เมื่อเวลา 17.50 น.วันที่ 12 ต.ค.ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง แถลงภายหลังเป็นประธานการประชุมเพื่อเตรียมการอพยพคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในรัฐอิสราเอล ครั้งที่ 5/2566 ว่า ในวันแรกจะออกจากที่นี่ในวันที่ 14 ต.ค.นี้ ซึ่งจะมีคนไทยเดินทางกลับเข้ามาประมาณ140 คน และมีการขนเสบียงไปให้ด้วย แต่ตนได้สั่งการไปว่าลำเดียวไม่พอและมีอีกทีในวันที่ 20 ต.ค. และตนสั่งการเตรียมตั้งแต่วันนี้ไปจะมีให้เครื่องบินพร้อม โดยที่สายการบินนกแอร์จะมี 2 ลำและสายการบินแอร์เอเซียมีให้ 2 ลำ ส่วนการบินไทย 13 ต.ค.นี้ จะให้คำตอบว่าจะมีให้ได้หรือไม่ และสั่งการไปว่าขอให้เตรียมความพร้อมเครื่องบินทั้ง 4 ลำนี้บวกอีกกี่ลำก็ตามจากการบินไทย ตรงนี้ได้มีการสั่งการขอให้เป็นความสำคัญสูงสุด

นายเศรษฐา กล่าวว่า ทูตไทยประจำอิสราเอลได้แจ้งมาว่า ความพร้อมในการที่คนไทยจะพร้อมเดินทางออกมา มีความพร้อมที่จะนำคนไทยออกมาจากจุดเสี่ยงได้ประมาณวันละ 200 คน ดังนั้นจะต้องคิดวิธีในการที่จะทำให้รวดเร็วขึ้น แต่มันมีปัญหาเรื่องงานเอกสาร ซึ่งบางท่านพาสปอร์ต อาจจะหายจึงได้สั่งการกับทูตฯไปในเรื่องงานเอกสารให้เป็นเรื่องรอง แต่ให้เรื่องความปลอดภัยสูงสุดเป็นเรื่องสำคัญ อย่างไรก็ตามยังเฝ้ามอนิเตอร์อยู่ในทางเรือ แต่ก็ต้องมีการเดินทางเส้นทางรถออกมาก่อน ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องคำนึงถึงตลอดเวลา

“วันนี้ก็วิงวอนหากสายการบินเอกชนไหนที่พอจะช่วยได้ มีเครื่องบินเหลืออยู่ก็หวังว่าคงจะมาร่วมด้วยช่วยกันตรงนี้และกระทรวงการต่างประเทศก็พร้อมที่จะประสานบินผ่านน่านฟ้าในหลายประเทศ เพราะถือเป็นภาวะสงคราม ยืนยันว่าสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นแต่ทางรัฐบาลให้ความเป็นห่วงและสำคัญอย่างยิ่งสำหรับเรื่องนี้” นายเศรษฐา กล่าว

เมื่อถามถึงความพยายามในการเจรจา ขอปล่อยตัวประกันแรงงานคนไทย นายกฯ กล่าวว่า มีความพยายามในการเจรจาทุกช่องทางที่ทำได้ ซึ่งเป็นเรื่องของความมั่นคงขออนุญาตไม่เผยแพร่  แต่ขอให้มั่นใจว่าเราเจรจาทุกช่องทางเรามีความหวัง ต้องพยายาม ต้องกดดัน เพราะเราเป็นประเทศที่ไม่ได้อยู่ในความขัดแย้ง เชื่อว่าหลายประเทศก็ให้ความเห็นใจ

เมื่อถามต่อว่า เครื่องบินการบินไทยมีข้อติดขัดอะไรที่ยังไม่สามารถระบุจำนวนเครื่องบินว่า จะส่งไปได้จำนวนเท่าไหร่นายกฯ กล่าวว่า ก็น่าเห็นใจการบินไทย เพราะเขาไม่มีเครื่องบินไปประเทศอิสราเอล ซึ่งเป็นเรื่องของงานเอกสารมากกว่าเรื่องเครื่องบินที่ถูกประกันไว้ แต่เขาอาจจะช่วยอีกทางหนึ่งโดยไม่ต้องไปบินลงกรุงเทลอาวีฟ  แต่ไปบินลงประเทศใกล้เคียง และให้สายการบินอื่น บินออกมาและเราไปรับจากที่นั่น และดูในที่นี้แล้วรัฐมนตรีหลายท่านก็หน้าอิดโรยพอสมควร เรื่องนี้เป็นเรื่องของแรงบันดาลใจที่เรามีคนติดอยู่ที่นั่น 5,000 คน ที่ต้องการความช่วยเหลืออยู่เพราะการเดินทางในประเทศอิสราเอลยังไม่ปลอดภัย ถนนหลายสายถูกบล็อค ซึ่งจะต้องมีการเชื่อมต่อและพูดคุยระหว่างหน่วยงานความมั่นคงให้อำนวยความสะดวกให้ สุขฝ่ายและผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.)ก็พยายามอย่างเต็มที่

