ภายหลังจากที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และปัจจุบันเป็นผู้ต้องขังเด็ดขาดชั้นดี อยู่ระหว่างการนอนพักรักษาตัวภายนอกเรือนจำที่อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา รพ.ตำรวจ เนื่องจากป่วยด้วย 4 โรครุมเร้า ได้แก่ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด พังผืดในปอด ความดันโลหิตสูง และกระดูกสันหลังเสื่อม แพทย์และราชทัณฑ์ลงความเห็นว่า ต้องมีการรักษาต่อเนื่องและยังไม่มีแนวโน้มว่าจะย้ายนายทักษิณไปรักษาที่ รพ. อื่นๆ หรือส่งกลับเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งปัจจุบันนายทักษิณอยู่ระหว่างการนอนพักรักษาตัวเกินกว่า 30 วัน และกำลังจะเข้าสู่ 60 วัน ในวันที่ 22 ต.ค. นี้ และหากแพทย์มีความเห็นชอบ จะต้องรายงานผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ก่อนขอความเห็นชอบจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และเสนอขออนุมัติกับปลัดกระทรวงยุติธรรม ตามที่ได้มีการรายงานข่าวไปอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 21 ต.ค. “ผู้สื่อข่าวเดลินิวส์” ได้รับรายงานจากแหล่งข่าวภายในกระทรวงยุติธรรมว่า ตามระเบียบการเข้าโครงการพักการลงโทษนั้น ซึ่งปกติแล้ว กรมราชทัณฑ์จะมีการจัดขึ้นทุกๆ เดือน ทั้งโครงการพักการลงโทษปกติ และโครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษเนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป ซึ่งทางเรือนจำแต่ละแห่งในประเทศไทย จะมีการประเมินตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ต้องขังที่เข้าเกณฑ์ และเสนอพักการลงโทษมายังคณะกรรมการพิจารณาการพักการลงโทษ (ทั้งระดับชั้นเรือนจำและระดับชั้นกรมราชทัณฑ์) ดังนั้น ในกรณีที่จะเข้าโครงการพักการลงโทษได้ ผู้ต้องขังจะต้องมีการรับโทษจำคุกไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือตั้งแต่ 6 เดือน หรืออย่างใดอย่างหนึ่งมากกว่า ส่วนคุณสมบัติเพิ่มเติมสำหรับใช้พิจารณาร่วมด้วย ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ต้องขังที่มีความประพฤติดี มีความอุตสาหะ มีการพัฒนาเรื่องการศึกษาอาชีพ หรือแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าในเรื่องการมีพฤติกรรมที่ดี เป็นต้น ก็จะได้รับการพักการลงโทษ หรือบางรายอาจได้รับการลดโทษ และหากเปรียบเทียบในกรณีของนายทักษิณ ถือเป็นผู้ต้องขังป่วยและมีอายุ 74 ปี อีกทั้งยังได้รับการพระราชทานอภัยลดโทษเหลือเพียง 1 ปี เมื่อคำนวณแล้ว หากนายทักษิณ ผ่านเกณฑ์พิจารณาได้รับการพักการลงโทษ ก็จะอยู่ที่ห้วงเดือน ก.พ. 67 อย่างไรก็ตาม การพักการขอโทษถึงเป็นสิทธิประโยชน์ของผู้ต้องขังซึ่งทุกรายจะรับทราบในเรื่องนี้ตั้งแต่วันที่เข้าสู่กระบวนการแรกรับ เพราะทางเรือนจำจะมีการแจกคู่มือการดำรงชีวิตประจำวันของผู้ต้องขัง ซึ่งเนื้อหาภายในจะมีรายละเอียดเกี่ยวกับสิทธิและประโยชน์ของผู้ต้องขัง ทั้งนี้ หากผู้ต้องขังรายใดเข้าเกณฑ์และมีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนด ได้รับการพิจารณาเข้าโครงการพักการลงโทษ ในเรื่องของเอกสารจะเป็นทางเจ้าหน้าที่กองทัณฑปฏิบัติ กรมราชทัณฑ์ ที่จะดำเนินการจัดเตรียมและตรวจสอบให้เรียบร้อย

แหล่งข่าว ระบุอีกว่า ส่วนเรื่องการปล่อยตัวนายทักษิณ ในกรณีถ้าเจ้าตัวพ้นโทษจากการได้รับพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป (อภัยโทษหมู่) ตามหลักการปกติแล้ว ทางเรือนจำฯ จะสามารถปล่อยตัวผู้ต้องขังได้ก็ต่อเมื่อมีหมายศาล (หมายปล่อย) แต่ถ้าในกรณีที่นายทักษิณอยู่ระหว่างการนอนพักรักษาตัวภายนอกเรือนจำอยู่นั้น เจ้าตัวอาจไม่ต้องเดินทางมาที่เรือนจำ เพราะจะติดขัดในเรื่องของการรักษาตัวกับแพทย์ แต่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะนำเอกสารให้ลงชื่อเซ็นรับทราบหมายปล่อยตัว และเมื่อพ้นโทษทั้งหมด ก็ถือเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ถึงอย่างนั้น จะต้องรอดูแนบท้ายของพระราชกฤษฎีกาในวาระโอกาสวันสำคัญนั้น ๆ ด้วยว่า มีการกำหนดรายละเอียดในส่วนของการอภัยโทษอย่างไรบ้าง เช่น ผู้ต้องขังเด็ดขาดในคดีใดบ้างที่จะได้รับการปล่อยตัวทันที, ได้รับการลดโทษแล้วปล่อยตัว, ได้รับการลดโทษแต่ยังคงต้องจำคุกต่อในเรือนจำ หรือผู้ต้องขังเด็ดขาดในคดีใดไม่อยู่ในข่ายเข้าเกณฑ์ ซึ่งถ้าหากคุณสมบัติหรือลักษณะผู้ต้องขังที่มีการระบุไว้ในพระราชกฤษฎีกาไปตรงกับนายทักษิณ หรือผู้ต้องขังรายออื่น ๆ ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ในส่วนนั้น อย่างไรก็ตาม เรื่องการพระราชทานอภัยโทษ ถือเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ไม่อาจก้าวล่วงได้

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า วันที่ 22 ต.ค. นี้ นายทักษิณ จะเข้าสู่ขั้นตอนการนอนพักรักษาตัวภายนอกเรือนจำฯ เกินกว่า 60 วัน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ทางทีมแพทย์ผู้ทำการรักษาจะต้องนำส่งความเห็น การวินิจฉัยเสนอต่อนายนัสที ทองปลาด ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อ ผบ.เรือนจำฯ ขอความเห็นชอบจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์ จากนั้นอธิบดีกรมราชทัณฑ์จะพิจารณาความเห็นดังกล่าวของแพทย์ และนำเสนอไปยังปลัดกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นไปตามลำดับชั้น เพื่อให้รับทราบถึงกระบวนการการรักษาผู้ต้องขังป่วย ส่วนถ้าหากหลังจากนี้ นายทักษิณ จะมีการนอนพักรักษาตัวภายนอกเรือนจำฯ เกินกว่า 120 วัน จะต้องมีการนำเสนอไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม.