ความคืบหน้าล่าสุดจากพรรคเพื่อไทย ระบุถึงการแจกเงินดิจิทัล หรือดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทให้กับคนไทยผู้ที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปหรือประมาณ 56 ล้านคน เพื่อต้องการกระตุ้นการใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจในทันที ซึ่งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ยืนยันแล้วว่าจะเริ่มต้นได้ในช่วงต้นปี 2567 อย่างแน่นอน โดยดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทจะมีรูปแบบในลักษณะ “โทเคนดิจิทัล” ประเภท “ยูทิลิตี้ โทเคน (Utility Token)” ประเภทที่ 1 หรือกลุ่มที่ 1

โทเคน ดิจิทัล คือ หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกสร้างขึ้น เพื่อแสดงสิทธิในการร่วมลงทุน หรือสิทธิอื่นๆ ที่ได้ทำการตกลงกับผู้ออกโทเคน โดยเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เพราะเป็นหน่วยในโลกอินเทอร์เน็ต และมีระบบจัดเก็บข้อมูลไว้อย่างปลอดภัย ซึ่งระบบนั้นถูกเรียกว่า บล็อกเชน (Blockchain)

โทเคนดิจิทัล ได้ถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก คือ 1.โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (investment token) เป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ ที่ให้สิทธิแก่ผู้ถือในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใด ๆ โดย investment token มีวัตุประสงค์เพื่อให้สิทธิแก่ผู้ถือในการลงทุน เช่น สิทธิจากส่วนแบ่งรายได้ หรือผลกำไรจากการลงทุนในโครงการ และผู้ลงทุนก็คาดหวังกำไรหรือผลตอบแทนจากการลงทุนนั้น

ดังนั้น สำหรับประเทศไทย การออกเสนอขาย investment token จะต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีการเปิดเผยข้อมูลตามที่กำหนด และต้องเสนอขายผ่านผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal) ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต.

2.โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (utility token) หรือยูทิลิตี้ โทเคน เป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ ที่ให้สิทธิแก่ผู้ถือในการได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง เช่น ให้สิทธิในการเข้าถึงแพลตฟอร์มหรือโครงการ หรือ นำไปใช้แลกสินค้าในแพลตฟอร์มหรือโครงการดังกล่าว โดยหากสินค้าหรือบริการนั้นพร้อมที่จะให้ใช้ประโยชน์ได้ทันทีตั้งแต่วันที่เสนอขายโทเคนดิจิทัลครั้งแรก (utility token พร้อมใช้) จะได้รับยกเว้น ไม่ต้องได้รับอนุญาตให้ออกเสนอขายจาก ก.ล.ต.

แต่หากสินค้าหรือบริการนั้นยังไม่พร้อมที่จะให้ใช้ประโยชน์ (utility token ไม่พร้อมใช้) โดยต้องนำเงินที่ได้จากการขาย utility token ไปพัฒนาแพลตฟอร์มหรือโครงการให้แล้วเสร็จ ดังนั้น การออกเสนอขาย utility token ไม่พร้อมใช้ ก็จะต้องปฏิบัติเช่นเดียวกับ investment token คือจะต้องได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. มีการเปิดเผยข้อมูลตามที่กำหนด และต้องเสนอขายผ่าน ICO Portal ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต.

ในกรณีนี้ ดิจิทัลโทเคนที่พรรคเพื่อไทยแกนนำจัดตั้งรัฐบาลใหม่ นำมาใช้กับนโยบายที่หาเสียงไว้อย่างการให้เงินดิจิทัล (ดิจิทัล วอลเล็ต) 10,000 บาท คือ ยูทิลิตี้ โทเคน (Utility Token) ซึ่งเป็นเหรียญโทเคนที่เอาไว้ใช้แลกกับสินค้า บริการ หรือใช้งานในระบบนั้นๆ

สำหรับเงินดิจิทัล หรือดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท ผ่านยูทิลิตี้ โทเคน ประเภทที่ 1 จะได้รับยกเว้นการกำกับดูแลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน และยกเว้นการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้อง แต่โทเคนดังกล่าวต้องไม่มีลักษณะเป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ (Means of Payment: MOP) ตามแนวทางที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด

ดังนั้น หากจะนำยูทิลิตี้ โทเคน ประเภทที่ 1 หรือกลุ่มที่ 1 มาใช้กับนโยบายแจกเงินดิจิทัล ผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล หรือดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท เพื่อนำไปแลกสินค้ากับร้านค้า หรือหากเป็นการชำระเงินเมื่อไหร่ อาจเข้าข่ายเป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ ซึ่งจะผิดกฎเกณฑ์ของทางแบงก์ชาติ ทำให้หากจะทำให้เกิดขึ้นจริง ก็ต้องไปหารือแนวทางและแก้กฎเกณฑ์ของแบงก์ชาติ เพื่อดำเนินการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทนี้ต่อไป

( ข้อมูลจาก Smart to invest , ก.ล.ต. )