สำหรับนักเรียนที่จบการศึกษา ม.ศ. 5 ที่ได้ฟังพระราชดำรัสฉบับเต็มในวันนั้น นี่คือหัวใจของความ “พอเพียง” ที่พวกเราใช้เป็นแสงสว่างนำทางในการดำเนินชีวิต ผ่านวิกฤติต่าง ๆ มานับครั้งไม่ถ้วน ผมถอดรหัสได้ว่า หลักปรัชญา สอนให้เราเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของโลก และสรรพสิ่ง และให้แนวทางสายกลางในการปรับปรุงพัฒนาตัวเองให้ทันโลก ต้องวิเคราะห์ความเสี่ยง สร้างภูมิคุ้มกัน ต้องพึ่งพาตัวเองให้ได้ และช่วยสังคมส่วนรวมให้ปลอดภัยจากภัยพิบัตินั้นไปพร้อมกัน

17 ปีให้หลัง ในปี 40 สิ่งที่พระองค์ท่านได้ทรงตรัสไว้ในวันนั้น รวมทั้งในงานพระราชพิธีต่าง ๆ ได้เกิดขึ้นจริงทั้งสิ้น ทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อม พลังงาน ความยากจน เหลื่อมลํ้า แตกแยก และวิกฤติเศรษฐกิจ พระองค์ท่านพระราชทานแนวทางต่าง ๆ ไว้ให้แล้ว รวมถึงได้ทรงริเริ่มโครงการดี ๆ ไว้เป็นตัวอย่าง

วิกฤติสอนฟังแต่ไม่ได้ยิน 

แต่เราไม่เคยตระหนักและเตรียมตัวกันเลย จนเมื่อประเทศไทยประสบ “วิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง” ผู้คนเพิ่งคิดได้ว่า แม้พวกเราฟัง แต่ไม่ได้ยิน แม้พวกเราได้ยินก็ไม่เข้าใจ ไม่ได้น้อมนำพระราชดำรัสต่าง ๆ ที่พระองค์ท่านทรงพระราชทานไว้มาใช้ในชีวิตประจำวัน หรือใช้ในการบริหารธุรกิจเท่าใดเลย ธุรกิจมากมายล้มหายตายจากไป กิจการที่ยังพอมีกำลังก็เริ่มปรับตัว เปลี่ยนแปลงตนเองใหม่ โดยเฉพาะบริษัทใหญ่ ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ และสมาชิกหอการค้าไทย ล้วนกลับไปทบทวน และฟื้นฟูกิจการ ให้ค่อย ๆ คืนชีพกลับมาอีกครั้งด้วยความเพียรตาม “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” จนแข็งแกร่งในวันนี้

26 ปีต่อมา ในปี 66 ในงาน SX Sustainable Expo 2023 ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 ก.ย.-8 ต.ค. ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสมาเป็นอาสาสมัครในงานนี้ ได้ร่วมฟัง ร่วมบรรยาย ร่วมดำเนินรายการอยู่หลายเวที สิ่งที่ผมได้ยินซํ้า ๆ จากผู้นำภาคธุรกิจ ภาครัฐ ภาคประชาสังคม นักวิชาการ น้อง ๆ นักศึกษา ผู้นำศาสนาต่าง ๆ แม้แต่ชาวต่างชาติ ล้วนตอกยํ้าว่า “พอเพียง” คือแนวทางที่สำคัญ ที่ทุกคน ทุกองค์กรนำมาประยุกต์ใช้หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจ จนสามารถสร้างความเติบโต อย่างเข้มแข็งได้ในทุกวันนี้ หลักปรัชญานี้เป็นสากล เป็นของขวัญที่ประเทศไทยมอบให้แก่โลกใบนี้ เป็นแนวทางสร้างสมดุล ลดความสุดโต่ง ให้โลกใบนี้ดีขึ้นกว่าเดิม ตามสโลแกนของงาน “สมดุลที่ดี … เพื่อโลกที่ดีกว่า” หรือ Good Balance … Better World”

ชูทางรอด 3 ห่วง 2 เงื่อนไข

ภายในงาน “ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล” กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ได้แสดงปาฐกถาพิเศษ “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และ Decade of Action หนึ่งในใจความสำคัญ คือ การสร้างจิตสำนึก นำไปสู่การกระทำด้านความยั่งยืน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของในหลวง ร.9 ประกอบด้วย 3 ห่วง 2 เงื่อนไข โดย 3 ห่วง คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล การมีภูมิคุ้มกัน และ 2 เงื่อนไข คือองค์ความรู้ และคุณธรรม

