นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทย มีแนวโน้มการโจมตีทางไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้นและมีความรุนแรงมากขึ้น รูปแบบการโจมตีก็มีแนวโน้มที่จะพัฒนาตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอาจส่งผลต่อความมั่นคงของรัฐ และเศรษฐกิจของประเทศได้ ซึ่งตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 กำหนดให้ สำนักงานคณะกรรมการการ รักษาความมั่นคงปลอดภัย ไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ทำหน้าที่พัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ จึงจัดทำโครงการเร่งรัด การพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคง ปลอดภัยไซเบอร์ ระยะที่ 1  จำนวน 2,250 คน  ในกลุ่มเป้าหมาย เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานและบริการที่สำคัญของรัฐและเอกชน ตลอดจนกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป เพื่อพัฒนาขีดความสามารถด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ของประเทศให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล  

พลโท ดร.ปรัชญา เฉลิมวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.) กล่าวว่า สำหรับโครงการฯ ในระยะที่ 1 มีเป้าหมายพัฒนาบุคลากรยกระดับสร้างทักษะ ขีดความสามารถ และความรู้ ของบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบสารสนเทศของหน่วยงานต่าง ๆ เป็น 3 ระดับคือ ระดับพื้นฐาน ระดับผู้เชี่ยวชาญ และระดับบริหาร ใน 6 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรระดับพื้นฐาน หลักสูตรระดับผู้เชี่ยวชาญ หลักสูตรระดับผู้เชี่ยวชาญ (เฉพาะด้าน) หลักสูตรระดับผู้เชี่ยวชาญ (ภาคปฏิบัติ) หลักสูตร OWASP Security และหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง 

ด้านนาวาอากาศเอก อมร ชมเชย รองเลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคง ปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.) กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีผู้เชี่ยวชาญด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ ที่มีใบรับรองมาตรฐาน ซีไอเอสเอสพี (CISSP) ซึ่งได้รับการยอมรับในนานาประเทศ เพียง 200 คน ซึ่งน้อยที่สุดในภูมิภาค โดยสิงคโปร์มีประมาณ 1,000 คน มาเลเซียประมาณ 300 คน ซึ่งการจัดโครงการนี้นอกจากจะช่วยยกระดับบุคลากรแล้วยังสามารถจัดทำหลักสูตรที่ได้มาตรฐานเพื่อให้อบรมต่อเนื่อง รวมถึงจัดทำอีเลิร์นนิ่งให้ผู้สนใจได้เรียนรู้และอบรมเพิ่มเติมได้ เป็นการเพื่อเสริมสร้างการตระหนักรู้ถึงภัยคุกคามทางไซเบอร์ของประชาชน และส่งเสริมการสร้างเครือข่ายของบุคลากรด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศไปพร้อมกันด้วย.