รวมทั้งข้อมูลจากสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ยังพบว่า ปริมาณขยะพลาสติกสะสมอยู่ในทะเลทั้งหมดรวมกันไม่ตํ่ากว่า 150 ล้านตัน ถ้ายังไม่เร่งแก้ปัญหาจริงจัง ภายในปี 93 โลกจะมีขยะในทะเลนํ้าหนักมากกว่าปลาทั้งหมดในทะเล หรือมากกว่าพื้นดินที่เราอยู่

อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอาหารทะเล อุตสาหกรรมประมง จึงได้ตื่นตัวกับปัญหาดังกล่าว ที่เห็นได้ชัด “บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)” ผู้นำอาหารทะเลของโลก ตื่นตัวในประเด็นนี้อย่างมาก เห็นได้จากการประกาศกลยุทธ์ความยั่งยืน ซีเชนจ์ (SeaChange 2030) เพื่อพลิกโฉมอุตสาหกรรมอาหารทะเล ด้วยการดูแลคนและโลก เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน หลังการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้กลายมาเป็นวาระเร่งด่วนของมนุษยชาติ

“ธีรพงศ์ จันศิริ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือทียู มองว่า วันนี้ไทยยูเนี่ยนมองว่า ความยั่งยืน ถือเป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินธุรกิจ และกลยุทธ์ซีเชนจ์ เปรียบเสมือนใบอนุญาตที่จะทำให้เราดำเนินธุรกิจได้ในโลกปัจจุบัน เพราะการดูแลทรัพยากรของเราด้วยความรับผิดชอบเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อเป็นแหล่งอาหารและอาชีพให้กับประชากรโลกในรุ่นต่อไป ซึ่งมีธีมการทำธุรกิจ คือ Healthy Living, Healthy Oceans ต้องดูแลสุขภาพของคน รวมถึงดูแลสุขภาพของทะเล

“เราเชื่อว่า ถ้าทะเลไม่สมบูรณ์ จะกระทบกับทรัพยากรทะเล ไม่มีทะเล ก็ไม่มีเรา เป็นสิ่งที่เราเห็นว่า สำคัญอย่างยิ่ง รวมถึงเรื่องสภาวะอากาศแวดล้อม เห็นว่า กระทบต่อโลกค่อนข้างมาก อย่างนํ้าท่วม ไฟไหม้ แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด เรื่องพวกนี้กระทบหมด อะไรที่ทำได้ ก็จำเป็นต้องทำ เราพร้อมดำเนินการ เพราะเป็นห่วงอนาคต เราพร้อมจะเป็นส่วนร่วมที่สำคัญ ซึ่งไทยยูเนี่ยนเห็นถึงสถานการณ์และความเร่งด่วนที่จะต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ได้ตั้งงบประมาณ 7,200 ล้านบาท หรือกว่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับกำไรสุทธิที่บริษัทได้รับในปี 65 ทุ่มให้กับการทำกลยุทธ์ความยั่งยืน Sea Changeไปถึงปี 2573 พร้อมตั้งเป้าหมายที่ท้าทาย เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับห่วงโซ่มูลค่าธุรกิจอาหารทะเล”

การเดินหน้ากลยุทธ์ซีเชนจ์ ได้ตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2593 รวมทั้งการทำประมงต้องถูกกฎหมาย 100% อาหารทะเลที่จับจากธรรมชาติต้องถูกต้อง ไม่มีแรงงานทาส ทุกอย่างต้องถูกต้อง ไม่ใช่แค่วัตถุดิบปลาทูน่าเท่านั้น ยังขยายไปยังสัตว์นํ้าอื่น ๆ เช่น กุ้งเพาะเลี้ยงทั้งหมด ต้องส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน้อยที่สุด, วัตถุดิบถั่วเหลืองและนํ้ามันปาล์มจะได้รับการรับรองว่าปราศจากการตัดไม้ทำลายป่า ส่วนวัตถุดิบไก่จะได้รับการจัดหาอย่างมีความรับผิดชอบ

ที่สำคัญคือเรื่องนํ้า ต้องมีกระบวนการผลิตที่เป็นเลิศ เราได้ปรับปรุงระบบภายในโรงงาน ลดการปล่อยนํ้าเสียเป็นศูนย์ ลดของเสียฝังกลบเป็นศูนย์ และลดการสูญเสียอาหารเป็นศูนย์ ในโรงงานหลัก 5 แห่งทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งวันนี้สำเร็จแล้ว 1 แห่ง และจะขยายครอบคลุมไปต่อเนื่อง

