เช่นเดียวกับกล้วยไม้ตัดดอกซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีการปลูกอยู่มาก แต่เมื่อถึงระยะเวลาหนึ่งที่ไม่สามารถออกดอกได้สมบูรณ์จะต้องทิ้งกลายเป็นขยะมูลฝอยและใช้ระยะเวลาย่อยสลาย ฯลฯ จึงนำต้นกล้วยไม้มาแปรรูปเป็น กระดาษกล้วยไม้ มีคุณสมบัติเหนียว โปร่งแสงและมีพื้นผิวเฉพาะตัว ลดปริมาณขยะแล้วยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มอีกทางหนึ่ง ฯลฯ เป็นส่วนหนึ่งจากงานวิจัยของอาจารย์และนักศึกษาร่วมกันพัฒนาวัสดุ หนึ่งในตัวอย่างวัสดุสร้างสรรค์จาก Silo@ssru ศูนย์วัสดุสร้างสรรค์เพื่อความยั่งยืน คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา แหล่งรวบรวมตัวอย่างวัสดุเพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ ส่งเสริมทั้งในด้านการเรียนการสอนและงานวิจัย รวมถึงสร้างเป็นธุรกิจและบริการแก่ผู้ที่สนใจ ผู้ประกอบการได้นำไปใช้ต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์

โดยเน้นนำสิ่งไร้มูลค่าทั้งภาคการเกษตร งานหัตถกรรม ภาคอุตสาหกรรมนำมาแปรรูปเป็นวัสดุ คำนึงถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ชวนอัปเดตเทรนด์วัสดุ ค้นงานวิจัยวัสดุเพื่อความยั่งยืน โดย ผศ.นภดล สังวาลเพ็ชร ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบสร้างสรรค์และศิลปกรรมคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาให้มุมมอง

“วัสดุนำมาใช้กันในทุกด้าน ได้รับความสนใจไม่ว่าจะเป็น วัสดุรีไซเคิล วัสดุจากภาคการเกษตร เศษเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมฯลฯ ก็พัฒนาสร้างสรรค์นำมาเป็นวัสดุ รวมทั้งมีเรื่องของการปลูกพืช ปลูกเส้นใยต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้ผลิตเป็นวัสดุที่ให้ความยั่งยืน “การนำมาใช้ก็มีในหลายบริบทที่เห็นโดดเด่นเป็นเรื่องของผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์และมีไปถึงเรื่องการตกแต่งภายใน หรือนำมาเป็นวัสดุก่อสร้าง ฯลฯ กระทั่งเมื่อมีเรื่องของความยั่งยืน โลกร้อน การคิดค้นวัสดุถูกนำกลับขึ้นมาพูดถึง มีการคิดหาแนวทางแนวคิดใช้วัสดุอย่างไรให้มีประโยชน์มากที่สุด ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าโดยเฉพาะการลดใช้ทรัพยากรอย่างไร? ทั้งนี้ถ้ามองในเรื่องของเทรนด์วัสดุ กว่าห้าปีมานี้ในเรื่องของวัสดุมีความตื่นตัว มีนวัตกรรมที่เกี่ยวกับความยั่งยืน

“การนำสิ่งไร้มูลค่าภาคการเกษตรนำมาแปรรูป นำมาสร้างมูลค่าเพิ่ม ผลิตภัณฑ์สินค้าที่เกิดจากวัสดุเหล่านี้ยังคงมีต่อเนื่อง อีกส่วนหนึ่งเป็นวัสดุที่เกิดจากการบูรณาการข้ามศาสตร์ ใช้เทคโนโลยี เทคนิคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทางเคมี ฟิสิกส์ วิทยาศาสตร์ต่าง ๆ หรือแม้แต่วิศวกรรมศาสตร์นำมาทดลองสร้างสรรค์กลายเป็นนวัตกรรมที่น่าสนใจและตอบโจทย์เพื่อโลก”

สำหรับ Silo ศูนย์ฯเราเน้นวัสดุทางธรรมชาติ สิ่งเหลือใช้ภาคการเกษตร เน้นความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมซึ่งที่ผ่านมามีวัสดุที่เกิดขึ้นหลายชนิด นอกจากกระดาษจากสาหร่ายนากุ้งซึ่งเป็นหนึ่งในโปรเจกต์นักศึกษาทำงานร่วมกัน ยังมี กระดาษจากฟางข้าว กระดาษจากผักตบชวา วัสดุจากธรรมชาติ วัสดุรีไซเคิล ฯลฯ ส่งต่อองค์ความรู้ด้านวัสดุเป็นแหล่งค้นคว้าร่วมเซฟโลกสร้างความยั่งยืน.