ถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ทั่วโลก กำลังตื่นตัวในการแก้ปัญหาเรื่องนี้  ซึ่งภาคอุตสาหกรรม จึงถูกจับตา เป็นหนึ่งในตัวการใหญ่ในการทำลายปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงเป็นภารกิจใหญ่ของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มีหน้าที่กำกับ ส่งเสริมผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ทั้งขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก  ให้ขับคลื่อนธุรกิจ ควบคู่การดูแลสิ่งแวดล้อมในทุกมิติ    

หน้า Sustainable Daily ได้สัมภาษณ์พิเศษ “พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล” รมว.อุตสาหกรรม ฉายภาพถึงบทบาทการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรม ในมุมความยั่งยืนว่า ตั้งแต่วันแรกในการมอบนโยบายให้ผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ยกระดับภาคอุตสาหกรรม ให้เติบโตอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่ม และอุตสาหกรรมสีเขียวให้ควบคู่กันไป เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และต้องดูแลสิ่งแวดล้อมไม่ให้กระทบต่อชุมชน   ที่ไทยวางเป้าหมายสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero ) ปีค.ศ. 2065 หรือพ.ศ. 2608 และสอดคล้องกับนโยบายบีซีจี โมเดล ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ Bio Economy เศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy และเศรษฐกิจสีเขียว Green Economy เพื่อเพิ่มมูลค่า และขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดการเกิดของเสียโดยจัดการใช้ทรัพยากรภายในสถานประกอบการให้เกิดประโยชน์สูงสุด เรื่องได้มอบเร่งด่วนให้หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมพัฒนาผู้ประกอบการทุกขนาดยกระดับไปสู่อุตสาหกรรมที่ยั่งยืนโดยนำ

ที่สำคัญต่อไปกระทรวงอุตสาหกรรมต้องมีบทบาทเป็นหน่วยงานส่งเสริม แทนการกำกับดูแลที่เน้นให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัดให้มากขึ้นด้วย เพื่อให้โรงงานมีความคล่องตัวในการพัฒนากระบวนการผลิตให้มีความทันสมัย มีต้นทุนแข่งขันได้ ควบคู่ไปกับการดูแลชุมชน และสิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมโดยยึดหลัก อุตสาหกรรมเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน เพื่อให้การพัฒนาเศรษฐกิจไทยเป็นไปแบบยั่งยืนที่แท้จริง 

“เรามีกฎหมาย ก็ต้องให้ทุกโรงงานปฏิบัติตามตามกฎหมาย แต่อีกมุมก็ต้องช่วยเหลือให้โรงงานที่ทำไม่ถูก ไปบอกให้ทำให้ถูก ทำอย่างไรให้แนะนำไป ไม่ใช่เป็นคนปราบทุกอย่าง ได้บอกทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมไปแล้วว่า ทุกวันนี้ผู้ประกอบการหลายราย มองกรมโรงงานฯ  แบบหวาดกลัว ต่อไปอยากให้มองมุมใหม่ เป็นการเน้นช่วยเหลือ และสนับสนุนผู้ประกอบการที่ดี แต่ถ้าผู้ประกอบการรายไหน ทำผิดกฎหมาย ไม่มีการแก้ไขก็ต้องใช้กฎหมายเข้าไปจัดการ เพื่อดูแลประชาชนโดยรอบพื้นที่ด้วย เราต้องดูแลในทุกมิติ”

อย่างไรก็ตาม ณ เวลานี้ทั่วโลกกำลังมุ่งไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทำให้ประเทศพัฒนาแล้วกำหนดมาตรการต่างๆในการลดภาวะโลกร้อนที่ทำให้มีระเบียบ ข้อบังคับสำหรับการนำเข้าสินค้าที่เป็นลักษณะกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี(NTB) ดังนั้นผู้ประกอบการไทยต้องเร่งปรับตัวในกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมมุ่งยกระดับผู้ประกอบการผ่านกลไกต่างๆที่จะทำให้การดูแลสิ่งแวดล้อมไม่เป็นภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นหรือเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดดังนั้นวาระเร่งด่วนจึงให้ความสำคัญในทุกมิติ  1.มุ่งเน้นอุตสาหกรรมเป้าหมาย อุตสาหกรรมที่รองรับบริบทการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งด้านการท่องเที่ยว การใช้พลังงานสะอาดและการลดการใช้ฟอสซิล อุตสาหกรรมซอร์ฟ พาวเวอร์  2. การผลักดันให้หน่วยงานกระทรวงอุตสาหกรรมก้าวสู่การเป็นภาครัฐดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อเป็นกลไกในการให้บริการ การขออนุมัติ อนุญาต และบูรณาการการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ในรูปแบบ One Stop Service เพื่อเป็นกลไกในการกำกับดูแลโรงงาน เหมืองแร่ และมาตรฐานอย่างจริงจัง

3. เร่งแก้ปัญหามลพิษทางน้ำ อากาศ และกากของเสีย โดยกำหนดมาตรฐานการปล่อยมลพิษในพื้นที่อุตสาหกรรมหนาแน่นให้เข้มงวดขึ้น การรวมพลังของกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับผู้ประกอบการในการกำกับดูแลแม่น้ำลำคลอง การทิ้งกากอุตสาหกรรม และมาตรฐานความปลอดภัยในการประกอบการต่าง ๆ 4. กำหนดมาตรการแก้ไขฝุ่นมลพิศษพีเอ็ม 2.5 โดยการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า การยกระดับการบังคับใช้มาตรฐานการปล่อยมลพิษไปสู่มาตรฐานยูโร 6 ในรถยนต์เครื่องยนต์สันดาป การกำกับการปลดปล่อยมลพิษทางอากาศจากโรงงานอย่างเข้มงวด การส่งเสริมมาตรการช่วยเหลือชาวไร้อ้อยที่ดูแลพื้นที่เพาะปลูกอ้อยที่ไม่มีการลักลอบเผา ตลอดทั้งการช่วยเหลือโรงงานน้ำตาลที่ไม่รับอ้อยลักลอบเผา และ 5.ขยายการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมโดยใช้แนวทางของการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษหรืออีอีซีในภูมิภาคต่าง ๆ เน้นการใช้พลังงานสะอาด และมาตรการลดราคาที่ดินและบริการเพื่อเป็นกลไกดึงดูดการลงทุนรายใหม่

“ นโยบายที่สำคัญของกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ยกระดับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทุกขนาด ผ่านแนวคิดอุตสาหกรรมเศรษฐกิจ ให้เติบโตอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน ปรับโหมดยกระดับไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อลดโลกร้อนและสอดรับกับบีซีจี โมเดล เพื่อก้าวสู่บริบทการพัฒนาเศรษฐกิจยุคใหม่ ให้เข้มข้นในมาตรฐานการผลิต ใช้เทคโนโลยี อำนวยความสะดวก เพิ่มการติดตาม ซึ่งในด้านสิ่งแวดล้อม ต้องเปิดทางให้ชุมชนมีส่วนร่วม มุ่งขับเคลื่อนภาคการผลิต เติบโตแบบยั่งยืน”.