เมื่อวันที่ 19 ต.ค. นายวิรัช พิมพะนิตย์ สส.กาฬสินธุ์ เขต 1 พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน เปิดเผยว่า คณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน ได้มีการประชุมแนวทางการแก้ไขปัญหาการตัดต้นไม้ในที่ราชพัสดุ ที่ห้องประชุมวายุภักษ์ 1 ชั้น 1 ตึกสำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 18 ต.ค 66 ที่ผ่านมา เกี่ยวกับกรณีพิเศษ ปัญหาตัดไม้พะยูงในเขตพื้นที่ราชพัสดุ ที่เริ่มตั้งแต่ปี 2563 หลังมีการปลดล็อก อนุญาตให้มีการตัดไม้ในที่ราชพัสดุได้ แต่ทั้งนี้ ต้องเป็นการตัดไม้ในพื้นที่ส่วนบุคคล และต้องมีการขออนุญาตัด รวมทั้งขนย้ายอย่างถูกต้อง แต่ที่ผ่านมากลับพบว่า มีเหตุตัดไม้พะยูงในพื้นที่ราชพัสดุหลายครั้ง เช่น พื้นที่วัด โรงเรียน ที่สาธารณะ โดยเฉพาะมีการขออนุญาตตัด และให้อนุญาตตัดไม้พะยูงในโรงเรียนเป็นจำนวนมาก เช่น ในเขตพื้นที่การศึกษากาฬสินธุ์ เขต 1 เขต 2 และเขต 3 รวมทั้งในที่ราชพัสดุรวม 12 แห่ง

นายวิรัช พิมพะนิตย์ สส.กาฬสินธุ์ เขต 1 พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน กล่าวว่า จากข้อมูลการตัดไม้ในเขตที่ราชพัสดุ โดยข้อมูล ณ วันที่ 29 กันยายน 2566 เขตพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ปี 2566 มีการตัดต้นไม้ในที่ราชพัสดุจำนวน 12 ทะเบียน จำนวน 60 ต้น ขณะที่ข้อมูลในรอบปี 2563-2566 ข้อมูลการตัดไม้ในเขตที่ราชพัสดุ เขตพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ข้อมูล ณ วันที่ 29 กันยายน 2566 มีการตัดต้นไม้ในที่ราชพัสดุจำนวน 38 ทะเบียน โดยเป็นไม้พะยูง 122 ต้น ไม้สัก 15 ต้น และไม้มีค่าอื่นๆ จำนวน 259 ต้น

นายวิรัช กล่าวอีกว่า จากกรณีตัดไม้พะยูงและไม้มีค่าอื่นในที่ราชพัสดุในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ที่ผ่านมา จากข้อมูลของฝ่ายติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริง และฝ่ายตรวจสอบเชิงลึกระดับจังหวัด พบว่าทำเป็นขบวนการ โดยมีการลักลอบตัดก่อนที่ทางโรงเรียนจะขออนุญาตธนารักษ์ตัดไม้พะยูงขาย ซึ่งเป็นการขายในราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริง ทำให้ภาครัฐได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก เนื่องจากต่ำกว่าราคาตลาดถึง 25-50 เท่า ซึ่งทราบว่าขณะนี้ทางองค์อิสระ ทั้ง ป.ป.ช.-.ป.ป.ท.-สตง. และดีเอสไอ กำลังดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงอยู่

“อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการประชุมคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน ในครั้งนี้ ยังได้ร่วมกันกำหนดมาตรการในการดำเนินการตัดต้นไม้ในที่ราชพัสดุทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ทั้งนี้ ระยะสั้น (1) ออกหนังสือแจ้งเวียนซักซ้อมแนวทางปฏิบัติ การตัดไม้ให้แก่ผู้ใช้ที่ราชพัสดุในระดับกระทรวง ทบวง กรม ทราบเพื่อกำชับหน่วยงานในสังกัด ว่าสามารถดำเนินการตัดต้นไม้ได้ด้วยเหตุผลความจำเป็นตาม ว.20 หรือต้องส่งมอบพื้นที่ที่ราชพัสดุตามสัญญาเอกชนร่วมลงทุน และหรือการจัดทำบริการสาธารณะ, (2) ถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับแนวทาง ในการดำเนินการตัดไม้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ให้กับผู้ใช้ที่ราชพัสดุ, (3) กรณีมีภาพข่าวเจ้าหน้าที่กรมธนารักษ์ เข้าไปเกี่ยวข้องกับการตัดต้นไม้ ให้เร่งรัดดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยเร็ว หากพบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องจริง ให้ดำเนินการตามกฎหมายโดยเคร่งครัด และ (4) กำหนดให้ธนารักษ์พื้นที่ ชี้แจงประชาสัมพันธ์การตัดไม้ในคราวการประชุมประจำเดือนของจังหวัด และหรือผ่านช่องทางอื่นเพื่อสื่อสารทำความเข้าใจกับผู้ที่ใช้ที่ราชพัสดุระดับจังหวัดเป็นประจำโดยตลอด” นายวิรัช กล่าว

นายวิรัช กล่าวอีกว่า ในส่วนระยะกลางนั้น (1) จัดทำหลักฐานข้อมูลต้นไม้พะยูงและไม้สักบนที่ราชพัสดุในระบบงานทะเบียนที่ราชพัสดุให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี, (2) จัดทำคู่มือแนวทางการดำเนินการในการตัดต้นพะยูงถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อถือปฏิบัติเป็นแนวเดียวกัน, (3) เร่งรัดการจัดทำกฎหมายลำดับรอง ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตัดต้นไม้จำนวน 2 ฉบับ กล่าวคือระเบียบคณะกรรมการที่ราชพัสดุว่าด้วยงานทะเบียนที่ราชพัสดุ และรายงานใช้ที่ราชพัสดุ พ.ศ. …. และระเบียบการะทรวงการคลัง ว่าด้วยการจำหน่ายอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง ที่จะรื้อถอน วัสดุที่รื้อถอน ต้นไม้ ดิน หรือวัสดุอื่นๆ ที่ได้จากที่ราชพัสดุ พ.ศ. …. และ (4) จัดทำโครงการถ่ายทอดองค์ความรู้ ตามข้อ (3) ให้ผู้ปฏิบัติงานของกรมธนารักษ์ และผู้ใช้ที่ราชพัสดุที่เกี่ยวข้อง เพื่อถือปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกัน

“สำหรับระยะยาว คือ (1) จัดทำฐานข้อมูลต้นไม้ทุกประเภทบนที่ราชพัสดุ ในระบบงานทะเบียนราชพัสดุ, (2) ประเมินการบังคับใช้กฎหมายลำดับรอง ให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมปัจจุบัน และ (3) จัดทำโครงการถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการปกครองดูแล บำรุงรักษา และการใช้ที่ราชพัสดุให่แก่ผู้ปฏิบัติงานของกรมธนารักษ์ และผู้ใช้ที่ราชพัสดุที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ” นายวิรัช กล่าวในที่สุด