ย้อนตั้งแต่วิสัยทัศน์การทำงานของคุณธนินท์ เจียรวนนท์ ท่านประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ต้องการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ทำยังไงให้มีเนื้อสัตว์โปรตีนคุณภาพดี เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ราคาทุกคนเข้าถึงได้ ได้มาตรฐานสากล ใช้นวัตกรรมทำเกษตรอุตสาหกรรมที่ทันสมัย เพื่อให้ประเทศไทยมีศักยภาพ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ และที่สำคัญต้องยึดหลัก 3 ประโยชน์ หมายถึงการทำทุกอย่าง ให้เกิดประโยชน์ทั้ง 3 ฝ่าย ทำแล้วเกิดประโยชน์แก่ประเทศ เกิดประโยชน์ต่อประชาชน แล้วประโยชน์จะเกิดกับบริษัทตามมาเป็นผลพลอยได้ ทำแบบนี้แล้วจะเกิดความยั่งยืน จึงถือได้ว่า คุณธนินท์ได้คิดถึงความยั่งยืนตั้งแต่วันแรกแล้ว

มุ่งสู่ครัวโลกเติบโตยั่งยืน 

“กอบบุญ ศรีชัย” ผู้บริหารสูงสุดสายงานกิจการองค์กรและลงทุนสัมพันธ์ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือซีพีเอฟ เปิดเผยถึงปรัชญา 3 ประโยชน์ และแนวคิดความยั่งยืนที่เป็นดีเอ็นเอสำคัญของบริษัทฯ โดยปัจจุบันซีพีเอฟ ถือเป็นบริษัทผู้นำด้านเกษตรอุตสาหกรรม และอาหารครบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่การผลิตอาหารสัตว์ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ และผลิตอาหารให้กับผู้บริโภคทั่วโลกมีการขยายธุรกิจไปยัง 17 ประเทศ มีไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกสินค้าไปมากกว่า 40 ประเทศทั่วโลก ซึ่งซีพีเอฟถูกคัดเลือกให้อยู่ในดัชนีความยั่งยืนจากหลายสำนัก ทั้งดีเจเอสไอ และเอ็มเอสซีไออีเอสจี อินเด็กซ์ สอดคล้องกับภารกิจหลักของบริษัทที่มุ่งสู่การเป็นครัวของโลก และการเติบโตอย่างยั่งยืน

ในทางเดียวกันความยั่งยืนที่เรามีวิสัยทัศน์ที่ต้องการสร้างอาหารมั่นคงแล้ว แต่บริษัทฯ ก็มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญ คือ พนักงานที่อยู่กับเราทั้งหมด ครอบครัวของเขา คู่ค้าที่มีส่วนสร้างความสำเร็จ ผู้สนับสนุนทางการเงิน รวมทั้งผู้ถือหุ้น ดังนั้นการทำธุรกิจไม่ว่าอย่างไรก็ตามต้องได้กำไรที่เหมาะสม ไม่ได้หมายความว่า เราจะไปคิดราคาที่แพงจากลูกค้า แต่เราต้องการราคาที่เข้าถึงได้ ต้องดูต้นทุนการผลิต ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกได้ด้วย ถึงจะสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ในอนาคตได้

บริหารความเสี่ยงต้องเปลี่ยนให้เร็ว

“หากไม่มีกำไรก็ไม่สามารถดูแลสิ่งแวดล้อม ชุมชน พนักงาน หรือผู้ถือหุ้นได้ เราต้องดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ครบ เพื่อความยั่งยืน วันนี้โลกมีการแข่งขันที่สูงขึ้น ประกอบกับสถานการณ์โควิด สิ่งที่สำคัญของความยั่งยืนคือการบริหารความเสี่ยงขององค์กร เมื่อมีสิ่งแปลกใหม่ที่ไม่เคยเกิดมาก่อน เราจะมีความรวดเร็วในการเปลี่ยนกลยุทธ์ ปรับเปลี่ยนตัวเอง ปรับใช้งบประมาณให้ถูกที่ถูกทางได้ทันการหรือเปล่า”

ตั้งแต่เริ่มสร้างฟาร์ม เราใส่ใจชุมชน สิ่งแวดล้อมใส่ใจความปลอดภัยทางด้านชีวอนามัย สำหรับเหตุการณ์ที่ยังเป็นที่จดจำ ช่วงเกิดระบาดโควิด-19 เราก็เร่งปรับกลยุทธ์ เรามองถึงประเทศชาติก่อนมองตัวเอง สร้างความเชื่อมั่นให้กับคนทุกคน ดูแลพนักงานทำงานได้ปลอดภัย คุยกับขนส่ง เพื่อสร้างอาหารมั่นคง ดูแลประชาชนไม่ให้ลำบากจากอาหารไม่มี รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ ต้องมีอาหาร เป็นมุมของการดูแลสังคม และความยั่งยืนของบริษัท

