโยบาย Compact and modernized navy ของกองทัพเรือหรือไม่

นายวิโรจน์ ระบุต่ออีกว่า ในวันพฤหัสบดีที่ 26 ต.ค. 2566 นี้ เวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุม N402 สภาผู้แทนราษฎร ทางคณะกรรมาธิการการทหาร ได้เชิญผู้แทนจากองทัพเรือมาชี้แจงในประเด็นเรือดำน้ำ เพื่อให้ประชาชน และทุกภาคส่วนได้รับทราบสถานการณ์ที่ถูกต้องตรงกัน และจะพยายามเสนอแนะแนวทางที่ยุติธรรม และเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติให้มากที่สุด ในกรณีที่สื่อมวลชนสนใจ ที่จะร่วมรับฟังการชี้แจงของกองทัพเรือ สามารถประสานเข้ามาที่คณะกรรมาธิการการทหารได้ ที่ กลุ่มงานคณะกรรมาธิการการทหาร สำนักกรรมาธิการ 2 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ถนนสามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพน 10300 โทร. 0-2242-5900 ต่อ 6391 ผมในฐานะประธานกรรมาธิการ ยินดีให้สื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟังการชี้แจง.