พอลุง ๆ เสร็จกิจ มานั่งล้อมวงกันครบแล้ว ก็มีลุงคนหนึ่งเปิดเวทีเสวนาว่า…มีข่าวว่าต่อจากนี้ นอกจากแก่แล้วยังต้องจนด้วยนะ รัฐถึงจะจ่ายเบี้ยยังชีพคนชราให้ ซึ่งพวกเราโชคดีมากที่เข้าเส้นชัยได้อย่างเฉียด ทำให้คุณลุงสายการเมือง ถึงกับบอกว่า…จริงหรือนี่!!! ช่วงสงกรานต์พวกเรายังดีใจอยู่เลย บางพรรคว่าจะเพิ่มให้เป็น 1,000 บาท หลายพรรคก็เกทับที่ 3,000 บาท และอีกพรรคก็บอกว่าเอา 10,000 บาทไปเลย แต่ใส่กระเป๋าดิจิทัลนะ ใช้ได้ 4 กม. จากบ้าน เพราะพวกเรายังวางแผนเรื่องสภากาแฟเคลื่อนที่ 4 กม. อยู่เลย นี่พวกเราเป็นอัลไซเมอร์ หรือไม่ได้อ่านที่เขาเขียนตัวเล็ก ๆ ว่า การลงคะแนนมีความเสี่ยง ผู้ลงคะแนนควรศึกษาข้อมูลและจริยธรรมพรรคก่อนการตัดสินใจลงคะแนน ขณะที่ คุณลุงสายสังคมก็บอกว่า… ถ้าคนแก่อย่างพวกเราได้ทุกคน แล้วคนแก่รุ่นน้องได้แค่บางคน เราจะมองหน้าน้อง ๆ ได้อย่างไร เราจะใช้หลักเท่าเทียม หรือถ้วนหน้า หรือผสมผสานตามใจรัฐบาลในแต่ละยุค หรือควรจะรื้อใหม่ทั้งระบบให้เท่าเทียมดี

ลุง ๆ ส่วนใหญ่ต่างส่ายหน้า กับบอกเสียงเดียวกันว่า…อย่าเลย จำไม่ได้หรือ? ตอนที่ไปลงทะเบียนขอรับเบี้ยคนชราที่เขต แล้วพวกเราต้องให้เจ้าหน้าที่เด็ก ๆ ตรวจสอบว่าแก่จริงไหม? เขาก็ให้ถอดหมวก ถอดแว่น ดูสภาพผิว ดูฟัน แล้วดูบัตรประชาชนอีกครั้ง แล้วก็หันมาถามว่าคุณลุงฟิตปั๋งขนาดนี้ อายุ 60 แล้วหรือคะ? เพราะเห็นเดินขึ้นบันไดตัวปลิวมา 3 ชั้นได้สบาย ผมยังบอกว่า…ตอนขึ้นมาพอได้ แต่ตอนลงช่วยประคองไปส่งด้วยนะคะ และช่วงที่ลุงจะสไลด์ตัวเข้ารถแลมโบ ก็ช่วยประคองอีกนิดจะดีมาก

ส่วนคุณลุงสายด้อมบอกต่อว่า…ดูเรื่องแก่จริงไหม มันง่าย มีหลักฐานที่บัตรประชาชน แต่ดูว่าจนจริงมั้ย…นี่จะใช้หลักการอะไร ถ้าออกหลักเกณฑ์แบบหลวม ๆ แล้วให้ใช้วิจารณญาณของเจ้าหน้าที่ ก็น่าจะเปิดโอกาสให้เป็นแหล่งรายได้สีเทาอย่างกว้างขวาง หรือเราต้องติดสติกเกอร์พระอาทิตย์ยิ้มที่หน้าผากจึงจะผ่าน พวกเราอภิปรายเรื่องไปสักพัก คุณลุงสายด้อม แกก็ของขึ้น จึงบอกว่า…ถ้างบประมาณไม่พอ ก็ให้ตัดงบซื้อเรือดำน้ำ ซื้ออาวุธ ลดขนาดกองทัพ ลดขนาดระบบราชการ และตัดบำเหน็จบำนาญที่เคยจ่ายด้วย และใช้เหตุนี้เป็นการรื้อระบบจัดใหม่ให้เท่าเทียมกัน แต่เสียดายที่คงต้องรอเลือกตั้งครั้งหน้า

ทางด้านคุณลุงสายเศรษฐศาสตร์ก็บอกว่า…ผมเคยเตือนรัฐบาลตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 แล้วว่า…อนาคตจะไม่ยั่งยืน โดยให้เราจับตาสถิติพีระมิดประชากรในช่วงอายุต่าง ๆ และทำนายไว้ล่วงหน้าว่า…อีก 20 ปีจะเกิดปัญหาเรื่องสังคมคนชรา และได้นำเสนอรัฐบาลไปแล้วว่า…

เรามีทางเลือก 2 ทาง ทางที่หนึ่งระบบรัฐสวัสดิการแบบทั่วถึงเท่าเทียม ในกรณีนี้จะต้องคำนวณรายจ่ายทั้งหมดที่ภาครัฐต้องดูแลและออกแบบการจัดเก็บรายได้ใหม่ โดยต้องขึ้นอัตราภาษี และมีภาษีแบบใหม่ ๆ ที่ต้องจัดเก็บเพิ่มเติม เหมือนที่ประเทศในยุโรปและสแกนดิเนเวียเขาใช้กัน หรือ ทางที่สอง เก็บภาษีพอประมาณไม่มากนัก และมีเงินงบประมาณที่รัฐช่วยเหลือได้แค่พอประมาณ โดยจะต้องกำหนดกลุ่มที่ถูกทิ้งไว้ด้านหลังให้ชัดเจน ที่สำคัญรัฐจะต้องส่งเสริมให้ประชาชนพึ่งพาตนเอง และต้องไม่มีนโยบายประชานิยม ที่รัฐต้องรับผิดชอบเกินตัว ซึ่งคงเดาได้ว่า รัฐบาลทุกชุดจะตัดสินใจเลือกแบบไหน…และสุดท้ายตอนแผลแตก ใครเป็นผู้รับผลกระทบ ซึ่งในสังคมยุคใหม่ หากแก่แล้วก็ต้องจนด้วย…ถึงจะมีสิทธิในสวัสดิการแห่งรัฐ.

CSR Man