นายกฯ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้รัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศไม่ได้นิ่งนอนใจ เรามีความพยายามอย่างเต็มที่ และเมื่อสักครู่ก็ได้พูดคุยกับทูตฯ ซึ่งทูตฯ ก็บอกว่าก็เร่งและกดดันทางอิสราเอลอยู่ และเรื่องของการชันสูตรศพ รวมถึงเรื่องเงินชดเชย ซึ่งการเสียชีวิตในภาวะสงครามประเทศอิสราเอลจะมีเงินชดเชยให้ส่วนหนึ่ง แต่ถ้าเรานำศพกลับมาก่อนโดยที่ไม่มีการออกหลักฐาน อาจจะเคลมเงินได้ช้า ยืนยันว่ากระทรวงการต่างประเทศดูครบทุกมิติ เราพยายามทำให้ดีที่สุด

เมื่อถามอีกว่าในวันที่ 13 ต.ค.นายกฯหารือกับน.ส.ออร์นา ซากิฟ เอกอัครราชทูตรัฐอิสราเอลประจำประเทศไทย ที่ทำเนียบรัฐบาล จะมีการพูดคุยในประเด็นใดเป็นพิเศษเพิ่มเติมหรือไม่ นายกฯกล่าวว่า ก็ต้องขอความเห็นใจ ซึ่งการพูดคุยจะพูดคุยว่าเราต้องการความช่วยเหลือด้านไหนบ้าง อย่างที่บอกว่าเราไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง และเรามีความสูญเสียสูงที่สุด ไม่ว่าจะเรื่อง การลำเลียงศพออกมา หรือการเจรจาเรื่องตัวประกัน  และเรื่องการลำเลียงแรงงานไทยที่ต้องการกลับประเทศ ไปอยู่ในสถานที่ปลอดภัยและไปถึงสนามบินให้เร็วที่สุด รวมถึงเรื่องการเปิดน่านฟ้าให้เครื่องบินบินเข้าได้

เมื่อถามอีกว่าได้ประสานสายการบินของประเทศอิสราเอลหรือไม่ เพราะวันนี้ 15 คนไทยที่เดินทางกลับเดินทางด้วยเครื่องบินสายการบินของอิสราเอลที่มีการติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธ นายกฯ กล่าวว่า วันนี้ก็มีการพูดคุยกัน และอิสราเอลก็มีเครื่องบินของเขาที่ไปเอาคนกลับมาจากต่างประเทศ และกลับออกไปใหม่จังหวะที่กลับออกไปใหม่นั้น ก็เป็นอีกทางเลือกที่อาจจะให้คนไทยบินออกไปประเทศที่เขาจะไปรับคนของเขา และเราส่งเครื่องบินไปรับในประเทศที่ไม่อันตราย ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทางกระทรวงการต่างประเทศกำลังพิจารณาอยู่ ซึ่งสิ่งที่เราภาวนาอยู่ คือ ไม่อยากให้สถานการณ์เลวร้ายไปกว่านี้ หรืออย่างน่านฟ้าปิดหรือมีสถานการณ์รุนแรงเกิดขึ้นมากกว่าที่เป็นอยู่เพราะปัจจุบันมันก็แย่อยู่แล้ว

เมื่อถามว่ามีคนไทยอยู่ในพื้นที่สีแดงในอิสราเอล หลายคนแจ้งมาว่าถูกนายจ้างบังคับ ทำงานท่ามกลางสถานการณ์ที่แย่ นายกฯกล่าวว่า แรงงานไทยที่อยู่ในพื้นที่สีแดง ที่ถูกนายจ้างบังคับให้ทำงาน เขาร้องเรียนมาและในวันที่ 13 ต.ค.ก็จะมีการพูดคุยกันในเรื่องนี้ เพราะเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่สำคัญในเรื่องของสิทธิมนุษยชน และควรคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ซึ่งต้องพูดคุยให้ชัดเจนเพื่อให้ช่วยกันอย่างเต็มที่ ยืนยันว่าจะทำให้ดีที่สุด เข้าเท่าที่สามารถทำได้และสั่งการขั้นสูงสุดว่าเรื่องการอพยพคนไทยเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เรื่องเอกสารเป็นเรื่องรอง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 13 ต.ค. เวลา 08.45 น. นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการ หารือกับ นางสาวออร์นา ซากิฟเอกอัครราชทูตรัฐอิสราเอลประจำประเทศไทย ที่ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล