เริ่มสงสัยกันว่า ต้องจดทะเบียนอย่างไร หรือขอบเขตในการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอย่างไร ไม่ให้กลายเป็นประเด็นดราม่าใหญ่โตซํ้ารอยแบบกรณีนี้ แทนที่จะสร้างความจดจำในด้านดีกับผู้บริโภค กลายเป็นสร้างความจดจำด้านตรงกันข้ามทันที! รวมทั้งยังเป็นโอกาสดีในการสร้างจิตสำนึกของคนไทย ในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาอย่างความยั่งยืน

หลังเกิดดราม่าใหญ่โต ทีม Sustainable daily จึงได้สายตรงไปยัง “ทักษอร สมบูรณ์ทรัพย์” ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกฎหมาย ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา มาร่วมถอดบทเรียน “ปังชา” ทรัพย์สินทางปัญญาที่ผู้ประกอบการควรรู้? แบบฉบับที่เข้าใจง่าย ๆ ว่า ทุกวันนี้การแข่งขันทางธุรกิจมีมากขึ้น ผู้บริโภคไม่ได้ดูแค่ราคาถูก โจทย์สำคัญจะเน้นดูเรื่องสินค้าที่โดนใจ แก้ปัญหาได้ตรงจุดกับผู้บริโภค ราคาแพงกว่าก็สู้ จึงทำให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนการค้า เริ่มให้ความสำคัญในการจดทะเบียนทางการค้า เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดการจดจำสินค้าแบรนด์ตัวเองได้

ทั้งนี้ปัจจุบันผู้ประกอบการไทยตื่นตัว และให้ความสำคัญกับเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเป็นอย่างมาก โดยมีการยื่นคำขอจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา กับกรมฯ มากกว่า 60,000 คำขอต่อปี นอกจากจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแล้ว ยังนำทรัพย์สินทางปัญญาไปต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างเป็นรูปธรรม จึงอยากให้ผู้ประกอบการไทยศึกษา ไปใช้ในเชิงพาณิชย์เต็มประสิทธิภาพ

 เราต้องรู้ก่อนว่า ทรัพย์สินทางปัญญามีหลายชนิด แต่ละชนิดคุ้มครองผลงานจากความคิดในด้านที่แตกต่างกัน สิ่งที่ผู้ประกอบการขาดไม่ได้ คือ “เครื่องหมายการค้า” เพราะเป็นสิ่งที่ให้ผู้บริโภคจดจำ แยกแยะว่า สินค้านี้เป็นของใคร อาจจะเป็นภาพ ตรา ชื่อ คำ ข้อความ ตัวหนังสือ ตัวเลข ลายมือชื่อ กลุ่มของสี รูปร่างหรือรูปทรงของวัตถุ เสียง เช่น ได้ยินเสียง ตือ ตื๊อ ตึด จะรู้ทันทีว่า เป็นของสินค้าประเภทไหน หรือสิ่งเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่ง

แต่มีเงื่อนไขหนึ่งที่สำคัญ คือ หากเครื่องหมายการค้านั้น มี ชื่อทางภูมิศาสตร์ เช่น กรุงเทพ, หนองมน, สยาม หรือเป็น คำสามัญ เช่น ทอง, International หรือ คำที่เล็งถึงสินค้าและบริการ หมายถึง คำอธิบายว่าขายอะไร ใช้แล้วเป็นอย่างไร ผู้ใช้งานเป็นใคร เช่น cool ใช้กับฟิล์มกรองแสง, แซ่บ ใช้กับร้านอาหาร, lady ใช้กับสินค้าสำหรับผู้หญิง, รูปวัว ใช้กับนม คำเหล่านี้ จะต้องถูกสั่งให้ “สละสิทธิ” แต่จะรับจดทะเบียนได้ในภาพรวม เป็นคำที่คิดมาเอง ที่ไม่ใช่คำนั้นโดด ๆ ได้

