จากกรณีไม้พะยูงของกลาง 7 ท่อน มูลค่า 1 ล้านบาท หายไปจากเทศบาลตำบลอิตื้อ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ เมื่อต้นเดือน ส.ค.66 ที่ผ่านมา ต่อเนื่องด้วยการพบเหตุตัดไม้พะยูงขายในโรงเรียนและที่ราชพัสดุจำหน่ายหลายแห่ง โดยทุกแห่งเป็นการตัดไม้พะยูงโดยใช้ช่องว่างทางกฎหมาย นอกจากนี้ยังส่อเอื้อประโยชน์ให้บุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐบางคน ขณะที่นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผวจ.กาฬสินธุ์ และนายธวัชชัย รอดงาม รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ กำลังดำเนินการตรวจสอบเส้นทางการตัดไม้พะยูงในโรงเรียนอย่างเข้มข้น ขณะเดียวกันที่มีชาวบ้านผู้รักษ์และหวงแหนไม้พะยูง ส่งข้อมูลการลักลอบตัดและขออนุญาตตัดไม้พะยูงในโรงเรียน มาที่ฝ่ายความมั่นคงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดพบว่ามีการแจ้งเหตุตัดไม้พะยูงในที่ราชพัสดุแล้วจำนวน 12 แห่ง และมีบางอำเภอได้เรียกผู้ซื้อไม้มาสอบปากคำแล้ว ซึ่งให้การที่เป็นประโยชน์ต่อทางราชการ และถูกกันตัวเป็นพยาน ตามข่าวที่เสนอแล้วนั้น

คืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 24 ก.ย. ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากฝ่ายความมั่นคง และชุดเฉพาะกิจติดตามปัญหาตัดไม้พะยูงในโรงเรียน จ.กาฬสินธุ์ ว่า ขณะนี้พบหลักฐานชิ้นสำคัญ ที่จะเป็นกุญแจดอกสำคัญเชื่อมโยงนายทุนจีนแล้ว นั่นคือพ่อค้าที่มาทำสัญญาซื้อขายกับ สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2 หลังจากที่ในเชิงลึก ทราบว่ามีการเปิดเผยข้อมูลกันแล้ว และเข้าใจว่าอยู่ในระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานของคณะกรรมการติดตามเชิงลึก ขณะที่ในส่วนขององค์กรอิสระ คือ ปปท.ขอนแก่น และ ป.ป.ช.ประจำ จ.กาฬสินธุ์ ก็คาดว่าจะได้ข้อมูลค่อนข้างมากเหมือนกัน หากแต่ยังไม่มีรายงานเป็นลายลักษณ์อักษร หรือแม้แต่ทางวาจา โดยเฉพาะในประเด็นการเปิดเผยรายชื่อผู้ซื้อไม้พะยูงในโรงเรียน ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ในรอบ 1-2 ปี ที่ผ่านมา ที่กำลังไล่เช็กรายชื่อกันอยู่ว่าเป็นใครบ้าง

นายวิทยา ปัญจมาตย์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ และในฐานะคณะกรรมการตรวจสอบเชิงลึก กล่าวว่า เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 66 นายณัฐ โก่งเกษร ผู้ตรวจราชการกรมป่าไม้ ได้เดินทางมาติดตามสถานการณ์กรณีการตัดไม้พะยูงในโรงเรียน พื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ตามข้อสั่งการของอธิบดีกรมป่าไม้ ซึ่งได้เข้าพบปะกับ นายธวัชชัย รอดงาม รองผวจ.กาฬสินธุ์ และเข้าพบปะกับตนด้วย เนื่องจากกรณีตัดไม้พะยูงดังกล่าว มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายป่าไม้เข้าไปเป็นกรรมการประเมินราคาขายไม้พะยูง ทั้งนี้ ผู้ตรวจราชการกรมป่าไม้ยืนยัน ยินดีให้การสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการตรวจสอบเชิงลึก ในการติดตามผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยเฉพาะหากผู้กระทำผิดนั้นเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ จะต้องดำเนินการทางวินัย ทางอาญา และทางแพ่ง อย่างถึงที่สุด ตามนโนบายรัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

นายวิทยากล่าวอีกว่า ในส่วนการติดตามขบวนการมอดไม้ และพ่อค้าที่เข้ามารับซื้อไม้พะยูง รวมทั้งไม้ประดู่ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์นั้น จากการติดตามไทม์ไลน์พบว่าน่าจะมีหลายกลุ่มหลายสาย โดยมีนายทุนจีนเป็นหลัก ซึ่งมีใบสั่งเข้ามาเรื่อยๆ นับตั้งแต่ปี 62 เป็นต้นมา โดยธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์เป็นคนให้อนุญาต ซึ่งตามที่ตรวจสอบและสังคมจับตามองในทิศทางเดียวกัน คือเป็นการใช้ช่องว่างทางกฎหมาย หลายปีก่อนเคยเกิดเหตุบ่อยครั้งมากในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ ก่อนที่จะย้ายเข้ามาเกิดเหตุบ่อยครั้งในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ส่งผลให้ภาครัฐเสียประโยชน์จำนวนมหาศาล เพราะประเมินราคาขายต่ำ เชื่อว่าเงินส่วนต่างหายไปจำนวนมาก ขณะที่มีการส่งเงินเข้าหลวงเพียงจำนวนน้อยตามที่ทราบกันทั่วไป.