เมื่อวันที่ 13 ก.ย. นายเสรี สุวรรณภานนท์ สว. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลตั้งนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เป็นผู้รับผิดชอบตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติ ว่า เรื่องดังกล่าวคงไม่ใช่การยื้อเวลา หลังจากที่รัฐบาลระบุว่าในการประชุม ครม. นัดแรก จะมีแนวทางการออกเสียงประชามติเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ เพราะเป็นสิ่งที่ควรทำ และหลังจากที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ระบุต่อรัฐสภาว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะไม่แก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ถือเป็นคำพูดที่คลี่คลายความขัดแย้งลงได้ ส่วนการตั้งคณะทำงานศึกษาแนวทางการทำประชามตินั้น ถือว่าเป็นหน่วยงานที่จะเป็นเจ้าภาพในการเริ่มดำเนินการ

เมื่อถามว่า คณะทำงานศึกษาแนวทางทำประชามตินั้นควรประกอบด้วยฝ่ายใดบ้าง นายเสรี กล่าวว่า ตนมองว่าไม่ควรมีกลุ่มที่เห็นต่าง เพราะอาจทำให้การดำเนินงานเดินหน้าไม่ได้ ดังนั้นการศึกษาเรื่องดังกล่าว ควรหาทางให้เดินหน้าได้ ต้องยอมรับว่าประเด็นที่เกิดขึ้นอาจจะสร้างความพอใจหรือไม่พอใจและแต่ละพรรคกการเมือง อาจจะคิดเห็นไม่เหมือนกัน ดังนั้นในการทำงานต้องคิดเพื่อให้ทำอย่างไรให้เดินหน้าให้ได้

เมื่อถามว่า ก่อนหน้านี้กลุ่มประชาชน 2.5 แสนคน เสนอคำถามประชามติให้รัฐบาลพิจารณา ถือว่าเป็นพันธะกับรัฐบาลหรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า รัฐบาลต้องรับไปพิจารณาด้วย เพราะเป็นประเด็นที่ภาคประชาชนดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งพิจารณาด้วยความรอบคอบ ไม่ให้เกิดปัญหาตามมาภายหลัง ส่วนประเด็นที่ทางไอลอว์ร่วมสนับสนุนคำถามประชามติให้แก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ผ่านกลไกของสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งนั้น ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับประเด็นดังกล่าว.