รศ. ดร. ภญ. จิราพร ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม กล่าวว่า สภาเภสัชกรรมออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาการระบาดและการตายจากโควิด ด้วยนโยบายที่ชัดเจน 2 ประเด็นใหญ่ที่สำคัญ คือ 1. ยุทธศาตร์การลดอัตราตาย เพื่อให้ระบบบริการสาธารณสุขรับมือได้ ปัจจุบันอัตราการเสียชีวิตจากโรคโควิด 19 วันละประมาณ 50-60 คน หรือ เดือนละประมาณ 1,500-1,800 คน ที่เป็นอยู่ปัจจุบัน โดยเฉพาะในเขตที่มีการระบาดรุนแรง เช่น กรุงเทพและปริมณฑล และ ภาคใต้ มีจำนวนผู้ป่วยรอบริการจำนวนมาก หากมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นกว่านี้ในสองสามเดือนข้างหน้า จะเกินขีดความสามารถของระบบบริการที่จะรองรับได้ และมีผลกระทบต่อระบบบริการและบุคลากรสุขภาพอย่างรุนแรง 

ปัจจุบันอัตราการเสียชีวิต และ ป่วยหนักจากโควิด เป็น กลุ่มผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มี 7 กลุ่มโรคเสี่ยงสูง ในกลุ่มนี้ เมื่อติดเชื้อแล้ว มีความเจ็บป่วยรุนแรงต้องการระบบบริการที่ใช้บุคลากรและทรัพยากรจำนวนมากรองรับ และ ในกลุ่มนี้ มีอัตราตายถึงร้อยละ 10 ในขณะที่กลุ่มอื่นที่เหลือ มีอัตราตายร้อยละ 1  การป้องกันความเจ็บป่วยที่รุนแรงหากติดเชื้อของกลุ่มนี้ โดยเร่งรัดให้ได้รับวัคซีนจึงมีลำดับความสำคัญเร่งด่วน

“สภาเภสัชกรรมจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลรีบประกาศนโยบายการกระจายวัคซีนที่มีอยู่ไปยังกลุ่มผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มี 7 กลุ่มโรคเสี่ยงสูง และต้องเป็นมาตรการเดียวเท่านั้น จนทุกคนในกลุ่มนี้ได้รับวัคซีนหมด ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2 เดือน (ขณะนี้กลุ่มนี้ได้รับวัคซีนเพียง 2 ล้านคนต่อประชากรที่มีอยู่ 17.5 ล้านคน เนื่องจากประเทศไทยมีวัคซีนและระบบบริการสาธารณสุขที่จำกัด จึงขอให้หยุดใช้หลายยุทธศาตร์ในเวลาเดียวกันทั้งกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มโรงงาน กลุ่มพื้นที่เพื่อเปิดการท่องเที่ยง โดยหวังให้เกิดผลดีทางเศรษฐกิจและการคุ้มกันหมู่ ซึ่งต้องใช้เวลานานจนทำให้อัตราตายยังสูง จนระบบบริการสาธารณสุขล่มสลาย” นายกสภาเภสัชกรรม กล่าว

2. ยุทธศาตร์การจัดหาวัคซีน โดยต้องใช้ทุกมาตรการที่มีอยู่ในการจัดหาโดยเร่งด่วน หนึ่งในมาตรการที่สำคัญที่ประเทศไทยทำได้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ แต่ต้องการความกล้าหาญทางนโยบายในการตัดสินใจของผู้มีอำนาจ เช่นเดียวกับที่ นพ.มงคล ณ สงขลา กล้าหาญที่จะประกาศ CL ยาช่วยชีวิตผู้ติดเชื้อเอดส์ โดยการบังคับใช้ มาตรา 4 ซึ่งเป็นอำนาจของรมว.สาธารณสุข และตามมาตรา 18 คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติมีอำนาจประกาศกำหนดเรื่องหนึ่งเรื่องใด ซึ่งมาตรา 18(2) ระบุ “สัดส่วนการส่งออกวัคซีนไปนอกราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ซึ่งต้องเหมาะสมกับสัดส่วน การใช้วัคซีนภายในประเทศ”

“สภาเภสัชกรรมจึงขอเรียกร้องให้รมว.สาธารณสุข และคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ออกระเบียบการส่งออกของโรงงานผลิตวัคซีน โดยให้แอสตร้าเซนนิกา สยามไบโอไซเอนท์ ลดสัดส่วนการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ให้เหมาะสมกับสัดส่วน การใช้วัคซีนภายในประเทศ ในการประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติในวันที่ 14 ก.ค.นี้” รศ. ดร. ภญ. จิราพร กล่าว