นอกจากนี้ยังเดินหน้าลดขยะพลาสติกในทะเล ตั้งเป้าจัดการขยะพลาสติก 1,500 ตันไม่ให้ปนเปื้อนสู่แม่นํ้าลำคลอง และทะเล แม้ว่าเราไม่ได้เป็นเจ้าของเรือประมง แต่เราทำงานร่วมกับเจ้าของเรือในการจัดการปัญหาพวกแห อวน จัดการยังไงให้ถูกต้อง ไม่ให้หลุดออกมาเป็นขยะในทะเล ส่วนการดูโภชนาการและสุขภาพ 100% ของผลิตภัณฑ์ที่เก็บได้ในอุณหภูมิห้อง เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลบรรจุกระป๋อง ภายใต้แบรนด์ของบริษัทจะต้องยึดตามแนวทางด้านโภชนาการ และผลิตภัณฑ์ที่เก็บได้ในอุณหภูมิห้องที่ออกใหม่ทั้งหมดต้องส่งเสริมโภชนาการเชิงบวก เพื่อสุขภาพที่ดี ขณะที่บรรจุภัณฑ์ ต่อไปในปี 68 ผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์สินค้าของบริษัททั้งหมด จะต้องใช้บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน และไทยยูเนี่ยนจะสนับสนุนให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทที่ผลิตให้กับคู่ค้าอย่างน้อย 60% ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน

“อย่างเรื่องนํ้าเป็นเรื่องที่เราภาคภูมิใจมาก โครงการ Zero Discharge Project เป็นการลดการปล่อยนํ้าทิ้งสู่สิ่งแวดล้อมเป็นศูนย์ ซึ่งจะเริ่มนำร่องระบบปฏิบัติการอย่างไม่เป็นทางการแห่งแรกที่โรงงานไทยยูเนี่ยน จ.สมุทรสาครตั้งแต่เดือนก.ย.นี้ เป็นโรงงานแห่งแรกของอุตสาหกรรมประมงโลกที่สามารถบำบัดนํ้าเสียจนสามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ 100% แปลว่าต่อไปไม่มีนํ้าที่ต้องบำบัดออกไปเลย เรามีกระบวนการ คือ 1.การใช้นํ้าให้น้อยที่สุด จะช่วยให้การบำบัดทั้งหลายน้อยลง 2.ต้องเพิ่มเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามา เพื่อสามารถทำให้นํ้าที่บำบัดแล้ว กลับมาใช้ในระบบได้ ไม่ว่าจะเป็นระบบทำความเย็น ระบบเชื้อเพลิง ระบบการผลิตอาหาร เพราะสมัยก่อนขั้นตอนการบำบัดนํ้าอย่างมากก็นำไปล้างพื้น ซึ่งตอนนี้เราใช้ระบบอาร์โอ ที่เป็นระบบนํ้าดื่ม เมื่อกลับเข้ามา ก็สามารถใช้ในระบบได้ 3.นำนํ้าที่บำบัดกลับเอามาใช้เกิดประโยชน์ให้หมด ถือเป็นเรื่องที่ดีช่วยลดภาระในเรื่องของการใช้พลังงาน และใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด กระทบสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด”

มุมธุรกิจปีนี้เป็นปีที่ค่อนข้างท้าทายเห็นได้ว่า ตัวเลข 6 เดือนลดลง ซึ่งท้าทายกับทุกอุตสาหกรรมทั่วโลก เพราะว่าปรากฏการณ์ด้านเศรษฐกิจไม่ค่อยได้เจอแบบนี้มาก่อนไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของความอ่อนแอทางด้านเศรษฐกิจโลก ที่อ่อนแอพร้อมกันทุกภูมิภาคทั้งสหรัฐ ยุโรป และเอเชีย แต่ที่แข็งแรง คือ ตะวันออกกลาง เพราะมีนํ้ามัน ขณะเดียวกันการผลิต ต้นทุนสูงขึ้น ตั้งแต่ก่อนหน้าที่เจอสงคราม ของทุกอย่างแพงหมด เจอต้นทุนการเงินที่สูงขึ้นอย่างมากที่สุดในรอบ 20 ปี ขณะที่กำลังซื้ออ่อนแอ แต่ต้นทุนสูง ราคาขาย ราคาของสินค้าสูงขึ้นทั่วโลก ถือเป็นความท้าทายใหม่ในปีนี้เชื่อว่าจะเป็นปีแห่งการปรับตัวครั้งใหญ่ และในปีหน้ายังท้าทายอย่างต่อเนื่องไปอย่างน้อยอีก 1 ปี ไทยยูเนี่ยมก็พร้อมปรับเปลี่ยนเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว และก้าวไปพร้อม ๆ กัน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในทุก ๆ ด้าน.