“การประมาณตนคืออย่าทำอะไรเกินตัว เกินศักยภาพตนเอง ทั้งกายภาพ ทุนทางปัญญา ความมีเหตุผล คือ ทำอะไรต้องคิดจากสติปัญญา ต้องมีเหตุผล และภูมิคุ้มกันคือบริหารความเสี่ยง การจะทำสิ่งใดจะต้องมีองค์ความรู้ ส่วนคุณธรรม แปลเป็นภาษาชาวบ้านคืออย่าโกง ซึ่งสถานการณ์ทุจริต คอร์รัปชันของไทยดีขึ้นไหม ขอทิ้งไว้แค่นี้”

ทั้งนี้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนเองของประชาชนในทุกระดับ ขณะที่การพัฒนาอย่างยั่งยืนสิ่งสำคัญควรนึกถึงประโยชน์เป็นหลักไม่ใช่ความรํ่ารวย เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สุข

หัวใจของความพอเพียง 

นอกจากนี้ยังมีเวทีสัมมนา TSCN หัวข้อ “ปรับตัวอย่างไรให้อยู่รอดแบบยั่งยืน”

คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ เล่าให้ฟังเสมอว่า การดำเนินธุรกิจต้องคำนึงถึงความ “พอเพียง” ต้องให้ความสำคัญกับความ “สมดุล” พัฒนากิจการไปพร้อมกับพัฒนาสังคมรอบด้าน ทางไทยเบฟให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของคนรุ่นใหม่ Future Workforce ด้วยการพัฒนาโอกาส พัฒนาอาชีพ พัฒนาให้พึ่งพาตนเองได้ จะเปลี่ยนแปลงโลก ต้องเปลี่ยนแปลงที่ตัวเรา ต้องมีความเพียร ระเบิดจากข้างใน นี่คือหัวใจของความ “พอเพียง”

คุณรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ SCG ใช้แนวทางความสมดุล ESG 4 Plus ที่ SCG เน้นการพัฒนาทุนมนุษย์ ให้สามารถปรับตัวสู้กับวิกฤติต่าง ๆ ที่ถาโถมเข้ามาทุกวัน ใช้ความเพียร ความทุ่มเท มุ่งมั่นทำงานเป็นทีม โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องดูแลเรื่องภาวะโลกร้อน ต้องเป็นอุตสาหกรรมคาร์บอนตํ่า ต้องสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เสมอ … นี่คือวิธีคิดแบบ “พอเพียง”

แนะรร.ใส่หลักสูตรความยั่งยืน

คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์จำกัด ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นอนาคตของชาติ SDG ความยั่งยืนทั้ง 17 ข้อ ควรอยู่ในหลักสูตรของโรงเรียน และมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องเป็นการเรียนรู้แบบลงมือทำ รวมถึงต้องสร้างนวัตกรรมจากเทคโนโลยีใหม่ ๆ เป็นการปลูกปัญญาให้เท่าทันโลก ทั้งนี้เมื่อมีความรู้ที่ดีแล้ว ต้องมีคุณธรรมและมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย นี่คือพื้นฐานของความ “พอเพียง”

ทั้ง 3 ท่านเน้นยํ้าหลายครั้งเรื่องการพัฒนาคน และเรื่องการร่วมมือกัน เราไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้โดยลำพัง และในเวที “ก้าวพอดี” ของหอการค้าไทยก็สะท้อนความ “พอเพียง” ในระดับท้องถิ่นเช่นกัน

ดึงเป้าสังคมเป็นตัวตั้งไม่ใช่กำไร

คุณกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานคณะกรรมการเศรษฐกิจพอเพียงฯ หอการค้าไทย และ ดร.ศิริกุล เลากัยกุล ผู้อำนวยการโครงการ “พอแล้วดี” ต่างสนับสนุนธุรกิจชุมชน ธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก ธุรกิจเพื่อสังคม ธุรกิจของคนรุ่นใหม่ ที่เป็นธุรกิจที่เอาเป้าหมายทางสังคมเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่เป้าหมายกำไรสูงสุด “Business with Purpose” ท่านทั้งสองยํ้าว่า หลักการ “พอเพียง” นั้นประยุกต์ใช้ได้ในธุรกิจทุกขนาด ไม่จำเป็นที่ต้องเป็นบริษัทขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ แต่ละขนาด ก้าวไม่เท่ากัน ขอให้ก้าวให้พอดี ธุรกิจขนาดกลาง และขนาดเล็กที่ใช้หลักการ พอเพียง ยั่งยืน จะเป็น Supply Chain ที่มีคุณภาพของธุรกิจขนาดใหญ่ นักธุรกิจในโครงการ “ก้าวพอดี” นี้สะท้อน ความพอดีที่ก่อให้เกิด “ความสุข”

