มูลค่าการออกผลิตภัณฑ์การเงินเพื่อความยั่งยืน (ตราสารหนี้และเงินกู้) ทั่วโลกในปี 2565 และช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 ลดลงจากที่เคยสูงสุดในปี 2564 เนื่องจากการธนาคารกลางทั่วโลกยังคงขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อชะลอเงินเฟ้อ รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศจีน

สำหรับประเทศไทย มูลค่าการออกผลิตภัณฑ์การเงินเพื่อความยั่งยืนยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง มาจากการออกตราสารหนี้ Sustainability Bond ของภาครัฐบาล เพื่อใช้ในโครงการเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากการระบาดของโรคโควิด-19 ลำดับถัดมาได้แก่ การออกผลิตภัณฑ์การเงินเพื่อความยั่งยืนในประเภท Green และ Sustainability-Linked เช่นเดียวกับต่างประเทศ

ในช่วงที่เหลือของปี 2566 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการออกผลิตภัณฑ์การเงินเพื่อความยั่งยืนมีโอกาสตํ่ากว่าปีก่อนหน้า แต่อย่างไรก็ตามเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลและโครงการลงทุนต่าง ๆ เดินหน้า ภายใต้นโยบายส่งเสริมการลด GHG ในมิติต่าง ๆ รวมถึงความตื่นตัวของภาคเอกชน ทำให้มีโอกาสกลับมาเห็นกิจกรรมการออกผลิตภัณฑ์การเงินเพื่อความยั่งยืนที่คึกคักขึ้น

ปัจจัยสนับสนุนการเงินเพื่อความยั่งยืนในประเทศไทย หน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงินได้ออก Thailand Taxonomy ฉบับที่ 1 เพื่อจัดหมวดหมู่กิจกรรมที่เป็นตามเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยให้มีการจัดกิจกรรมเพื่อขอผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อความยั่งยืนง่ายขึ้น โดยThailand Taxonomy ฉบับที่ 1 ครอบคลุมกิจกรรมในภาคพลังงานและภาคขนส่งซึ่งมีสัดส่วนการปล่อย GHGs ประมาณ 70% รวมถึงใช้หลักเกณฑ์ที่เทียบเท่าระดับสากล อย่างไรก็ดีหากมีการจัดหมวดหมู่ตามเกณฑ์จะส่งผลให้หลายธุรกิจเข้าข่ายกิจกรรมที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะภาคขนส่งที่ยังต้องพึ่งพายานยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และกลุ่มขนส่งสินค้าที่ยังมีข้อจำกัดของเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า

น.ส.ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

แผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศเป็นศูนย์ภายในปี 2608 จะช่วยส่งเสริมให้มีการลงทุนด้านความยั่งยืนมากขึ้น โดยแผนพลังงานชาติ ตั้งเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจะต้องเป็นอย่างน้อย 30% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศ และเพิ่มปริมาณการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเป็นสัดส่วน 30% ของปริมาณการผลิตทั้งหมด ภายในปี 2573

การสนับสนุนของภาครัฐและนักลงทุนรายใหญ่มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมตลาดการเงินเพื่อความยั่งยืน เช่น การยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีจากการลงทุน การสนับสนุนดอกเบี้ยจ่าย การลดระยะเวลาการพิจารณาขออนุญาต และหรือการมี SLA ของการขออนุญาตต่าง ๆ ที่ชัดเจน ฯลฯ จะช่วยให้ผู้ออกตราสารเห็นถึงประโยชน์ของการหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อความยั่งยืนมากขึ้น รวมถึงการลงทุนด้านความยั่งยืนของกองทุนขนาดใหญ่ อาทิ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ จะเป็นตัวอย่างให้ผู้ร่วมตลาดเห็นถึงการให้ความสำคัญของการลงทุนด้านความยั่งยืน

สุดท้ายแล้วถึงแม้การดำเนินการข้างต้นจะช่วงส่งเสริมให้การเงินเพื่อความยั่งยืนในระยะเริ่มต้นได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังต้องคำนึงถึงข้อจำกัดในการดำเนินการด้านความยั่งยืนของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กอย่าง SMEs ด้วย อาจต้องอาศัยกลไกด้านการเงินอื่น ๆ มากกว่า อาทิ การสนับสนุนเงินทุน ต้นทุนตํ่ารวมถึงกลไกการคํ้าประกันสินเชื่อจากภาครัฐผ่านธนาคารพาณิชย์ โดยเริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนมาสู่การใช้พลังงานสะอาดหรือพลังงานหมุนเวียน ซึ่งต้องดำเนินควบคู่กับการให้ความรู้ความเข้าใจในการดำเนินการด้านความยั่งยืนให้ผู้ประกอบการมีข้อมูลนำมาตัดสินใจดำเนินธุรกิจ เช่น การวัด Footprint และเทคโนโลยีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่เป้าหมายความยั่งยืน มีประสิทธิภาพ ต่อเนื่องและราบรื่นขึ้น.