นางสาวญาติกา แก้วบริสุทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานพิษณุโลก กล่าวว่า เมืองโบราณศรีเทพ นอกจากจะเป็นเมืองที่กว้างใหญ่ไพศาลมากแล้ว ยังเป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ที่มีความเป็นพิเศษยิ่งกว่าพื้นที่อื่น ๆ กล่าวคือ มีร่องรอยทางโบราณคดีหลายยุคหลายสมัยอยู่ในสถานที่เดียวกัน นั่นคือ โครงกระดูกมนุษย์ปลายยุคก่อนประวัติศาสตร์ประมาณพุทธศตวรรษที่ 5-10 จนมาเป็นสมัยที่ก่อตั้งเป็นรัฐแรกเริ่ม ที่ปรากฏมีศิลาจารึกอักษรปัลลวะ และเทวรูปเคารพฮินดูรุ่นเก่าพุทธศตวรรษที่ 11-12 และมีโบราณสถานทางพุทธศาสนาสมัยทวารวดีประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-16 จนกระทั่งมีโบราณสถานศาสนาฮินดูสมัยขอมประมาณพุทธศตวรรษที่ 16-18 แล้วจึงล่มสลายกลายเป็นเมืองร้างไป ซึ่งเมื่อนับระยะเวลาที่ปรากฏร่องรอยที่มีมนุษย์มาตั้งหลักแหล่งอาศัยอยู่บริเวณนี้ จะมีเวลาต่อเนื่องทางวัฒนธรรมกันมายาวนานนับ 1,000 ปี

เมืองโบราณศรีเทพ ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของ UNESCO นั้น มี 3 บริเวณด้วยกัน คือ บริเวณภายในเมือง ที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ทั้งเมืองในและเมืองนอก ซึ่งจะมีโบราณสถานที่สำคัญคือ เขาคลังใน ปรางค์ศรีเทพ ปรางค์สองพี่น้อง และหลุมฝังศพมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ฯลฯ บริเวณเขาคลังนอก มหาสถูปทวารวดี รูปแบบมณฑลจักรวาล และเจดีย์บริวาร ที่อยู่นอกเมือง และเขาถมอรัตน์ ที่มีผนังถ้ำด้านบน แกะสลักเป็นพระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์ สมัยทวารวดี

คุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากลของเมืองโบราณศรีเทพนั้น นอกจากจะมีโบราณวัตถุและโบราณสถานที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์เป็นอย่างยิ่งแล้ว ยังเป็นการแสดงถึงภูมิปัญญาความชาญฉลาดของคนสมัยโบราณ ในการบริหารจัดการน้ำที่นำมาใช้ในตัวเมือง และการที่เลือกเอาบริเวณเมืองโบราณศรีเทพ ที่มีคุณลักษณะของพื้นที่ที่เหมาะสมเป็นพิเศษและเป็นศูนย์กลางการติดต่อกันของชุมชนโบราณระหว่างฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก ให้เป็นที่ตั้งหลักแหล่งต่อเนื่องกันมาช้านาน จนปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีว่า มีอารยธรรมหลายยุคหลายสมัยซ้อนทับต่อเนื่องกันมาในสถานที่เดียวกัน และด้วยเหตุนี้เอง จึงเกิดการพัฒนาฝีมือช่างในศิลปะด้านต่าง ๆ เป็นของตัวเองที่เรียกกันว่า สกุลช่างศรีเทพ จึงสมควรและเหมาะสมเป็นอย่างยิ่งที่จะอนุรักษ์เมืองโบราณศรีเทพให้เป็นมรดกโลก

นอกจากเมืองโบราณศรีเทพแล้ว เพชรบูรณ์ยังมีมหัศจรรย์ธรรมชาติทางธรณีวิทยาอย่าง อุทยานธรณีเพชรบูรณ์ด้วย เพราะความที่ตั้งอยู่ในแนวเคลื่อนตัวเข้าหากันของอนุทวีป คือ อินโดไชน่า ทางตะวันออก และ ชาน-ไทย ทางตะวันตก จึงเกิดสิ่งมหัศจรรย์ธรรมชาติทางธรณีวิทยาที่หลากหลายขึ้นมามากมาย โดยกระจายไปทั่วพื้นที่บนแผ่นดินเพชรบูรณ์ทั้งหมด 22 จุด อาทิ ถ้ำใหญ่น้ำหนาว ถ้ำบันทึกโลก บ้านห้วยลาด ผารอยตีนสัตว์ดึกดำบรรพ์อาร์โคซอร์ บ้านนาพอสอง แคนยอนน้ำหนาว มหัศจรรย์เปลือกโลก หลังวัดโคกมน เลยดั้น ลานหินมหัศจรรย์ บ้านห้วยกะโปะ ผาแดง แหล่งรอยเลื่อน ขอบเปลือกโลก บนเขาริมทางหลวง 12 จุดชมวิวถ้ำผาหงส์ ชมร่องรอยการเคลื่อนตัวเข้าหากันของ 2 เปลือกโลก เขตอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว สะพานห้วยตอง สะพานเชื่อมแผ่นดิน บนทางหลวง 12

