นอกจากข่าวปิดตำนานในสังคมการเมืองแล้ว ยังมีข่าวการปิดตำนานอื่น ๆ อีก เช่น การปิดตัวของ นสพ.สยามกีฬา ที่เราคุ้นเคยกว่า 38 ปี ซึ่งก้าวสู่ยุคออนไลน์เต็มรูปแบบ และอีกข่าวเป็นการปิดตำนานจับเสือใส่ถังพลังสูงของแบรนด์ ESSO ที่อยู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนานถึง 129 ปี โดยได้ผนึกกำลังแปลงร่างเป็นบางจาก เพื่อพัฒนาความมั่นคงและยั่งยืนของพลังงานไทย ทั้งหมดนี้สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงที่เป็นสิ่งปกติของธรรมชาติ ไม่ว่าจะถูกใจหรือไม่ แต่ทุกสรรพสิ่งย่อมเกิดขึ้น เป็นอยู่ ดับไป และเกิดขึ้นใหม่หมุนเวียนไป ซึ่งถ้าเราเข้าใจวงจรชีวิตของสรรพสิ่ง ก็จะสามารถปรับปรุงและพัฒนาให้ดีขึ้นสู่ความยั่งยืนได้

ทั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ถูกก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2545 หรือประมาณต้นศตวรรษที่ 21 ในช่วงที่แนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนกำลังก่อตัวจากการจุดประกายปัญหาของโลกที่ไม่ยั่งยืน ในการประชุมนานาชาติของ UN ที่กรุงรีโอเด
จาเนโร ในปี พ.ศ. 2535 ทำให้เกิดความคิดที่จะตั้งหน่วยงานระดับกระทรวงเพื่อดูแลประชาชนตั้งแต่เกิดจนตาย ตลอดจนช่วยสร้างความเข้มแข็ง เสมอภาค ลดความเหลื่อมลํ้าที่มีในสังคม ด้วยการปรับเปลี่ยนจากการสงเคราะห์ ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของรัฐเพียงผู้เดียวไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ที่มีความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน โดยในขณะนั้นการตั้งกระทรวง พม. ถือเป็นความคิดที่ทันสมัยมาก และไม่เพียงหน่วยงานรัฐที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่นักธุรกิจไทยที่ไปร่วมการประชุมในครั้งนั้น ก็กลับมาก่อตั้ง องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Thailand Business Council for Sustainable Development : TBCSD) โดยมี สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เป็นกลไกในการทำงานด้านความยั่งยืน

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2550 ยุคที่ อ.ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เป็นรองนายกรัฐมนตรีด้านสังคม และ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เป็นรัฐมนตรี พม. จึงได้เริ่มเชื่อมโยงมิติการพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจเข้าด้วยกัน โดยก่อตั้ง ศูนย์ส่งเสริม CSR ขึ้นมาเป็นองค์กรที่รับผิดชอบต่อสังคม ที่กระทรวง พม. และร่วมกับ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ก่อตั้ง สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม CSRI (Corporate Social Responsibility Institute) เพื่อให้ความรู้เรื่อง CSR ที่ไม่ใช่แค่การคืนกำไรด้วยการบริจาค แต่เป็นการปรับปรุงการดำเนินธุรกิจให้เป็นองค์กรที่ดี มีความรับผิดชอบ มีธรรมาภิบาล และดูแลสิ่งแวดล้อมกับสังคมตลอดห่วงโซ่ธุรกิจ โดยเวลาต่อมาบริษัทชั้นนำในตลาดหลักทรัพย์ ที่มีผู้บริหารด้าน CSR ได้รวมตัวกันขึ้นเป็น CSR Club ซึ่งนับเป็นการขับเคลื่อน CSR และการพัฒนาที่ยั่งยืนครั้งใหญ่ของสังคมไทยในปี พ.ศ. 2552

และได้ขยายการขับเคลื่อนนี้ไปสู่เครือข่ายต่าง ๆ ทั้งสภาพัฒน์ สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า สมาคมธนาคารไทย รวมถึงขยายความร่วมมือไปสู่นานาชาติ ด้วยการไปร่วมก่อตั้ง CSR ASEAN Network ในปี พ.ศ. 2553 และประเทศไทยยังเป็นเจ้าภาพในการวาง Road map ด้าน CSR กับการพัฒนาสังคมของ ASEAN ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 เป็นต้นมา และในขณะที่กลไกและเครือข่ายด้าน CSR ในภาคธุรกิจกำลังอินเทรนด์ และก้าวหน้าขยายเครือข่ายไปเรื่อย ๆ จากยุคแรกที่ถูกกดดันโดย NGO และต่อมาถูกกดดันโดยกฎหมายและมาตรการรัฐ จนปัจจุบันเป็นปัจจัยสำคัญในการลงทุนนับเป็นยุคที่ถูกผลักดันโดยนักลงทุน และอีกไม่นานก็จะถูกกดดันมากขึ้นโดยลูกค้าและผู้บริโภค ที่ต่างเรียกร้องเรื่องความยั่งยืน

