จากที่ผ่านมานำร่องเป็นเจ้าแรกที่เริ่มติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปบนหลังคาแบบเบ็ดเสร็จทั้งหมู่บ้าน และคอนโดมิเนียม ให้ลูกบ้านผลิตไฟไฟฟ้าใช้ฟรีในบ้าน ยังติดตั้งระบบพร้อมที่จะขายไฟคืนให้การไฟฟ้าได้ทันทีที่ระบบรับซื้อไฟคืนพร้อม รวมทั้งติดตั้งจุดชาร์จรถอีวีไว้ในตัวบ้าน คิดเผื่อให้ในอนาคตลูกบ้านต้องซื้อรถอีวี ผสมผสานกับการออกแบบที่อยู่อาศัย เพื่อลดการใช้พลังงาน

แน่นอนผู้ลุกขึ้นมาปรับเปลี่ยนหรือการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ในสังคมย่อมได้รับความสนใจ แง่มุมของการทำธุรกิจทำไมต้องทำ ทำแล้วได้อะไร ลงทุนแล้วคุ้มค่าแค่ไหน? หน้า Sustainable Daily ได้สัมภาษณ์มุมมอง “ดร.ยุ้ย-เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ถึงแนวคิดในการทำบ้านพลังงานเป็นศูนย์ว่า จะตอบโจทย์ในยุคซื้อบ้านในภาวะค่าไฟแสนแพงอย่างไร?

ซื้อบ้านแล้วเงินในกระเป๋าไม่ลด

“สถานการณ์โลกร้อน และปัญหาเรื่องวิกฤติพลังงานที่เกิดขึ้นจะมีผลต่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยในอนาคต ซึ่งทางเสนาฯ มุ่งมั่นพัฒนาที่อยู่อาศัยที่คิดละเอียดใส่ใจและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้อยู่อาศัยแบบครบวงจรมากยิ่งขึ้น บนพื้นฐานของความยั่งยืน พร้อมต่อยอดธุรกิจใหม่ตอบรับเมกะเทรนด์ของโลกในยุคปัจจุบัน และการขับเคลื่อนธุรกิจในทุกมิติ เพื่ออนาคต”

วิธีคิดเราคิดแบบละเอียดในการทำโปรดักส์ ที่ทำให้เหมาะกับปัจจุบัน คนตัดสินใจซื้อบ้านจะเลือกว่า จะซื้อหลังเล็ก หลังใหญ่ ดีไซน์แบบไหน เราทำแค่นี้ก็ได้ คนจะเลือกตัดสินใจว่า ซื้อบ้านแบบไหน แต่วันนี้อยากให้เขามองอีกเรื่องหนึ่งที่คนส่วนใหญ่คนยังไม่ได้มอง เพราะยังไม่ได้เข้าไปอยู่ คือ เรื่อง “ค่าไฟ” ที่ต้องจ่ายเท่าไร หน้าร้อน หน้าหนาว แต่ละห้องเป็นอย่างไร แต่เราพยายามมองว่า เมื่อเข้ามาอยู่แล้ว นอกจากลดค่าใช้จ่าย แล้วยังช่วยเรื่องรักษ์โลกด้วย

“เกษรา” เล่าว่า บ้านของเสนาฯ คือ sustainability รวมถึงคอนโดฯ จุดเริ่มต้นสร้างบ้านพลังงานเป็นศูนย์ มีสูตรการคิดที่ชัดเจน เปรียบเทียบได้ว่า จ่ายค่าไฟศูนย์บาท แต่ในความเป็นจริงไม่มีบ้านหลังไหนที่ใช้พลังงานเป็นศูนย์ แต่วันนี้เราค่อย ๆ ทำเปรียบเทียบกับค่าไฟ เมื่อก่อนจ่ายค่าไฟ 1,000 บาท ต่อมาจ่ายเหลือ 800 บาท ต่อไปเหลือ 600 บาท ถ้าวันไหนก็ตามที่พลังงานใช้เท่ากับ 0 แสดงว่าวันนั้นค่าไฟที่เคยจ่าย 1,000 บาท จะจ่าย 0 บาททันที แม้คอนโดฯ จะทำได้ยากกว่าบ้าน แต่ใช้หลักการออกแบบเติมให้มีความอัจฉริยะ เช่น มีระบบเปิดปิดไฟอัตโนมัติในพื้นที่ส่วนกลาง การติดตั้งโซลาร์เซลล์ การสร้าง smart mobility สนับสนุนสิ่งอำนวยความสะดวกมีรถอีวีรับส่งไปยังระบบขนส่งสาธารณะ รวมถึงจัดชาร์จรถอีวีที่ผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ในพื้นที่คอนโดฯ ที่มีระบบกำหนดเวลาไม่ให้จอดแช่จนคนอื่นใช้ไม่ได้ มีค่าปรับหากจอดเกินเวลา

“มั่นใจว่า เทรนด์นี้ใช่ เพราะดูจากเทรนด์โลกไปในแบบนี้ ยิ่งมีข้อมูลมาซัพพอร์ต เพิ่มความรู้สึกดีเข้าไป เราปักหมุดเลย หน้าที่เราพิสูจน์ให้ลูกค้าเห็นว่ามันดีนี่คือที่มา”

