นายเผชิญศักดิ์ แก้วเขียว ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุพรรณบุรี เขต 2 เปิดเผยว่า ปัจจุบันปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีความรุนแรงมากขึ้น สาเหตุหนึ่งจากการเพิ่มจำนวนประชากรมนุษย์ซึ่งทรัพยากรธรรมชาตินั้นมีอยู่อย่างจำกัดแต่ความต้องการของมนุษย์มีอยู่อย่างไม่จำกัด ทำให้ถูกถูกบุกรุกทำลายเป็นคู่ขนานเพื่อสนองความต้องการความสะดวกสบาย นำไปสู่ปัญหาการเผาแผ้วถางลักลอบตัดไม้ทำลายป่า ปัญหาภาวะโลกร้อน ปัญหาอุทกภัย ปัญหาภัยแล้ง ปัญหามลภาวะเป็นพิษทางอากาศ ปัญหาน้ำเน่าเสีย ปัญหาดินเสื่อมสภาพ และปัญหาขยะ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุพรรณบุรี เขต 2 ได้แก่ โรงเรียนในพื้นที่อำเภออู่ทองอำเภอสองพี่น้องและอำเภอดอนเจดีย์ จำนวน 132 โรงเรียน จึงมอบหมายให้กลุ่มนิเทศติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา และทีมคนต้นน้ำเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการทำวิจัย เรื่อง การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของสถานศึกษาในสังกัด เพื่อนำผลที่ได้จากการวิจัยมาเผยแพร่การบริหารจัดการขยะที่ดี การจัดสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติในสถานศึกษาที่เอื้อต่อการจัดการเรียนการสอนที่เป็นมิตรกับธรรมชาติเป็นแบบอย่างให้กับโรงเรียนในสังกัดนำไปพัฒนาปรับปรุงโรงเรียนต่อไป

ด้าน นายณัฐพงษ์ พันธุ์ขะวงศ์ ศึกษานิเทศก์ชำนาญการ สพป.สุพรรณบุรี เขต 2 ผู้รับผิดชอบโครงการวิจัยการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของสถานศึกษา กล่าวว่า ได้เตรียมความพร้อมด้านต่างๆไว้นานแล้ว แต่ต้องเลื่อนมาหลายครั้งเนื่องจากมีการแพร่ระบาดของโควิด–19 และขณะนี้ยังไม่มีใครบอกได้ว่าการแพร่ระบาดจะยาวนานแค่ไหน ตนจึงจัดประชุมคณะวิจัยทีม “คนต้นน้ำ” จำนวน 12 คน เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจถึงกรอบการทำวิจัยโดยยึด“5R5S GREEN Model” ซึ่งสนองรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จุดเน้น สพฐ. ปี 2564 และจุดเน้นสำนักงานการประถมศึกษาประถมศึกษาสุพรรณบุรี เขต 2

สำหรับการการวิจัยในครั้งนี้เป็นการสำรวจเชิงคุณภาพ เป็นการศึกษารวบรวมข้อมูลการจัดการสิ่งแวดล้อมของสถานศึกษาในสังกัดมีวิธีปฏิบัติบริหารจัดการขยะประเภทต่างๆอย่างไร การสร้างความรู้ความเข้าใจ การสร้างจิตสำนึกในการจัดการขยะให้กับนักเรียน บุคลากร และการสร้างกลไกให้เกิดความร่วมมือในภาคส่วนต่างๆ ซึ่งข้อมูลที่ได้จะมาจากผู้บริหารสถานศึกษาทางหนึ่งและครูผู้รับผิดชอบโครงการเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีกทางหนึ่ง คาดว่าเมื่อผลการวิจัยเสร็จเรียบร้อยแล้วจะเป็นเสมือนแผนที่นำทางให้กลุ่มคนและองค์กรต่างๆเกิดความตระหนัก มีความตื่นตัว นำไปสู่ความร่วมมือในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม มีการปรับปรุงภูมิทัศน์สิ่งแวดล้อมให้สวยงาม ให้มีความร่มรื่น น่าอยู่ น่าทำงาน และน่าเรียน สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ในโรงเรียนและขยายไปสู่ชมชน นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีของพลเมืองในโรงเรียน พลเมืองในชุมชนและพลเมืองในชาติต่อไปในอนาคต.