ผู้มาเยือนเกาะที่มีพื้นที่กลบฝังแห่งเดียวของสิงคโปร์ อาจคิดว่าจะได้กลิ่นเหม็นของขยะ และเห็นฝูงแมลงวัน ทว่าสิ่งที่พวกเขาเห็นคือ ทิวทัศน์อันตระการตาของนํ้าทะเลสีฟ้า พืชพรรณเขียวชอุ่ม และสัตว์ป่า

“ปูเลา เซมาเกา” เกาะขยะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มันคือสถานที่ซึ่งรวมเถ้าจากขยะที่ถูกเผาทำลาย ซึ่งในเวลาอีกกว่าทศวรรษที่พื้นที่ดังกล่าวจะถูกถม รัฐบาลสิงคโปร์จึงแข่งกับเวลา เพื่อยืดอายุของพื้นที่ฝังกลบบนเกาะ ที่มีการขนานนามว่า “ขยะแห่งเอเดน”

“นี่เป็นสถานที่ฝังกลบแห่งเดียวในสิงคโปร์ เนื่องจากเป็นพื้นที่ขนาดเล็ก และมีการแข่งขันด้านความต้องการที่ดิน มันจึงเป็นเรื่องยากในการหาสถานที่อื่น” นายเดสมอนด์ ลี ผู้จัดการสถานที่ฝังกลบ จากสำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติของสิงคโปร์ (เอ็นอีเอ) ซึ่งดูแลเกาะแห่งนี้ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางหน่วยงานจำเป็นต้องใช้พื้นที่ฝังกลบเซมาเกาต่อไป “ให้นานที่สุด” และหากเป็นไปได้ พวกเขาจะพยายามยืดอายุการใช้งานของมันให้เกินกว่าปี 2578

สิงคโปร์สร้างขยะ 7.4 ล้านตันเมื่อปีที่แล้ว โดยประมาณ 4.2 ล้านตัน หรือคิดเป็น 57% ของจำนวนข้างต้น ถูกนำมา รีไซเคิล แต่ตัวเลขดังกล่าวทำให้องค์กรสิ่งแวดล้อม “กรีนพีซ” วิพากษ์วิจารณ์ว่า สิงคโปร์ผลิตขยะจำนวนมาก ตามขนาดของประเทศ

ในปี 2562 รัฐบาลสิงคโปร์เปิดตัวแคมเปญ “ขยะเป็นศูนย์” มีเป้าหมายที่จะเพิ่มปริมาณขยะรีไซเคิลเป็น 70% ของจำนวนขยะทั้งหมด และลดปริมาณขยะที่ถูกทิ้งที่เซมาเกา 30% ก่อนสิ้นทศวรรษนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่ประเทศอื่น ๆ ในเอเชียต้องเผชิญ เช่น ขยะจำนวนมาก และขยะที่ยังไม่ได้กำจัด

Free photo flat lay plastic bottles arrangement

ทั้งนี้ รัฐบาลสิงคโปร์สร้างสถานที่ฝังกลบนอกชายฝั่ง หลังจากคลังเก็บขยะภายในประเทศเริ่มไม่มีพื้นที่เหลือในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 และเนื่องจากจำนวนประชากรในสิงคโปร์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทางการจึงจำเป็นต้องหาวิธีแก้ปัญหาที่โดดเด่น และประหยัดพื้นที่

แม้เตาเผาขยะถูกนำมาใช้เพื่อเผาขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะส่งเศษเถ้าจากการเผาไปยัง เกาะเซมาเกา ด้วยเรือบรรทุกที่มีหลังคาปิดมิดชิด แต่องค์กรสิ่งแวดล้อมแสดงความไม่พอใจต่อแนวทางปฏิบัติดังกล่าวและกังวลว่าแต่ละขั้นตอนของกระบวนการอาจก่อให้เกิดมลพิษ อีกทั้งพื้นที่ฝังกลบอาจเกิดปัญหาขยะรั่วไหลด้วย

อย่างไรก็ตาม เอ็นอีเอ ระบุว่า โรงงานเผาขยะมีระบบบำบัดที่ทำความสะอาดก๊าซ ก่อนปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ ส่วนพื้นที่ฝังกลบนั้น มีแผ่นเมมเบรนกันซึม และดินเหนียวทะเล เพื่อป้องกันมลพิษที่อาจเกิดขึ้นภายในพื้นที่ ตลอดจนมีการทดสอบนํ้าเป็นประจำ เพื่อตรวจหาการรั่วไหลของขยะ

Free photo ground littered with plastic bottles

เกาะขยะของสิงคโปร์ยังสามารถใช้ประโยชน์ได้อีกมากมาย และเนื่องจากหลุมแต่ละหลุมถูกถมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ พื้นที่ดังกล่าวจึงถูกปกคลุมไปด้วยดิน และทำให้พืชพรรณตามธรรมชาติเจริญเติบโตได้

ขอบคุณภาพจาก National Environment Agency