เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งตัวละครที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์ ที่ปรากฎอยู่ในละครชื่อดังอย่าง “บุพเพสันนิวาส” และ “พรหมลิขิต” ที่เพิ่งออกอากาศไปเพียงแค่ตอนแรกเท่านั้น โดยหนึ่งในตัวละครของเรื่องอย่าง “หลวงสรศักดิ์ หรือ พระเจ้าเสือ” ผู้ที่มีความดุร้ายเด็ดขาดสมชื่อ อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ซึ่งภายหลังขึ้นครองราชย์ จึงมีพระนาม “สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8” รับบทโดย “ก๊อต จิรายุ” นักแสดงมากฝีมือ

สมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี หรือ หลวงสรศักดิ์ มีพระนามเดิมว่า “เดื่อ” สืบเนื่องมาจากพระมารดาและสมเด็จพระเพทราชา(จางวาง-กรมช้าง) ตามเสด็จสมเด็จพระนารายณ์มหาราชขึ้นไป นมัสการพระพุทธชินราชและพระพุทธชินสีห์ วัดพระศรี-มหาธาตุ เมืองพิษณุโลก กระบวนเสด็จพระราชดำเนินถึงตำบลโพธิ์ประทับช้าง เมืองพิจิตร พระมารดาเจ็บครรภ์คลอดพระองค์ใกล้ต้นโพธิ์ใหญ่ ซึ่งมีต้นมะเดื่อใหญ่อยู่ใกล้กัน และได้นำรกไปฝังไว้ระหว่างต้นโพธิ์กับต้นมะเดื่อเสร็จแล้วกระบวนเสด็จพระราช ดำเนินทางต่อไปจนถึงเมืองพิษณุโลก

ภาพพระเจ้าเสือในละครพรหมลิขิต แสดงโดย ก็อต จิรายุ

พระเจ้าเสือได้เข้าพิธีราชาภิเษกสมรสกับสมเด็จพระพันวษา หรือพระราชชนนีพันปีหลวง และมีพระสนมเอกคือ พระกรัดนางกัลยาณี โดยพระเจ้าเสือมีพระราชบุตรทั้งหมด 5 พระองค์ได้แก่ สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ, สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ, เจ้าฟ้าหญิงไม่ปรากฏพระนาม, เจ้าฟ้าหญิงแก้ว และพระองค์เจ้าทับทิม โดย 2 ใน 5 พระองค์คือ สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ และ สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ทรงเป็นกษัตริย์แห่งอยุธยาในภายหลัง

อย่างไรก็ตาม ภายหลังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวินิจฉัยพระนามว่าเป็น สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 29 แห่งอาณาจักรอยุธยา และเป็นพระองค์ที่สองแห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ราชวงศ์สุดท้ายของอาณาจักรอยุธยา ทรงครองราชย์ พ.ศ. 2246 – พ.ศ. 2251

ข้อขัดแย้งทางประวัติศาสตร์
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ได้มีการระบุประวัติความเป็นมาของพระเจ้าเสือไว้ 2 ทฤษฎี โดยประการแรก มาจากพระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ซึ่งได้ระบุไว้ชัดเจนว่า หลวงสรศักดิ์ หรือพระเจ้าเสือ เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอในสมเด็จพระเพทราชา

ทว่าในเอกสารพระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน แบบตัวเขียน กลับได้มีการระบุว่า แท้จริงแล้ว พระเจ้าเสือ ไม่ได้สืบสายโลหิตจากพระเพทราชา แต่ทรงเป็นพระราชโอรสลับในสมเด็จพระนารายณ์มหาราชกับพระสนม ซึ่งเป็นพระราชธิดาในพญาแสนหลวง เจ้าเมืองเชียงใหม่ แต่หลังจากที่ประสูติออกมา พระนารายณ์ได้พระราชทานพระโอรสแก่พระเพทราชาไปเลี้ยงดู

พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี

ก่อนขึ้นครองราชย์
ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมเด็จพระเจ้าเสือได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กรับราชการเป็นที่ โปรดปรานของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ต่อมาได้ตำแหน่งเป็นหลวงสรศักดิ์ สมัยสมเด็จพระเพทราชา หลวงสรศักดิ์ให้รับสถาปนาเป็นพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล และได้ขึ้นครองราชสมบัติต่อจากสมเด็จพระเพทราชา พระนาม สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8

พระเจ้าเสือ ทรงมีส่วนสำคัญผลักดันให้พระเพทราชายึดอำนาจตั้งตนเป็นกษัตริย์ และสถาปนาราชวงศ์ใหม่คือราชวงศ์บ้านพลูหลวงในการปฏิวัติ พ.ศ. 2231 พระองค์ได้กำจัดผู้ที่มีสิทธิ์สืบราชสมบัติ 3 รายคือพระอนุชา 2 องค์ของพระเจ้าแผ่นดินในสมัยนั้น คือเจ้าฟ้าอภัยทศและเจ้าฟ้าน้อย รวมทั้งโอรสบุญธรรมคือพระปีย์ พระเจ้าเสือยังได้รับกำลังสนับสนุนนอกเหนือจากกรมช้างของพระบิดาแล้ว ก็มีพระสงฆ์จำนวนหนึ่งที่ไม่พอใจบาทหลวงคริสต์ศาสนาเข้าร่วม รวมทั้งกองกำลังจากทหารมอญที่เข้ามารับราชการอยู่ในเมืองไทย

เมื่อพระเพทราชาได้ราชสมบัติ พระเจ้าเสือก็ได้รับการสถาปนาเป็นอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) มีฐานะคล้ายเป็นกษัตริย์องค์ที่ 2 ของอยุธยา แต่เมื่อพระเพทราชาประชวรจะสวรรคตในปี พ.ศ. 2246 ก็เกิดปัญหาการสืบราชสมบัติขึ้นอีก พระเจ้าเสือประหารเจ้าพระขวัญซึ่งเป็นอนุชาต่างมารดาของพระองค์ แต่เป็นอนุชาที่พระเพทราชาโปรดจะให้สืบราชสมบัติแทน พระเพทราชาทรงไม่พอพระทัยจึงยกราชสมบัติให้พระราชนัดดาคือเจ้าพระพิไชยสุรินทร์

แต่ว่าเมื่อพระเพทราชาสวรรคต เจ้าพระพิไชยสุรินทร์ไม่กล้ารับราชสมบัติ พระเจ้าเสือจึงได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แทน พระเจ้าเสืออยู่ในราชสมบัติในระยะเวลาค่อนข้างสั้นคือ 6 ปี สันนิษฐานว่าเป็นรัชสมัยที่ค่อนข้างจะไม่มีปัญหาทางการเมืองทั้งภายในและภายนอกนักไม่เหมือน 2 รัชสมัยที่ผ่านมา คือสมัยพระนารายณ์และสมัยพระเพทราชา

ภาพพระเจ้าเสือในละครพรหมลิขิต แสดงโดย ก็อต จิรายุ

พระนาม “พระเจ้าเสือ”
ประชาชนในสมัยพระองค์มักเรียกขานพระองค์ว่า “พระเจ้าเสือ” เนื่องจากพระองค์มีพระอุปนิสัยโหดร้ายดังเสือ อีกทั้งยังมีชื่อเสียงในฐานะกษัตริย์ของอยุธยาที่ดุร้ายและมักมากในกามคุณ แต่ก็เป็นกษัตริย์ที่ทรงมีความเป็นสามัญชนมากที่สุดของอยุธยา โปรดปรานการเสด็จออกประพาสโดยไม่ให้ราษฎรรู้ว่าเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เช่น การประพาสตกปลา ชกมวย เป็นต้น