ไบโอแก๊สขี้หมู-ไก่ลดต้นทุนพลังงาน 

นอกจากนี้เรายังเน้นการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานก๊าซชีวภาพ พลังงานชีวมวล ยกเลิกการใช้พลังงานจากถ่านหินและฟอสซิล ได้ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนในฟาร์มสุกร นำระบบไบโอแก๊ส มาเปลี่ยนมูลสัตว์เป็นพลังงานทดแทน ทางซีพีเอฟเป็นองค์กรที่นำร่องดำเนินการมาตั้งแต่ปี 44 แล้ว เป็นการถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกรในโครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสุกรรายย่อย ต่อยอดระบบไบโอแก๊ส นำมาเปลี่ยนเป็นกระแสไฟฟ้าใช้ในฟาร์ม ช่วยลดต้นทุนด้านไฟฟ้า ลดกลิ่น และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศ รวมถึงฟาร์มไก่ด้วย

รวมทั้งยังคิดค้นนวัตกรรมการเลี้ยงสัตว์ด้วยจุลินทรีย์ดี “โปรไบโอติก” ในอาหารสัตว์ เพื่อทำให้สัตว์สร้างภูมิคุ้มกันจากภายใน ส่งผลให้มีสุขภาพที่ดี แข็งแรง ไม่ป่วย ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ รวมทั้งในไก่เนื้อไม่มีการใช้ฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโต ทำให้เนื้อไก่ ปลอดสาร ปลอดภัย รวมถึงการยกระดับอาหารไทยสู่มาตรฐานความปลอดภัยสูงสุดของโลก โดยเฉพาะไก่ไทย ที่จะขึ้นสู่ยานอวกาศ เป็นการสร้างมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารขั้นสูงระดับเดียวกับที่นักบินอวกาศสามารถรับประทานได้

ดูแลเอสเอ็มอีฝ่าวิกฤติไปด้วยกัน 

อย่างไรก็ตามซีพีเอฟเน้นยํ้าเรื่องความยั่งยืน ถ้าจะไปคนเดียวคงไม่ถูก ดังนั้นเราต้องพาซัพพลายเชนของเราไปด้วย โดยเฉพาะเอสเอ็มอีทั้งหลายในช่วงเกิดวิกฤติโควิด เอสเอ็มอีกระแสเงินสดหาย ธุรกิจหยุดชะงัก เราหาวิธีทำยังไงให้คู่ค้าเอสเอ็มอีเราได้เงินไปหมุนเวียนให้เร็วที่สุด จึงได้ออกโครงการฟาสเตอร์ เพย์เมนท์ เพื่อปรับระยะเวลาเครดิตเทอมอยู่ภายใน 30 วัน ช่วยเสริมสภาพคล่องให้เอสเอ็มอีดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง

“กอบบุญ” ยังได้ฉายภาพอีกหนึ่งโครงการสำคัญที่ส่งเสริมเอสเอ็มอี ลดการปล่อยคาร์บอนฯ โดยคัดเลือกผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนำร่อง แล้วส่งวิศวกรที่มีความเชี่ยวชาญจากทีมวิศวกรรมกลาง เข้าไปช่วยพัฒนากระบวนการผลิต เน้นการลดต้นทุนให้เกิดเป็นรูปธรรมเห็นได้จริง และขอให้เอสเอ็มอีนำส่วนของรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากโครงการ มาลงทุนกับโครงการลดการปล่อยคาร์บอนของตัวเอง เช่น การติดตั้งแผงโซลาร์เพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนในกระบวนการผลิต ถ้ากลุ่มนี้ประสบความสำเร็จ ก็ต่อยอดเป็นรุ่น ๆ ไป จะเริ่มเห็นผลภายในปีนี้

’ความยั่งยืนต้องเป็นความร่วมมือของทุกฝ่าย ไม่ใช่เฉพาะบริษัทอย่างเดียว ทั้งประชาชนก็ต้องร่วมมือ บริษัทต้องเดินไปกับซัพพลายเชน การดูแลพนักงานและครอบครัว ผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน โรลโมเดลเกิดจากผู้นำองค์กร และต้องเติบโตไปด้วยกัน พร้อมสื่อสารเรื่องความยั่งยืนเริ่มจากภายในให้เข้าใจง่าย ๆ และเดินไปพร้อมกัน ส่งต่อไปยังผู้บริโภค สร้างการรับรู้ไปด้วยกัน“.