นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังรัฐสภามีมติเห็นชอบให้ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ว่า เป็นเรื่องน่ายินดีที่วันนี้การเลือกนายกรัฐมนตรีสามารถดำเนินการสำเร็จจนเป็นที่เรียบร้อย เป็นไปตามความต้องการของหลายฝ่าย ที่ต้องการให้ประเทศไทยมีรัฐบาลชุดใหม่เร็วที่สุด เพื่อเข้าสู่โหมดการเดินหน้าเศรษฐกิจและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ต้องติดตามว่า จะมีบุคคลใดมาประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี โดยภาคเอกชนหวังว่า ผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีและตำแหน่งต่าง ๆ จะมีการพิจารณาบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ เป็นผู้เชี่ยวชาญและเหมาะสมในแต่ละด้านอย่างแท้จริง

สำหรับประเด็นข้อเร่งด่วนที่หอการค้าฯ ต้องการส่งสัญญาณถึงรัฐบาลใหม่เพื่อให้เร่งดำเนินการทันทีในช่วง 100 วันแรก ของการรับตำแหน่ง ได้แก่

1. การแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน ผ่านนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ นโยบายลดค่าครองชีพให้แก่ประชาชน และลดต้นทุนภาคเอกชนทั้งค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า ที่ยังอยู่ในระดับสูงและปัญหาที่กระทบต่อการแข่งขันและการส่งออกของไทย รวมทั้งการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ

2.เร่งเสริมความโดดเด่นภาคการท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้าย และถือเป็นช่วงฤดูท่องเที่ยว โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกเรื่องการทำวีซ่าแก่นักท่องเที่ยวจีนให้รวดเร็ว และการเพิ่มเที่ยวบินรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้น

3.เร่งเบิกจ่ายงบประมาณที่ยังค้างท่ออยู่ และจัดทำงบประมาณรายจ่าย 2567 ให้เกิดความต่อเนื่องในการขับเคลื่อนแผนงานต่างๆ ทั่วประเทศ ตลอดจนเร่งสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนใหม่ ๆ จากต่างชาติ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการจ้างงาน และเป็นผลดีต่อตัวเลขการส่งออกในอนาคต หอการค้าฯ ได้มีการหารือกับคณะกรรมการและสมาชิกถึง 3 ประเด็นข้างต้น เพื่อนำเสนอรัฐบาลชุดใหม่พิจารณาดำเนินการทันที เพราะวันนี้ต้องยอมรับว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะซึมตัวต่อเนื่อง

รวมถึงปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ ยังมีความรุนแรงอยู่ หากประเทศไทยมีรัฐบาลในช่วงเวลานี้ ก็จะสามารถช่วยดึงความเชื่อมั่นจากนักลงทุนและภาคธุรกิจต่าง ๆ กลับมาที่ประเทศไทยได้ ขณะนี้เศรษฐกิจไทยเองก็มีความน่าเป็นห่วง สะท้อนจากตัวเลขสภาพัฒน์ ที่เปิดเผยออกมา Q2/66 จีดีพี โตเพียง 1.8% (ต่ำกว่าที่คาดไว้ 3%) โดยเฉลี่ยครึ่งปีแรก จีดีพีโตเพียง 2.2% ซึ่งปัจจุบันแม้จะมีรัฐบาลรักษาการแต่การขับเคลื่อนมาตรการต่าง ๆ ไม่สามารถดำเนินการได้เต็มที่ ทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างจำกัด ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจไทยจะเติบโตหลุดเป้า 3% ปีนี้

มั่นใจว่าหากรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ จะมีการเน้นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างจริงจังและตรงจุด รวมถึงดำเนินการตาม 3 ประเด็นเร่งด่วนตามข้อเสนอของหอการค้าไทย ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยในช่วง Q4 ของปีนี้กลับมาเติบโตได้โดดเด่น และทำให้ภาพรวมสามารถเติบโตตามเป้าหมายได้ เกิน 3.0%

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สิ่งที่ต้องการเห็นระยะต่อไป คือ ทีมเศรษฐกิจ ในกระทรวงสำคัญๆ อยากเห็นรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ที่ทั้งดี เก่ง มีประสบการณ์ มีฝีมือโดยเฉพาะในกระทรวงเศรษฐกิจที่สำคัญๆ ไม่ขอแบบเห็นหน้าแล้ว “พูดไม่ออก” เพื่อช่วยเรียกความเชื่อมั่นให้กับประชาชน และนักลงทุนได้

เนื่องจากเวลานี้มีหลายปัจจัยเสี่ยงที่ท้าทายมาก โดยเฉพาะเศรษฐกิจทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ ยุโรป และจีน ที่ไม่ค่อยดีนัก ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยเป็นอย่างมาก และการจัดตั้งรัฐบาลร่วมที่มีหลายพรรคนั้น จะต้องมียุทธศาสตร์และการทำงานร่วมกัน เพราะทุกกระทรวงล้วนทำงานสอดคล้องกัน การทำงานจะเป็นคนละทางไม่ได้

สำหรับสิ่งที่อยากฝา รัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาดำเนินการนั้น นอกเหนือจากโฉมหน้าของรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจแล้ว สิ่งสำคัญในระยะต่อไป คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการช่วยเหลือภาคเอสเอ็มอี ที่ประสบปัญหาต้นทุนทางการผลิต รวมถึงต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในช่วงที่ผ่านมาได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ทำให้เอสเอ็มอีมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นจะทำอย่างไรที่จะช่วยเอสเอ็มอีมีต้นทุนที่ถูกลงได้ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของต้นทุนด้านพลังงาน ค่าไฟ เป็นต้น

สิ่งที่กังวลอีกเรื่องและรัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญในการเร่งดำเนินการแก้ไขอย่างจริงจัง คือ ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และเป็นระเบิดเวลาในการฉุดรั้งเศรษฐกิจ เนื่องจากปัจจุบันหนี้ครัวเรือนในระบบสูงถึง 90.6% ต่อจีดีพี ขณะที่หนี้นอกระบบอยู่ที่ประมาณ 19.6% ซึ่งหากรวมทั้ง 2 ส่วน จะทำให้หนี้ครัวเรือนสูงถึง 110% สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวกดทับกำลังซื้อของประชาชนในประเทศ, เรื่องการส่งออก ที่ภาครัฐจะต้องให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว โดยการแสวงหาตลาดใหม่ๆ ที่มีศักยภาพเข้ามาทดแทนตลาดเดิม รวมถึงสร้างความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกด้วย และสุดท้ายปัญหาภัยแล้ง ปรากฏการณ์เอลนีโญ ถ้าหากตั้งรับไม่ดี จะส่งผลกระทบกับภาคการเกษตร และภาคอุตสาหกรรม