ทั้งนี้ ขณะที่กลไก CSR ของภาคเอกชนก้าวหน้าไปเร็วมาก แต่กลไก CSR ของภาครัฐนั้นกลับแผ่วลงไปช่วงหนึ่ง หลังจากการเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในยุคต่อมา ส่งผลให้งาน CSR และงาน SE งานวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ได้เริ่มต้นไว้ ก็หยุดชะงักลงไปพักหนึ่ง จนในปี พ.ศ. 2559 กระทรวง พม. ได้ปัดฝุ่น โครงการส่งเสริม CSR ขึ้นมาอีกครั้ง โดยได้แต่งตั้ง คณะกรรมการ CSR แห่งชาติ และมีเป้าหมายที่จะมี ศูนย์ CSR ประจำจังหวัด ให้ครบทุก ๆ จังหวัด โดยในปีนั้นมีการตั้ง ศูนย์ CSR จังหวัดราชบุรีขึ้นมาเป็นแห่งแรก จนปัจจุบัน 6 ปีผ่านไป น่าดีใจเป็นอย่างยิ่งที่วันนี้เรามีศูนย์ CSR ที่สร้างความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนครบถ้วนในทุก ๆ จังหวัดแล้ว โดยการร่วมประชุมกันของผู้บริหารศูนย์ CSR ทุกจังหวัดนั้นมีประเด็นสำคัญอะไรบ้าง วันนี้ก็อยากจะมาเล่าให้ผู้อ่านทุกท่านได้รับทราบกัน ซึ่งในงานสัมมนาครั้งนี้ นอกจากผู้บริหารกระทรวง พม. แล้ว ยังมีนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้าน CSR เช่น อ.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ, อ.วรวุฒิ ไชยศร, คุณชินชัย ชี้เจริญ, คุณธวัช หมักเต๊ะ และผม อ.สุกิจ อุทินทุ ร่วมกันพูดคุยในประเด็นต่าง ๆ ที่สำคัญต่าง ๆ ดังนี้

1.เข้าใจ เข้าใจอย่างแท้จริงว่า CSR คืออะไร CSR ไม่ใช่แค่การบริจาค โดย CSR ยุค 1.0 ถึง 5.0 นั้น ยุค 1.0 คือการบริจาค ยุค 2.0 คือการทำโครงการเพื่อสังคม ยุค 3.0 เป็นการทำ CSR ให้อยู่ในยุทธศาสตร์และขบวนการดำเนินธุรกิจ ยุค 4.0 เป็นการร่วมมือกันเพื่อเป็นเครือข่ายให้เกิด Impact และ ยุค 5.0 คือความยั่งยืน ตามมิติ SDG 17 ข้อ 2.เข้าถึง ปรับ mindset การทำงานแบบภาครัฐเดิม ๆ ที่เป็นการสั่งการจากบนลงล่าง เปลี่ยนมาเป็นการเข้าถึงประชาชน ฟังเสียง ฟังความต้องการของ stakeholder ทำฐานข้อมูลชุมชน และสร้างการมีส่วนร่วม จากล่างสู่บน จากรากหญ้าสู่นโยบาย และสุดท้ายคือ3.พัฒนา มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นวัตกรรมการพัฒนาที่เกิดขึ้นในจังหวัดต่าง ๆ และในประเทศอื่น ๆ ที่มีปัญหาใกล้เคียงกัน สร้างความร่วมมือระหว่างจังหวัด เพื่อให้เกิด Impact ตามนโยบาย นอกจากนั้น ในที่ประชุม ทาง คุณอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวง พม. ได้กล่าวว่า ’ถึงเวลาแล้วที่ CSR จะสามารถช่วยเหลือผู้คนอย่างมีนัยสำคัญ การมีเยื่อใย ความเอื้ออาทร เชื่อมโยงกันในพื้นที่ จะมีความชัดเจนในการเข้าถึง เพื่อการช่วยเหลือคนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ทำให้ศูนย์ CSR จึงมีบทบาทที่สำคัญยิ่ง“

ทั้งนี้ ในการบรรยายเรื่อง “CSR 5.0 จากสังคมสงเคราะห์ สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” นั้น ผมเล่าให้พี่น้องที่มาจากทั่วประเทศฟังว่า จากความฝันเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ที่อยากจะเห็นกระทรวง พม. ขับเคลื่อนเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ในวันนี้ผมรู้สึกดีใจมากที่มีศูนย์ CSR ครบทุกจังหวัดแล้ว และถ้าเราช่วยกันทำให้ศูนย์ CSR ระดับจังหวัดนี้ มีพลัง เราก็จะสามารถเชื่อมโยงภาครัฐกับภาคเอกชน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนและสังคม และสามารถช่วยเหลือผู้คนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และร่วมกันก้าวสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ โดยผมยังได้เน้นยํ้ากับ พมจ. ทุก ๆ จังหวัดว่า ท่านสามารถแนะนำเพื่อน ๆ ให้ติดตามความรู้เรื่องความยั่งยืนได้ที่ เดลินิวส์ Sustainable Daily หน้า 4 วันอังคาร-วันศุกร์ และใน เดลินิวส์ออนไลน์ หน้า Sustainable นะครับ หรือถ้าใครอยากอ่านเรื่องอะไร หรืออยากแลกเปลี่ยนเรื่องราวเกี่ยวกับความยั่งยืน ก็สามารถส่งอีเมลมาได้ที่ [email protected]

CSR Man