นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ที่มี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เป็นประธาน ได้เห็นชอบแผนการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ในระยะ 5 ปีต่อไป (2565 – 2569) กำหนดวงเงินลงทุน 2.5 ล้านล้านบาท ทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งขั้นตอนจากนี้จะนำเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ กพอ. ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในต้นเดือน ต.ค.นี้ เห็นชอบต่อไป

ทั้งนี้ ในการลงทุน 5 ปีต่อไป มีโครงการสำคัญ คือ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก 1 แสนล้านบาท โครงการพัมนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน 1 แสนล้านบาท และการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายอีกปีละ 4 แสนล้านบาท ทั้งการลงทุนพื้นที่ของทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ดำเนินการ ปีละ 2.5 แสนล้านบาท อีกส่วนคือ การเร่งรัดการลงทุนของ กพอ. เองอีกปีละ 1.5 แสนล้านบาท ทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ปีละ 4 หมื่นล้านบาท, 5G ปีละ 5หมื่นล้านบาท, การแพทย์สมัยใหม่ ปีละ 3 หมื่นล้านบาท และอุตสาหกรรมขนส่ง ปีละ 3 หมื่นล้านบาท

“การลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้งหมดนี้ยังไม่รวมโครงการพัฒนาเมืองและอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่อีก ซึ่มมีมูลค่าค่อนข้างสูง และที่ประชุมยังเห็นว่า เป้าหมายการลงทุนของอุตสาหกรรมยังขาดบางประเภท เช่น การลงทุนภาคการเกษตรที่มีแนวโน้มที่ดี โดยเฉพาะในช่วงที่มีโควิด-19 จึงขอให้นำใส่เข้าไปด้วย”

นายคณิศ กล่าวว่า ที่ประชุมยังรับทราบความคืบหน้าการลงทุนในช่วง 3 ปี 8 เดือน ของโครงการลงทุนในอีอีซี นับตั้งแต่เกิด พ.ร.บ.อีอีซี ปี 2561 – มิ.ย. 2564 เกิดการลงทุนรวมที่ได้รับอนุมัติแล้ว 1.6 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 94% จากเป้าหมายแผน 5 ปี (2561-65) ของอีอีซี 1.7 ล้านล้านบาท โดยคาดว่าในปีนี้จะบรรลุเป้าหมายแน่นอน ถือเป็นการบรรลุเป้าหมายก่อนเวลา 1 ปี โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1. การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอกชนร่วมลงทุน (PPP) 4 โครงการหลัก ทั้ง รถไฟฯ/สนามบินฯ/ 2 ท่าเรืออุตสาหกรรม มูลค่ารวม 633,401 ล้านบาท 2. การลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย จากการออกบัตรส่งเสริมบีโอไอ มูลค่า 878,881 ล้านบาท โดยโครงการที่ขอยื่นส่งเสริมลงทุน ช่วงปี 2560-มิ.ย. 2564 ลงทุนจริงแล้วกว่า 85%

3. การลงทุนผ่านงบบูรณาการอีอีซี มูลค่า 82,000 ล้านบาท ซึ่งในช่วง 6 เดือนที่ผ่าน (ม.ค.-มิ.ย. 64) มีการขอรับส่งเสริมลงทุน 232 โครงการ เงินลงทุน 126,643 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 53% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งทั้งปีนี้ คาดว่าจะมีการลงทุนถึง 2 – 2.5 แสนล้านบาท โดยจำนวนขอโครงการสูงสุดคือ อุตสาหกรรมยานยนต์ชิ้นส่วน ส่วนเงินลงทุนสูงสุดคือ เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับการลงทุนตรงจากต่างประเทศ (FDI) คิดเป็น 64%ของคำขอลงทุนในอีอีซี ซึ่งนักลงทุนที่สนใจมากที่สุดคือ ญี่ปุ่น จีน และฮ่องกง ตามลำดับ