ผมจึงทดลองทำดูบ้าง แล้วก็พบว่าอารมณ์โศกเศร้าค่อย ๆ ผ่อนคลาย แถมความอ่อนแอจากนํ้าตาของลูกผู้ชายก็ยังถูกปกปิดไว้จากละอองนํ้าที่ไหลลงมาแบบไม่ขาดสาย ซึ่งผมลองเล่นฉากนี้อยู่นาน 15 นาที และลองวัดปริมาณนํ้าที่ถูกปล่อยทิ้งไป ปรากฏว่าจะต้องใช้นํ้าไปมากถึง 150 ลิตร ที่ใกล้เคียงกับการแช่ตัวในอ่างอาบนํ้า ซึ่งนับว่าสิ้นเปลืองนํ้ามาก ๆ และเมื่อลองคำนวณ carbon footprint ก็ได้ผลลัพธ์เท่ากับ 30 กิโลกรัม ซึ่งหมายความปริมาณนี้ เราจะต้องปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2 ต้น เพื่อดูดซับคาร์บอนนี้ให้หมดไปภายในเวลา 1 ปี

ซึ่งยังไม่นับว่า นํ้าประปา 1 ลิตรโดยปกติจะสร้าง water footprint ราว 0.5 ลิตร ซึ่งในยุค El Nino ในภาวะโลกรวนที่เราต้องเผชิญขณะนี้ นํ้าเป็นทรัพยากรธรรมชาติสำคัญที่มีอยู่จำกัดและกำลังขาดแคลน โดยถ้าเราไปดูระดับนํ้าของเขื่อนต่าง ๆ ในปีนี้ ถือว่าน่าเป็นห่วงกว่าปี พ.ศ. 2556 ที่เคยเกิดวิกฤตินํ้าแล้งครั้งใหญ่ ซึ่งในปี พ.ศ. 2566 นี้ น่าจะรุนแรงกว่ามาก โดยนํ้าเพื่อการเกษตรจะขาดแคลนอย่างหนัก ข้าวที่กำลังราคาดีในตลาดโลกก็จะถูกกดดันให้ลดจำนวนรอบที่จะปลูก ขณะที่นํ้าที่ใช้ในอุตสาหกรรม ถ้าไม่จัดการให้ดี ๆ ก็จะเป็นข้อพิพาทการแย่งนํ้ากับเกษตรกร รวมถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ อาจจะร้ายแรงถึงขั้นทำให้ขาดแคลนนํ้าดื่มนํ้าใช้ในครัวเรือน ที่อาจจะมีไม่พอใช้ตลอดเวลาสำหรับทุกคน

นอกจากนี้กับภาวะขาดแคลนนํ้านี้ ยังอาจจะทำให้อาหารที่มี water footprint สูง อาจจะเกิดความไม่มั่นคงและอาจขาดแคลนได้ เพราะในขบวนการผลิตอาหารนั้น ต่างก็ต้องใช้ทรัพยากรนํ้านั่นเอง อาทิ เนื้อวัว 1 กิโลกรัม ต้องใช้นํ้า 15,000 ลิตร, ข้าว 1 กิโลกรัม ต้องใช้นํ้า 3,000 ลิตร, ไข่ 1 โหล ต้องใช้นํ้า 2,400 ลิตร, กาแฟ 1 ถ้วย ต้องใช้นํ้า 140 ลิตร, นม 1 แก้ว ต้องใช้นํ้า 200 ลิตร, ไวน์ 1 แก้ว ต้องใช้นํ้า 110 ลิตร เป็นต้น ด้วยเหตุนี้เอง ท่ามกลางวิกฤตินํ้าแล้ง อาหารที่ใช้นํ้าน้อยในขบวนการผลิตจึงเป็นสิ่งจำเป็น เช่น กล้วย 1 กิโลกรัม จะใช้นํ้าเพียง 790 ลิตร และมัน 1 กิโลกรัม จะใช้นํ้าแค่ 287 ลิตรเท่านั้น ดังนั้น ทาง UN จึงบอกว่าในภาวะโลกเดือดเช่นนี้ อาหารแห่งอนาคตคือ “มันและกล้วย” เพราะในภาวะนี้จะมีเพียงมหาเศรษฐีเท่านั้นที่จะซื้อข้าวทานได้ อีกทั้งเมื่อราคาอาหารและภาษีถูกเก็บตาม water footprint ที่ใช้ในการผลิต กรณีนี้ก็น่าจะถึงเวลาที่เราต้องช่วยกันประหยัดนํ้า

ทั้งนี้ จากภาวะน่ากังวลที่เกิดขึ้น ทาง การประปานครหลวง (กปน.) จึงได้พัฒนา “ฉลากประหยัดนํ้า” เบอร์ 3 เบอร์ 4 และเบอร์ 5 ขึ้นมา โดยแบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1.ก๊อกนํ้าอ่างล้างหน้า-ล้างมือ 2.ก๊อกนํ้าอ่างล้างจาน 3.ฝักบัว 4.โถส้วมหรือชักโครก โดยก๊อกนํ้าทั่วไปที่ผ่านมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) จะมีอัตรานํ้าไหลผ่านเฉลี่ยที่ 6 ลิตรต่อนาที ส่วนก๊อกนํ้าที่มีฉลากประหยัดนํ้าเบอร์ 3 นั้น จะมีอัตรานํ้าไหลผ่านอยู่ที่ 4-6 ลิตรต่อนาที ขณะที่ฉลากประหยัดนํ้าเบอร์ 4 จะมีอัตรานํ้าไหลผ่าน 2-4 ลิตรต่อนาที และกับฉลากประหยัดนํ้าเบอร์ 5 นั้นจะมีอัตรานํ้าไหลผ่านแค่ 0.5-2 ลิตรต่อนาที ดังนั้นก๊อกนํ้าเบอร์ 5 จึงช่วยเราประหยัดนํ้าได้มากถึง 12 เท่า ยิ่งเมื่อนำมารวมกับอุปกรณ์อื่น ๆ อีกก็จะยิ่งช่วยประหยัดนํ้าใช้ไปได้มากกว่าครึ่งเลยทีเดียว

ซึ่งปัจจุบันนี้มีอุปกรณ์ที่ได้รับฉลากมาตรฐานประหยัดนํ้าของ กปน. ไปแล้ว จำนวน 257 รุ่น และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคตอันใกล้ ทั้งนี้ การประหยัดนํ้าในบ้านถือเป็นการรักษ์โลก และยังประหยัดเงินในกระเป๋าของทุกคนได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม นอกจากการใช้อุปกรณ์ที่ช่วยประหยัดนํ้าแล้ว ตัวของท่านก็ควรสำรวจตรวจจุดที่อาจจะมีนํ้ารั่วไหลภายในบ้าน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสูญเสียนํ้าไปโดยไม่เกิดประโยชน์ ซึ่งเรื่องนี้ทุกท่านสามารถติดต่อขอรับคำแนะนำได้ที่ สายด่วน กปน. MWA Call Center 1125 หรือผ่านทาง MWA on mobile ได้ตลอด 24 ชม. โดยที่สำคัญนั้น ทุกท่านก็ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมใช้นํ้าในชีวิตประจำวันของตัวท่านเองด้วย หรือเมื่อใดที่อกหัก ก็อย่าไปอาบนํ้าฝักบัวทิ้งเปล่า ๆ แบบในละครเลยนะครับ.