โดยช่วงแรกอียูจะออกกฎหมายบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2566-31 ธันวาคม พ.ศ. 2668 หรือที่เรียกว่า “ช่วงเปลี่ยนผ่าน” ซึ่งนั่นหมายถึงผู้นำเข้าสินค้ามีหน้าที่ต้องรายงานข้อมูลปริมาณสินค้าที่นำเข้าและการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิต และจะเริ่มบังคับให้ผู้นำเข้าต้องซื้อใบรับรอง CBAM (CBAM Certificate) ตามปริมาณจริงของการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิต ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2569 เป็นต้นไป

สำหรับในช่วงเปลี่ยนผ่าน สหภาพยุโรปจะบังคับใช้กับสินค้า 6 กลุ่มคือ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย ไฟฟ้าและไฮโดรเจน ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ปลายนํ้าบางรายการด้วย เช่น นอตและสกรูที่ทำจากเหล็กและเหล็กกล้า และสายเคเบิลที่ทำจากอะลูมิเนียม นอกจากนี้ หากมีการฝ่าฝืนไม่รายงานข้อมูล Embedded Emissions จากการนำเข้าสินค้าอาจมีโทษปรับระหว่าง 10-50 ยูโรต่อตันคาร์บอน

ทั้งนี้ มาตรการ CBAM จึงอาจส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อผู้นำเข้าสิน ค้าที่มีการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตสูง หรือไม่สามารถวัดปริมาณในการปล่อยคาร์บอนดังกล่าวได้ ทำให้ผู้ผลิตและส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรป ต้องทำการตรวจวัด ทวนสอบ

และจัดทำรายงานข้อมูลปริมาณการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิต และเป็นแรงกดดันทางอ้อมให้ประเทศคู่ค้าต้องพัฒนากระบวนการผลิตที่คาร์บอนตํ่า จำเป็นต้องยกระดับมาตรการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศ

อีกทั้ง ยังกดดันปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ เช่น ความเสี่ยงทางธุรกิจ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน การระดมทุน และการตัดสินใจของนักลงทุน ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม แก่ผู้ประกอบธุรกิจในประเทศไทย ตลอดจนธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่คุณค่าของกระบวนการผลิตต่าง ๆ ทั้งต้นนํ้าจนถึงปลายนํ้าอีกด้วย

ในเรื่องนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จึงคำนึงถึงประเด็นด้านความยั่งยืน และผลักดันให้บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ผนวกเรื่องความยั่งยืนเข้ามาในกระบวนการผลิต

รวมถึงส่งเสริมให้มีการรายงานใน One-Report มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อการเตรียมตัวรองรับมาตรการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ รวมถึงมาตรการในต่างประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะมีบทบาทต่อประเทศไทยมากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะธุรกิจรายที่มีการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตที่มีปริมาณสูง

ดังนั้น บริษัทจดทะเบียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีการส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรป ควรจะเริ่มศึกษาวิธีการคำนวณคาร์บอนดังกล่าว เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการตรวจวัด ทวนสอบ และจัดทำรายงานข้อมูลปริมาณการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิต รวมถึงแสวงหาโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสีเขียว

และวางแผนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในกระบวนการผลิตสินค้าส่งออกของตนเอง เช่น การปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องจักรในกระบวนการผลิต การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ บจ. สามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนการผลิตในระยะยาวได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม มองว่าการให้ความสำคัญกับประเด็นด้านความยั่งยืน จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้ลงทุน และสนับสนุนให้ตลาดทุนเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้ประเทศบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงการขับเคลื่อนประเทศไปสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065 ต่อไป.