นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ภาคเอกชนมีความเป็นห่วง เรื่องปัญหาภัยแล้ง เนื่องจากมีการคาดการณ์แนวโน้มรุนแรงขึ้น ปริมาณนํ้าฝนสะสมในช่วง ม.ค.-ก.ค. 66 ต่ำกว่าระดับปกติในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะภาคกลาง มีปริมาณนํ้าฝนต่ำกว่าปกติถึง 40% เป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลใหม่ ต้องเข้ามาดูแล เมื่อพิจารณาปริมาณนํ้าในเขื่อนใช้การได้ ณ เดือน ก.ค. 66 พบว่า ปริมาณนํ้าในเขื่อนอยู่ในระดับวิกฤติใน ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก โดยเฉพาะภาคกลางและภาคตะวันตก มีปริมาณนํ้าใช้การได้ใกล้เคียงกับปี 58 ซึ่งเป็นปีที่ไทยเผชิญภัยแล้งรุนแรง หากเกิดขึ้นจริงจะกระทบทุกภาคส่วนทั้งประชาชน อุตสาหกรรม เกษตรกร ท่องเที่ยว 

ทั้งนี้ได้ประเมินภัยแล้ง อาจสร้างมูลค่าความเสียหายสูงถึง 5.3 หมื่นล้านบาท จึงต้องให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และผลกระทบต่อภาคการเกษตรในช่วงปลายปี 66 ถึงครึ่งแรกของปี 67 รัฐบาลควรเร่งรัดโครงการพัฒนาแหล่งกักเก็บนํ้าภาคตะวันออกให้แล้วเสร็จตามแผน เช่น โครงการอ่างเก็บนํ้าคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี เพื่อป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำเติมโรงงานในพื้นที่ที่อดีตขาดนํ้าต้องมีการประหยัดและต้องลดการผลิต ทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นจากก่อนหน้าได้รับผลกระทบจากดีเซลราคาแพงจนทำให้ต้องปรับราคาสินค้า ต่อมาก็เป็นเรื่องของค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น

เกรียงไกร เธียรนุกุล

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย นายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย กล่าวว่า การกลับมาของเอลนีโญที่เห็นสัญญาณชัดเจนขึ้นจะสร้างความเสียหายต่อภาคเกษตร โดยข้อมูลนํ้าฝนในเดือน มิ.ย. สะท้อนว่าพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก อาจประสบภาวะฝนแล้งรุนแรงมากกว่าที่คาด โดยผลกระทบ        เอลนีโญ คาดสร้างผลกระทบต่อภาคเกษตรไทยในปี 66 เสียหายประมาณ 4.8 หมื่นล้านบาท เป็นการประเมินความเสียหายในด้านพืชเท่านั้น

สำหรับพืชที่กระทบมากได้แก่ ข้าวนาปี มันสำปะหลัง ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มนํ้ามัน และผลไม้ รวมคิดเป็นมูลค่าความเสียหายในปี 66 โดยข้าว เป็นพืชที่เสียหายมากที่ 37,631 ล้านบาท หรือเกือบ 80 % ของความเสียหายภาคเกษตรทั้งหมด ขณะที่อ้อย ปรากฏการณ์เอลนีโญที่รุนแรงอาจกระทบต่อการผลิตนํ้าตาลในอินเดียและไทย และอาจกระทบต่อการเก็บเกี่ยวอ้อยในบราซิล อาจเป็นโอกาสในแง่มูลค่า ราคานํ้าตาลตลาดโลกปีนี้พุ่งขึ้นอย่างก้าวกระโดด.