พระปรีชาสามารถ
สำหรับพระปรีชาสามารถของพระเจ้าเสือ เรียกได้ว่าเป็นที่ประจักษ์ไปทั่วทั้งแผ่นดิน โดยเฉพาะในด้านมวยไทย ซึ่งพระองค์เป็นผู้คิดค้นศิลปะท่ามแม่ไม้มวยไทยซึ่งมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ปรากฏชัดเจน จนสืบสานกันต่อจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งยังเก่งในด้านกระบี่กระบองและมวยปล้ำ ตลอดจนงานราชการ บริหารบ้านเมืองอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ทางด้านสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้ระบุในหนังสือ ศิลปะมวยไทย ถึงพระองค์ในการปลอมพระองค์เป็นชาวบ้านมาชกมวยกับนักมวยฝีมือดีจากเมืองวิเศษชัยชาญ และสามารถชนะนักมวยเอกได้ถึง 3 คน ซึ่งได้แก่ นายกลาง หมัดตาย, นายใหญ่ หมัดเหล็ก และนายเล็ก หมัดหนัก ปัจจุบัน กระทรวงวัฒนธรรม ได้กำหนดให้วันที่ 6 กุมภาพันธ์ ซึ่งตรงกับวันที่พระองค์ได้ขึ้นครองราชย์ตามหลักฐานในประวัติศาสตร์เป็นวันมวยไทย

นอกจากนี้ ในสมัยพระเจ้าเสือจะมีเรื่องของการขุดคลอง พระองค์ทรงให้ขุดคลองมหาชัยเชื่อมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำท่าจีนซึ่งเป็นผลงานที่สำคัญในด้านการเชื่อมแม่น้ำสายสำคัญในภาคกลาง ทำให้การคมนาคมสะดวกติดต่อกันได้ การขุดคลองนี้เป็นราชกิจที่มีมาแต่สมัยต้นอยุธยามีทั้งการขุดคลองลัดเพื่อให้เส้นทางสั้นขึ้น ตลอดจนการขุดคลองเพื่อเชื่อมแม่น้ำสายสำคัญต่างๆ ซึ่งการขุดคลองดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นเรื่องของการชลประทานแต่เพื่อประโยชน์ในการคมนาคม การค้าและการสงครามมากกว่า แต่ก็มีผลพลอยได้ในการเปิดที่ดินใหม่เพื่อการเกษตรกรรมอย่างมหาศาล

ตำหนักพระเจ้าเสือ ณ วัดศาลพันท้ายนรสิงห์ จ.สมุทรสาคร // ขอบคุณภาพจาก ถ่ายไปเรื่อย

พระเจ้าเสือ และ พันท้ายนรสิงห์
ในสมัยของพระองค์มีเรื่องราวที่เล่าต่อกันมาเกี่ยวกับการเสด็จประพาสทางเรือและความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์และกฎเกณฑ์ของบ้านเมือง กล่าวกันว่าครั้งหนึ่งเสด็จจากอยุธยา ตามลำน้ำเจ้าพระยาเข้าคลองโคกขามจะไปเมืองสมุทรสาคร นายท้ายเรือพระที่นั่งชื่อพันท้ายนรสิงห์คัดท้ายเรือไม่ดี หัวเรือชนต้นไม้หัก ซึ่งตามกฎหมายในกฎมณเฑียรบาลแล้วนายท้ายเรือจะต้องถูกประหารชีวิตด้วยการตัดคอ พระเจ้าเสือทรงมีเมตตาต่อพันท้ายนรสิงห์จะไม่เอาโทษ แต่พันท้ายนรสิงห์ก็ยอมตายขอให้ประหารชีวิตเพื่อรักษากฎหมาย

ทั้งนี้ ในปีพ.ศ. 2252 พระเจ้าเสือสวรรคต เมื่อพระชนมายุได้ 45 พรรษา และพระโอรสก็ขึ้นครองราชสมบัติเป็น “สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 หรือ พระเจ้าท้ายสระ” โดยไม่มีปัญหาการแย่งราชสมบัติดังเช่นในหลายรัชกาลก่อนหน้าที่ผ่านมา..