“คุณจะรู้สึกเย็นสบายเมื่ออยู่ใต้ร่มกันแดด เมื่อใช้แล้วคุณจะไม่ปล่อยมือจากมัน” นายฮิโรยูกิ โคมิยะ วัย 54 ปี เจ้าของร้านโคมิยะ โชเทน ซึ่งคุณปู่ของเขาเป็นคนเปิดกิจการเมื่อ 93 ปีที่แล้ว กล่าว

โคมิยะ โชเทน เคยเป็นหนึ่งในร้านขายร่มทำมือ 70 แห่ง ในย่านนิฮงบาชิ พื้นที่ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นใจกลางของกรุงโตเกียวอันเก่าแก่ ทว่าในตอนนี้ ทั่วเมืองหลวงของญี่ปุ่นมีร้านขายร่มเหลืออยู่ไม่กี่แห่ง เนื่องจากร่มพลาสติกราคาถูกที่ผลิตในจีนมีวางจำหน่ายอยู่ตามร้านสะดวกซื้อ

อย่างไรก็ตาม ร่มของโคมิยะ โชเทน มีความแตกต่างจากผลิตภัณฑ์คู่แข่งที่ผลิตออกมาเป็นจำนวนมาก นั่นคือ การใช้สิ่งทอคุณภาพที่ผลิตในญี่ปุ่น และกระบวนการผลิตแบบทำมือ โดยกลุ่มช่างฝีมือของบริษัทซึ่งมีเทคนิคที่ใช้กันมาตั้งแต่ยุคเมจิ หรือช่วงปี 2411-2455

นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ของพวกเขายังประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยเคลือบผ้าด้วยวัสดุที่สามารถกันแสงได้เกือบ 100% ซึ่งแม้ร่ม 1 คัน จะมีราคาหลักพัน แต่มันก็มีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าร่มพลาสติกราคาถูก

อนึ่ง ร่มญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมทำจากไม้ ไม้ไผ่ และกระดาษที่เรียกว่า “วาชิ” เคลือบด้วยนํ้ามันเพื่อป้องกันฝนที่ตกหนักบ่อยครั้งในประเทศ อีกทั้งการทำร่มประเภทนี้ยังใช้เวลานานหลายสัปดาห์ด้วย

ตามข้อมูลของสมาคมส่งเสริมร่มแห่งญี่ปุ่น การนำเข้าร่มแบบตะวันตก เริ่มขึ้นเมื่อปี 2402 หลังจากประเทศยกเลิกนโยบายแยกตัวโดดเดี่ยว หรือ “ซาโกกุ” ที่มีมายาวนาน 220 ปี ซึ่งในเวลานั้น ร่มตะวันตกถือเป็นเครื่องประดับแฟชั่นราคาแพง แต่มันก็แพร่หลายไปทั่วญี่ปุ่นในสมัยเมจิ เพราะผู้ผลิตท้องถิ่นมองเห็นช่องว่างในตลาด

กระนั้นธุรกิจดังกล่าวมาถึงจุดสูงสุดในช่วงปลายทศวรรษที่ 1960 เมื่อร่มคู่แข่งที่มีราคาถูกกว่า เริ่มตีตลาดเข้ามาจากประเทศอื่น ๆ ในทวีปเอเชีย ส่งผลให้ผู้ผลิตร่มชาวญี่ปุ่นหลายรายเลิกกิจการ แม้แต่โคมิยะ โชเทน ก็เกือบปิดร้านของตัวเองเช่นกัน

แต่ท้ายที่สุดธุรกิจครอบครัวของโคมิยะ พบช่องทางในการทำร่มที่ “หรูหรา” รวมถึงการสร้างเว็บไซต์ที่ดูเรียบหรู และนำเสนอบนสื่อสังคมออนไลน์เพื่อเชิดชูทักษะของพวกเขา จนกระทั่งธุรกิจเริ่มพลิกฟื้นกลับมาเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว และผลิตภัณฑ์ของพวกเขา ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลโตเกียว ในปี 2561 ว่าเป็น “งานฝีมือแบบดั้งเดิม”.