สำหรับการสละสิทธิคำ หรือข้อความในเครื่องหมายการค้า หมายความว่า เจ้าของเครื่องหมายไม่สามารถห้ามคนอื่นใช้คำ ๆ นี้ได้ หากเครื่องหมายการค้านั้น ต้องสละสิทธิคำบางคำแล้วไม่เหลืออะไรที่เป็นลักษณะเด่นได้เลย จะทำให้เครื่องหมายการค้านั้นจดทะเบียนไม่ได้ แต่หากเครื่องหมายนั้นประกอบไปด้วยหลายภาคส่วน เช่น มีข้อความ รวมกับภาพ แล้วข้อความที่ต้องสละสิทธิเป็นเพียงข้อความเล็ก ๆ ยังเหลือภาพที่โดดเด่นอยู่เช่นนี้ จะจดทะเบียนเครื่องหมาย
การค้านั้นได้ แต่จะได้แบบภาพรวม คือ ไม่สามารถหวงกันคนอื่นใช้ข้อความนั้นโดด ๆ หากนำมาวางประกอบกับภาพที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่จดได้ ถ้านำมาใช้กับสินค้า และบริการที่ใกล้เคียงกันจนผู้บริโภคเกิดความสับสนหลงผิดว่า ใครเป็นเจ้าของกันแน่ แบบนี้ยังสามารถฟ้องละเมิดเครื่องหมายการค้าได้อยู่

ที่สำคัญต้องไม่นำภาพของผู้อื่น มาเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้า ไม่ว่าจะนำมาตรง ๆ หรือดัดแปลงมาอีกที หากนำมาใช้เป็นเครื่องหมายการค้า โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของภาพ จะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ และเครื่องหมายการค้าที่มีส่วนใดส่วนหนึ่งละเมิดลิขสิทธิ์จะไม่สามารถรับจดทะเบียนได้ หรือหากจดทะเบียนไปแล้วก็ยังถูกร้องเพิกถอนเครื่องหมายการค้านั้นได้

หลังจากออกแบบเครื่องหมายการค้าเสร็จแล้ว ควรตรวจสอบก่อนว่า เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่คนอื่นจดไว้หรือไม่ โดยเข้าไปเช็กได้ที่ www.ipthailand.go.th /application DIP e-Service แล้วอัปโหลดภาพนั้น เพื่อให้ระบบเอไอประมวลผลว่า มีเครื่องหมายอะไรบ้างที่จดทะเบียนไว้แล้ว และอาจเหมือน หรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่คิดขึ้นมา ถ้าไม่เหมือนคล้ายกับของใคร ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ อาจมายื่นที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา หรือจะยื่นออนไลน์ ผ่านระบบ E-Filing ได้

หากได้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้อย่างไร ขอให้ใช้เครื่องหมายการค้าในรูปแบบตามที่ได้รับการจดทะเบียนไว้เท่านั้น พยายามสร้างความจดจำผู้บริโภค ใช้เครื่องหมายเดิม ๆ สังเกตได้ว่า บริษัทใหญ่ ๆ จะใช้เครื่องหมายการค้าเดิมลักษณะเดียวมาโดยตลอด จะเปลี่ยนก็ต่อเมื่อต้องการรีแบรนด์ใหญ่เท่านั้น ขณะเดียวกันไม่นำเครื่องหมายการค้าไปใช้ปะปนกับชื่อสินค้าของตนเอง เช่น เอาชื่อร้านไปตั้งเป็นเมนูเด็ดของร้าน หรือเรียกชื่อตัวสินค้านั้น เหมือนเครื่องหมายการค้าของตัวเอง เพราะอาจส่งผลให้เครื่องหมายการค้าที่เราจดได้กลายเป็นคำสามัญ ผู้บริโภคเข้าใจว่า คำนั้นกลายเป็นชื่อ หรือประเภทของสินค้านั้นไปแล้ว ไม่เป็นที่จดจำเท่าไรนัก และควรรู้จักทรัพย์สินทางปัญญาอื่นไว้ด้วย เช่น ลิขสิทธิ์ และสิทธิบัตร พบเจอบ่อยในการทำธุรกิจเช่นกัน.