“สร้างบ้านพลังงานเป็นศูนย์”ญี่ปุ่นมี ก.ม.บังคับ

ประเทศไทยได้ประกาศถ้อยแถลงต่อที่ประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP26) ว่าจะบรรลุเป้าหมาย ความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ภายในปี พ.ศ. 2593 นั่นหมายความว่า ในภาคการผลิตหรือการบริโภค ปริมาณการปล่อยคาร์บอนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศเท่ากับปริมาณคาร์บอนที่ถูกดูดซับกลับคืนมาผ่านป่า หรือวิธีการอื่น

เกษรา บอกว่า ได้เห็นตัวอย่างในประเทศญี่ปุ่น ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แล้วไม่ลดการใช้พลังงานจาก 100 เหลือ 70 จะต้องเสียค่าปรับ ภายใน 3 ปี ยังไม่ทำ ต้องเลิกทำธุรกิจเลย ถือเป็นภาคบังคับไปแล้ว ซึ่งประเทศไทยและญี่ปุ่นมีเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนเท่ากันคือในปีพ.ศ. 2593 แต่เมื่อย้อนมาดูในบ้านเรา ร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ พ.ร.บ.โลกร้อนยังไม่ออกมา ตอนนี้ที่ญี่ปุ่นมีบ้านพลังงานเป็นศูนย์แล้ว เขาอยู่บนโลกใบเดียวกับเรา มีกฎหมายบังคับใช้ ดังนั้นรัฐต้องเริ่มต้นออกมาเพื่อมาควบคุม เพื่อให้เกิดการแข่งขันทางธุรกิจที่เท่าเทียมกัน เมื่อ พ.ร.บ. Climate change ออกไม่ได้ จะไม่มีตัวภาคบังคับ ขณะเดียวกันอย่าลืมว่า “บ้าน” เป็นสินค้าที่ขายอยู่ในประเทศ แต่เรามีสินค้าที่ส่งออก บางประเทศเขาไม่เอาถ้าไม่ใช่ “สินค้าที่รักษ์โลก” ทำให้เราเสียโอกาสในการแข่งขัน โดยที่เราไม่สามารถจะวัดเป็นตัวเงินได้จริงจัง

จับมือจุฬาฯ กำหนดเป้าลดใช้พลังงานในบ้าน

นอกจากนี้ได้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ ตามแนวทาง ZEH (Zero Energy House) โดยร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อวิจัยพัฒนาแนวทางการลดพลังงานภายในที่อยู่อาศัยให้เป็นตามไปเป้าหมาย จากผลวิจัยแบ่งผู้ที่ใช้ไฟฟ้าออกเป็น 3 กลุ่มคือ

1.กลุ่มที่ใช้ไฟฟ้าสูง โดยบ้านพลังงานเป็นศูนย์ ที่ติดโซลาร์สามารถลดค่าไฟฟ้าได้ 55% เมื่อเทียบบ้านทั่วไป

2.กลุ่มที่ใช้ไฟปานกลาง บ้านพลังงานเป็นศูนย์ ที่ติดโซลาร์สามารถลดค่าไฟฟ้าได้ 70% เมื่อเทียบบ้านทั่วไป

3.กลุ่มที่ใช้ไฟน้อย บ้านพลังงานเป็นศูนย์ ที่ติดโซลาร์สามารถลดค่าไฟฟ้าได้ 90% เมื่อเทียบบ้านทั่วไป

“โมเดล ZEH ที่เรานำมาใช้ในโครงการบ้านเสนา โดยเริ่มจาก โครงการบ้านเดี่ยวย่านรามอินทรา กม.9 บางนา-กม.29 และเสนา วิลล์ วงแหวน-บางบัวทอง มีเป้าหมายเพื่อลดภาระการใช้พลังงานให้กับลูกบ้านของเสนาได้ไม่ตํ่ากว่า 20%  นับจากนี้บ้านรุ่นใหม่ของบริษัททุกหลังจะไม่ใช่แค่บ้านโซลาร์เซลล์ จะกลายเป็นบ้านพลังงานเป็นศูนย์หมด บ้านติดตั้งโซลาร์เซลล์จึงกลายเป็นธรรมดาไปแล้ว”

ประเด็นที่เป็นโจทย์ยาก คือเรื่องราคาบ้าน เนื่องจากในประเทศญี่ปุ่นที่บริษัท ฮันคิว ทำโครงการอยู่ หากนำเข้ามาประยุกต์ใช้กับโครงการเสนาฯ ราคาบางอย่างแพงขึ้นถึง 30-50% ถ้าบ้านแพงขึ้น เราขายไม่ได้ เหมือนตอนทำบ้านเสนาโซลาร์ครั้งแรก ถ้าเราไม่คิดอะไรเลย ราคาบ้านตอนนั้นแพงขึ้น 10-15% ทำให้เราต้องหาพันธมิตรจากแบงก์เข้ามาเป็นตัวช่วยการติดตั้งโซลาร์ในบ้านของเสนา ผ่านเงื่อนไขการสนับสนุนอัตราดอกเบี้ย

แนวคิดไปสู่บ้านพลังงานเป็นศูนย์ มีการพัฒนา 3 แบบด้วยกันคือ 1. Active Design ออกแบบอาคารให้มีความยั่งยืนด้านการใช้พลังงาน โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น เซ็นเซอร์ควบคุมระบบไฟฟ้า การใช้แอร์ประหยัดพลังงาน 2.Passive Design การออกแบบอาคารให้สอดคล้องกับทิศทางลม แสงแดด 3.มีระบบผลิตพลังงานใช้เอง เช่น พลังงานจากแสงอาทิตย์

ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่น่าสนใจ สำหรับการขับเคลื่อนสู่สังคมคาร์บอนตํ่า.