ซึ่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย เป็นหนึ่งในเศรษฐกิจฐานรากที่สำคัญด้วยจำนวนผู้ประกอบการกว่า 3.2 ล้านราย มีแรงงานภาคเอสเอ็มอีอีกกว่า 12 ล้านราย รวม 15.2 ล้านราย คิดเป็น 23% หรือเกือบ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศ แต่สัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ภาคเอสเอ็มอี มีเพียง 35% ของจีดีพีทั้งประเทศ

หากมองลึกลงไปจะพบว่า ผู้ประกอบการรายย่อยที่มีจำนวนกว่า 85% ของจำนวนผู้ประกอบการทั้งหมด มีสัดส่วนจีดีพี เพียง 3% เท่านั้น ความเหลื่อมลํ้าที่ต้องรู้ ต้องตามให้ทัน รวมถึงมาตรฐาน ESG (อีเอสจี)  ซึ่งเป็นเกณฑ์การวัดธุรกิจด้านความยั่งยืน ต้องการพัฒนาวงจรคู่ขนานกัน เพื่อการพัฒนาขีดความสามารถเอสเอ็มอี  ไม่เช่นนั้นต่อไปการทำธุรกิจในอนาคตจะประสบปัญหาทั้งด้านต้นทุน การถูกกีดกันทางการค้า

ประเด็นนี้ “แสงชัย ธีรกุลวาณิช” ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ในฐานะผู้ครํ่าหวอดวงการเอสเอ็มอีมองว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย มีความรู้เรื่องอีเอสจีในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นขนาดเล็กและขนาดกลาง ส่วนกลุ่มที่เป็นไมโคร หรือกลุ่มย่อย ส่วนใหญ่เป็นบุคคล อาจไม่ค่อยให้ความสำคัญมากนัก ซึ่งในอนาคตหากเอสเอ็มอีไทย ไม่มีการปรับตัวจะได้รับผลกระทบ เพราะต่อไปอีเอสจีจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ภาวะเรือนกระจก การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซเรือนกระจก

สิ่งเหล่านี้ เป็นทั้งโอกาสและอุปสรรค จะเป็นโอกาสหากเราปรับตัวได้ และใช้ประโยชน์เป็น และจะเป็นอุปสรรคหากเราปรับตัวไม่ได้ ไม่สามารถนำพาธุรกิจของเราไปสู่สังคมคาร์บอนตํ่าได้ เนื่องจากผลกระทบที่เกิดจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงจะทำให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ส่งผลกระทบกับเรื่องการเพาะปลูก และเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถดูแลและจัดการได้โดยง่าย เราต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้เราสามารถดำรงอยู่ได้ จึงจำเป็นต้องส่งเสริมให้เอสเอ็มอี ภาคเอกชน และส่วนของราชการเข้าใจและช่วยกันขับเคลื่อนให้กระบวนการดำเนินธุรกิจเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ถือเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องนำมาใช้เป็นกุญแจที่จะไขถอดรหัสปลดล็อกความเหลื่อมลํ้าให้เอสเอ็มอีไทยก้าวพ้นอย่างจริงจังเร่งด่วนด้วยทักษะ 4 ด้าน คือ 1.ทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต มีความตื่นรู้ เป็นผู้นำที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาขีดความสามารถตนเอง และองค์กรอย่างต่อเนื่องสมํ่าเสมอ 2.ทักษะความเป็นผู้ประกอบการที่มีองค์ความรู้ ทางดิจิทัลเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการขับเคลื่อนธุรกิจ ยกระดับศักยภาพธุรกิจด้วยเรียนรู้การบริหารความเสี่ยง การวางแผนธุรกิจบริหารจัดการสมัยใหม่

3.ทักษะการบริหารจัดการทางการเงิน สร้างวินัยทางการเงิน พัฒนาคุณภาพหนี้ครัวเรือน ลดหนี้เสียและหนี้นอกระบบ ปลดพันธนาการหนี้ สร้างอิสรภาพทางการเงินด้วยการไม่สร้างหนี้สินเกินกำลัง มีความสามารถในการเข้าถึงแหล่งทุนต้นทุนตํ่า

4.ทักษะการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การสร้างภูมิคุ้มกันให้กับชีวิต ครอบครัวและองค์กร การปลูกฝังความซื่อสัตย์ คุณธรรม จริยธรรมในการประกอบอาชีพ ดำเนินธุรกิจด้วยความพอเพียง ประหยัด มีเหตุผล ไม่อาเปรียบสังคม

ทุกธุรกิจมุ่งเป้าให้ความสำคัญตื่นตัวกับการขับเคลื่อน “ESG” หรือ “สิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล” ในองค์กรตามแนวคิดของต่างชาติ หากแต่การบริบทประเทศไทยที่จะขับเคลื่อนสร้างคนไทย ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย แรงงานไทยด้วย

“หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ตามแนวพระราชดำริรัชกาลที่ 9 นับเป็นแนวทางที่เหมาะสมในการเชื่อมโยงให้เข้าถึง เข้าใจและนำไปพัฒนาทุกภาคส่วนได้อย่างลึกซึ้ง และไม่เพียงแต่ถอดรหัสเอสเอ็มอีด้วย “เศรษฐกิจพอเพียงสู่ความยั่งยืน” แต่ยังหมายถึงทุกธุรกิจและทุกภาคส่วนที่อยู่ร่วมกันในระบบเศรษฐกิจ และประเทศไทย

โดยยึดหลักความประหยัด ลดค่าใช้จ่ายไม่จำเป็นในทุกด้าน ลดละความฟุ่มเฟือยในการใช้ชีวิต และการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า การประกอบอาชีพ กิจการ ทำงานด้วยความถูกต้อง ซื่อสัตย์สุจริต ลดละเลิกการแก่งแย่งผลประโยชน์ที่เอารัดเอาเปรียบธุรกิจขนาดเล็กกว่าและแข่งขันกันในทางการค้าแบบต่อสู้กันอย่างรุนแรง ต้องไม่หยุดนิ่งที่จะหาวิธีการให้ชีวิตหลุดพ้นจากความทุกข์ยาก ด้วยการแสวงหาความรู้ให้มีรายได้เพิ่มพูนขึ้นจนถึงขั้นพอเพียงเป็นเป้าหมายสำคัญ “ไม่ใช่ทำธุรกิจหรือทำงานใช้หนี้ทั้งชีวิต” รวมทั้งปฏิบัติตนในแนวทางที่ดี ลดละสิ่งชั่ว ประพฤติตนตามหลักศาสนา

นี่คือ “เศรษฐกิจพอเพียง รหัสไม่ลับที่ขยับเอสเอ็มอีก้าวสู่ความยั่งยืน”.