ในเวทีความ “พอเพียง” ระดับนานาชาติ “Sufficiency for Sustainability” ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง เล่าเรื่องขององค์กรที่ก่อตั้งด้วยหัวใจของความ “พอเพียง” ทีมงานเน้นการร่วมมือกันกับทุกภาคส่วน เน้นการปฏิบัติ ไม่ใช่ให้แค่คำมั่นสัญญา ตอนนี้เป็นทศวรรษแห่งการลงมือทำ “Decade of Action”

นานาชาติชูพอเพียงสร้างโลกยั่งยืน

อาจารย์ Stephen B. Young จาก Caux Round Table for Moral Capitalism กล่าวว่า “พอเพียง” คือแนวทางของคนไทยที่พิสูจน์แล้วว่านำไปปฏิบัติได้จริงในหมู่ “Moral Capitalism” ทั่วโลกก่อให้เกิดความเติบโตอย่างยั่งยืน เป็นสิ่งที่โลก เรียนรู้จากไทย จากไอเดียสู่การลงมือปฏิบัติ และเมื่อปฏิบัติแล้วจะเกิดไอเดียใหม่ ๆ ที่พัฒนาดีขึ้นไปเรื่อย ๆ เป็นวัฏจักร

อาจารย์ Tetsunori Koisumi ชาวญี่ปุ่นที่ศึกษาเรื่องความสมดุลทางสังคม สิ่งแวดล้อมและจิตวิญญาณ บอกว่า “พอเพียง” เป็นสากล สอดคล้องกับหลักศาสนาต่าง ๆ ที่สอนให้มีสติ มีความสมดุล กลมกลืนเคารพธรรมชาติรอบ ๆ ตัวเรา

และในเวทีของ พระเมธีวชิโรดม ว.วัชรเมธี เรื่อง “มหาวิชชาลัย พุทธเศรษฐศาสตร์” ก็เน้นยํ้าเรื่องการพัฒนาคนพัฒนาจิตใจ พัฒนาอาชีพ พัฒนาโอกาส ด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแนวพุทธ ที่เรียกว่าพุทธเศรษฐศาสตร์

รุ่นใหม่ยกเป็นโค้ชชีวิต

มีเยาวชนจากจังหวัดต่าง ๆ มาเรียนรู้ความพอเพียงในงานนี้กว่า 60% ของผู้เข้าชมงาน ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับน้องหลายคน ผมถามน้อง ๆ ว่าสำหรับน้อง ๆ “พอเพียง” คืออะไร บางคนบอกว่า เป็น “Life Coach” หรือโค้ชชีวิต บางคนบอกเป็นแนวทางใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า ที่เรียกว่า “Circular Economy” บางคนบอกว่า เป็นแนวทางดำเนินธุรกิจที่สมดุล เช่น “CSR หรือ ESG” บางคนบอกว่า เป็นการเรียกสติ “Mindfulness” คำตอบด้วยภาษาสมัยใหม่ของน้อง ๆ น่าสนใจยิ่ง

ผมเชื่อว่า วิชา “พอเพียง … ยั่งยืน” เป็นสิ่งที่ควรมีในหลักสูตรการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ตอนที่ผมสอนวิชานี้ในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ทั้งในและต่างประเทศได้พัฒนาชุดการเรียนรู้ที่สนุกสนาน เข้ากับยุคสมัย ไม่ต้องท่องจำ ไม่มีสูตรสำเร็จ เป็นสิ่งที่นักศึกษาต้องค้นหาคำจำกัดความของคำว่า “พอเพียง” ของตนเอง ที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร

วิกฤติโลกยังคงเดือดขึ้นเรื่อย ๆ ผมเชื่อว่า “พอเพียง” คือกุญแจดอกสำคัญของโลก ที่จะไขประตูต่าง ๆ สู่ความ “ยั่งยืน”

ในวันสำคัญนี้ วันที่ 13 ต.ค. ของทุกปี คือ

“วันนวมินทรมหาราช”