ฟอสซิลปลาน้ำจืด บ้านหนองปลา และบ้านท่าพล น้ำตกธารทิพย์ ชั้นหินจากทะเลเป็นภูเขา โนนหัวโล้น หล่มสัก ประติมากรรมธรรมชาติ ภูเขาหินปูนปะการัง บ้านเขาเพิ่มพัฒนา ถ้ำผาโค้ง ผาเจ็ดสี บ้านโนนตูม หอยตะเกียง 280 ล้านปี บ้านวังปลา และบ้านซับชมภู ฟิวซูลินิด คตข้าวสาร วัดถ้ำเทพบันดาล บ้านลำจังหัน และสำนักสงฆ์เต็มสิบ น้ำตกเสาหินอัคนี น้ำตกซับพลู บ้านซับเจริญ สุสานหอยน้ำจืด 15 ล้านปี บ้านน้ำเดือด บ่อน้ำเดือดบ่อน้ำผุด บ้านน้ำเดือด ท้องทะเลดึกดำบรรพ์ บ้านยางจ่า และบ้านซับชมภู ท่อนไม้กลายเป็นหิน บ้านท่าพล หินคลอน ไข่พญานาค วัดโนนน้ำทิพย์ ไดโนเสาร์น้ำหนาว และพิพิธภัณฑ์ธรณีเพชรบูรณ์

ไปตระเวนไม่ครบสามารถเข้ามาชมที่ พิพิธภัณฑ์ธรณีเพชรบูรณ์ ตั้งอยู่ในอุทยานวิทยาศาสตร์หนองนารี ซึ่งแหล่งเรียนรู้ที่จัดแสดงองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์สาขาต่าง ๆ ในทุก ๆ ด้าน โดยเป็นส่วนที่มีการสะสม จัดเก็บและจัดแสดง วัตถุที่มีความสำคัญทางธรณีวิทยาและธรรมชาติวิทยา ที่มีการค้นพบในพื้นที่เพชรบูรณ์ เช่น ซากฟอสซิล ซากดึกดำบรรพ์ หินและวัตถุทางธรณีวิทยา ฯลฯ

และหากไปเพชรบูรณ์ช่วงเดือนตุลาคมนี้ ชวนแวะไปร่วมงาน “ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ ประจำปี 2566” ณ พุทธอุทยานเพชรบุระ วัดไตรภูมิ และวัดโบสถ์ชนะมาร อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ 10-19 ตุลาคม 2566

หนึ่งเดียวในประเทศไทยที่มีตำนานเล่าขานมากว่า 400 ปี เมื่อชาวบ้านกลุ่มหนึ่งที่ออกหาปลาในแม่น้ำป่าสักได้พบเหตุอัศจรรย์ขึ้น คือ กระแสน้ำในบริเวณวังมะขามแฟบ มีพรายน้ำผุดขึ้นมาทีละน้อยจนแลดูคล้ายน้ำเดือด จากนั้นกลายเป็นวังวนดันเอาองค์พระพุทธรูปองค์หนึ่งลอยขึ้นมาเหนือน้ำ ทำให้ชาวประมงต้องลงไปอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นมาประดิษฐานไว้ที่วัดไตรภูมิ ในปีถัดมาตรงกับวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 ซึ่งเป็นวันประเพณีสารทไทย พระพุทธรูปองค์ดังกล่าวได้หายไป ชาวบ้านต่างพากันตามหา สุดท้ายไปพบพระพุทธรูปกำลังดำผุดดำว่ายอยู่กลางแม่น้ำป่าสักบริเวณที่พบ จึงได้ร่วมกันอัญเชิญขึ้นมาประดิษฐานที่วัดไตรภูมิอีกครั้งหนึ่ง พร้อมร่วมกันถวายนามว่า “พระพุทธมหาธรรมราชา” หลังจากนั้นต่อมาในวันสารทไทย หรือวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 เจ้าเมืองเพชรบูรณ์จะทำพิธีอัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชาลงประกอบพิธีดำน้ำเป็นประจำทุกปี โดยเชื่อว่าจะทำให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล ประชาชนมีความสุข บ้านเมืองปราศจากโรคระบาดคุกคาม.