ซึ่งแต่ละธุรกิจจะมีวิธีแตกต่างกันไป เช่น ร้านอาหารโออิชิ เคยทำโครงการกินหมดเกลี้ยง ผ่านร้านอาหารชาบูชิ จำนวนรวม 160 สาขา และนิกุยะ จำนวน 5 สาขาทั่วประเทศ รณรงค์ให้ผู้บริโภคทานได้ไม่จำกัดปริมาณเช่นเดิม แต่ให้ตักทานแต่พอดี ไม่เหลือทิ้ง โดยผู้ชนะจะได้รับรางวัลเป็นคูปองส่วนลด รวมทั้งทำโครงการไม่กินบอก เอาออกให้ โดยลูกค้าสามารถแจ้งกับทางร้านได้ว่าไม่ต้องการส่วนประกอบใดบ้าง เพื่อจะได้ไม่เหลือเป็นขยะอาหาร

ขณะที่ “โลตัส” เดินหน้าโครงการกินได้ไม่ทิ้งกัน ตั้งแต่ปี 60 ล่าสุดยกระดับไปสู่ความร่วมมือต่อยอดกับโครงการไม่เทรวม ของกรุงเทพมหานคร เพื่อลดขยะอาหารจากโลตัส โก เฟรช กว่า 350 สาขาทั่วกรุงเทพฯ ทั้งการนำส่วนที่จำหน่ายไม่หมดแต่ยังมีคุณภาพดี มอบให้พนักงานรักษาความสะอาด หรือพี่ ๆ คนกวาดถนนของ กทม. เพื่อนำไปประกอบอาหาร ลดค่าครองชีพ และส่วนที่ไม่เหมาะจะรับประทานแล้ว ก็แยกเป็นขยะอาหาร เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของ กทม. นำไปจัดการต่อไปอย่างเหมาะสม โดยความร่วมมือนี้ครอบคลุมไปสู่พื้นที่ทั่ว กทม. ครบทั้ง 50 เขตแล้ว

ส่วน “ท็อปส์” ให้ความสำคัญกับการลดปริมาณอาหารส่วนเกิน การสูญเสียอาหาร และขยะอาหารที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจที่ผ่านมาได้เปลี่ยนอาหารส่วนเกินสู่อาหารที่มีคุณค่าส่งต่อไปยังครัวเรือนที่มีรายได้น้อย ผู้ด้อยโอกาส ตลอดจนผู้สูงอายุในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศผ่านโครงการอาหารปันสุข โดยร่วมมือกับสตาร์ทอัพยินดี ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันสำหรับซื้อ-ขายอาหารส่วนเกิน ซึ่งไม่ได้หมายถึงอาหารเสียหรือหมดอายุ แต่เป็นอาหารส่วนเกินจากการดำเนินธุรกิจของท็อปส์และแฟมิลี่มาร์ทที่สามารถรับประทานได้ จัดทำจำหน่ายราคาประหยัดเพื่อให้ผู้บริโภคได้ซื้ออาหารที่ดีในราคาถูก อาหารไม่ถูกทิ้งอย่างสูญเปล่า ไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม

ด้านวิธีทั่วไปที่ผู้บริโภคนิยมใช้ เช่น นำเศษอาหารไปเป็นปุ๋ยออร์แกนิกจากการหมักขยะเศษอาหาร , อาหารราคาพิเศษ ในเวลาพิเศษ ด้วยการเป็นตัวกลางรับอาหารคุณภาพดีจากร้านชั้นนำต่าง ๆ มาจำหน่ายในราคาพิเศษ, ขายผลิตผลทางการเกษตรที่อาจไม่สวยขึ้นห้าง แต่คุณภาพไม่แพ้ใคร ในราคาที่จับต้องได้, การใช้เทคโนโลยีในการลดปริมาณขยะอาหาร เช่น ถังขยะอัจฉริยะแยกขยะอาหารกับขยะอื่น ๆ หรือใช้แอปพลิเคชันแลกเปลี่ยนอาหาร.