เมื่อวันที่ 14 ก.ย. นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ และรักษาการรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กรณีที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ให้เป็นประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ ยึดเอาแนวทางของศาลรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ ว่า ตลอดเวลา 4 ปีของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา มีการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายร่าง แต่ในที่สุดหลายฉบับตกไป และมีหลายฉบับที่ค้างการพิจารณาของรัฐสภา วาระ 2 และวาระ 3 ในที่สุดไปอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งตัดสินว่าอำนาจการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องใช้อำนาจของประชาชน ดังนั้น ถ้าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องไปถามประชาชนก่อนจึงจะแก้ได้ ทำให้ในทางปฏิบัติ ต้องมีการสอบถามประชาชนก่อนว่าจะแก้หรือไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งถ้าแก้ จะแก้ด้วยกระบวนการแบบไหน อย่างไร ดังนั้นถ้าไม่สร้างความชัดเจนตรงนี้ให้จบก่อน แต่ละกระบวนการก็จะไม่คืบหน้า ส่วนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ หมวด 1 และหมวด 2 นั้น รัฐบาลยืนยันว่าจะไม่แก้ไขในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์

“แต่ปัญหาที่มีอยู่ คือเรื่องเกี่ยวกับการได้มาซึ่งอำนาจในระบบประชาธิปไตย ได้มาอย่างไร และทำให้กระบวนการเอื้ออำนวยต่อการบริหารประเทศ ต่อการรักษาสิทธิเสรีภาพประชาชน ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำคือให้มีคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อให้มีความคิดเห็นที่หลากหลายในการช่วยกันคิดและทำให้กระบวนการเดินหน้าไปได้ หาจุดที่พอดีให้เดินหน้า หากเราสามารถพูดคุยส่วนต่างๆ ได้ จะค่อยๆ แกะไปทีละเปลาะ แล้วนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ และจะเป็นการเปิดประตูบานแรก จนได้รัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น” นายภูมิธรรม กล่าว

นายภูมิธรรม กล่าวว่า เราต้องเริ่มจากความเป็นจริง เพราะถ้าจะแก้อะไรที่หักหาญ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้เปิดอำนาจให้ ถ้าจะทำโดยไม่คำนึงถึงคนที่เห็นต่างทุกฝ่าย ก็จะไม่สามารถแก้ไขได้ จึงต้องมีการพูดคุยกันเพื่อหาความพอดี เพราะทุกฝ่ายยอมรับว่าการแก้รัฐธรรมนูญ ควรทำให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ส่วนจะทำวิธีใด จะเป็นการประนีประนอมของทุกฝ่ายเพื่อแกะที่ละปม โดยหลังจากนี้ ตนจะเร่งแต่งตั้งกรรมการที่มาจากทุกฝ่ายตามที่นายกฯ สั่งการ ให้ดึงการมีส่วนร่วมของทุกคนเข้ามา และให้รายงานให้ทราบอย่างต่อเนื่อง

เมื่อถามว่าการได้มาซึ่งคำถามที่จะให้ทำประชามติ จะใช้เวทีรัฐสภาหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า เวทีรัฐสภาจะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะคุย ซึ่งถ้าเห็นพ้องกันทุกฝ่าย ก็เป็นจุดเริ่มต้นว่า คนที่เป็นตัวแทนของคนในสังคมพอใจกับสิ่งนี้ แล้วนำไปสู่การตัดสินของประชาชน ซึ่งถ้าเห็นด้วยเลย ก็จะเป็นไปด้วยดี แต่ถ้ามีความเห็นต่าง ก็นำความเห็นต่างมาปรับปรุงเพื่อลดช่องว่างความเห็นต่าง

ต่อข้อถามว่ามีกรอบหรือไม่ว่าต้องใช้เวลาเท่าไหร่จึงจะเริ่มทำประชามติ นายภูมิธรรม กล่าวว่า นายกฯ กำชับอยากให้ตนที่คลุกคลีเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ไปดึงความคิดเห็นต่างๆ เข้ามา ซึ่งอาจเริ่มต้นจากการนำทีมที่ปรึกษาของแต่ละพรรคการเมืองมาพูดคุยกัน แล้วขยายตัวไปสู่กลุ่มวิชาชีพ ซึ่งถ้าเห็นพ้องกันทั้งกลุ่มธุรกิจ ประชาชน และข้าราชการ ก็จะทำให้การขยับไปสู่การลงประชามติไม่ยากลำบาก