น.ส.กาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า เงินบาทวันนี้ 22 ส.ค. แข็งค่าผ่านแนว 35.10 มาปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 35.07-35.08 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงเช้าวันนี้ (09.35 น.) เทียบระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 35.18 บาทต่อดอลลาร์ โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงระหว่างที่ตลาดรอติดตามหลายประเด็นของปัจจัยทางการเมืองในประเทศ ประกอบกับเงินดอลลาร์ ยังขาดแรงหนุนที่ชัดเจน เนื่องจากนักลงทุนยังคงรอจับตาการประชุมสัมมนาประจำปีของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่เมืองแจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิงในช่วงปลายสัปดาห์นี้อย่างใกล้ชิด

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 35.05-35.30 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์การเมืองในประเทศ ทิศทางค่าเงินหยวน และข้อมูลยอดขายบ้านมือสองเดือน ก.ค. ของสหรัฐ

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทผันผวนในกรอบ Sideway (แกว่งตัวในช่วง 35.10-35.31 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทมีจังหวะอ่อนค่าลงบ้าง ในช่วงที่เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นตามการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐ ก่อนที่เงินบาทจะพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้าง หลังเงินดอลลาร์ย่อตัวลง และราคาทองคำสามารถรีบาวด์ขึ้นได้บ้าง นอกจากนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจรอจังหวะเงินบาทอ่อนค่าลงในการทยอยปิดสถานะ Short THB (มองเงินบาทอ่อนค่า) และบางส่วนก็ทยอยขายเงินดอลลาร์ เพื่อลดความเสี่ยงก่อนรับรู้ผลการโหวตเลือกนายกฯ และปัจจัยการเมืองไทยในวันที่ 22 สิงหาคม นี้

แม้ว่าผู้เล่นในตลาดฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐ จะยังคงกังวลต่อความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงินของเฟด แต่ทว่า ความคาดหวังต่อผลกำไรของบริษัท Nvidia ที่จะรายงานในวันพุธนี้ ว่าจะออกมาเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง ได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดต่างเข้าซื้อหุ้นธีม AI และ Semiconductor (Nvidia +8.5%, AMD +2.6%, Microsoft +1.7%) ส่งผลให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq รีบาวด์ขึ้นแรง +1.56% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.69%

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 รีบาวด์ขึ้นเล็กน้อย +0.05% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน (TotalEnergies +1.0%) และการรีบาวด์ขึ้นของหุ้นที่เกี่ยวข้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีน โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม (LVMH +0.9%) หลังจากหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนมเผชิญแรงเทขายหนักในช่วงที่ผ่านมาก ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดหุ้นยุโรปต่างรอจับตาถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในงานสัมมนาวิชาการประจำปีของเฟดที่ Jackson Hole เพื่อประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของ ECB

ในฝั่งตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เพิ่มโอกาสเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟดและโอกาสเฟดคงดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานขึ้น ยังคงส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องแตะจุดสูงสุดใหม่ แถวระดับ 4.35% ซึ่งเรามองว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ระยะยาวในฝั่งสหรัฐ ส่วนหนึ่งอาจมาจากการปรับสถานะถือครองของนักลงทุน โดยเฉพาะฝั่งที่เข้าซื้อบอนด์ระยะยาวในช่วงก่อนหน้า เนื่องจากผลกำไรขาดทุนของบอนด์ระยะยาวจะอ่อนไหวกับการเปลี่ยงแปลงของบอนด์ยีลด์มาก (High Duration Risk) อย่างไรก็ดี เรายังคงมุมมองเดิมว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐ จะเปิดโอกาสให้ นักลงทุนสามารถทยอยเข้าซื้อบอนด์ในจังหวะย่อตัวได้ โดยที่ Risk-Reward คุ้มค่า โดยเฉพาะในช่วงที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐ ปรับตัวขึ้นสูงกว่าระดับ 4.00% เช่นในปัจจุบัน

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ sideway โดยเงินดอลลาร์มีจังหวะอ่อนค่าลงบ้าง ก่อนที่จะรีบาวด์แข็งค่าขึ้นต่อตาม ตามจังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ระยะยาวสหรัฐ แต่ทว่า การปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์ยังเป็นไปอย่างจำกัด จากแรงขายทำกำไรของผู้เล่นในตลาด ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 103.4 จุด (กรอบ 103.1-103.5 จุด)

ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐ ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญที่กดดันให้ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ยังคงแกว่งตัวในกรอบ 1,914-1,924 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจยังคงทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะปรับฐาน และโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง แต่หากราคาทองคำสามารถรีบาวด์ขึ้นได้ต่อเนื่อง ก็อาจเริ่มเห็นโฟลว์ขายทำกำไรการรีบาวด์ของทองคำกลับมาได้เช่นกัน

สำหรับวันนี้ เนื่องจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญอาจมีไม่มากนัก ทำให้ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินทิศทางนโยบายการเงินของเฟด ผ่านถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด

อย่างไรก็ดี ไฮไลต์สำคัญอาจอยู่ในฝั่งไทย โดยเรามองว่า ควรจับตาสถานการณ์การเมืองอย่างใกล้ชิด หลังรัฐสภาเตรียมโหวตเลือกนายกฯ อีกครั้งในวันนี้ โดยหากการโหวตเลือกนายกฯ และการจัดตั้งรัฐบาลผสมเสร็จสิ้นลงอย่างราบรื่น ก็อาจหนุนให้ผู้เล่นในตลาดอาจเริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นได้ โดยเฉพาะในส่วนของนักลงทุนต่างชาติ

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรายังคงมุมมองเดิมว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทนั้นเริ่มแผ่วลง ดังจะเห็นได้จากการที่เงินบาทยังไม่สามารถกลับไปอ่อนค่าทดสอบโซน 35.50 บาทต่อดอลลาร์ได้ แม้ว่าเงินดอลลาร์จะมีจังหวะแข็งค่าขึ้นมาบ้าง หรือ ราคาทองคำก็มีจังหวะย่อตัวลง ซึ่งเรามองว่า ปัจจัยที่ช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทนั้น ส่วนหนึ่งอาจมาจากแรงขายเงินดอลลาร์ของบรรดาผู้ส่งออก รวมถึงการลดสถานะ Short THB ของผู้เล่นในตลาด ก่อนที่จะทยอยรับรู้ปัจจัยการเมืองของไทยในวันที่ 22 สิงหาคมนี้

ดังนั้น หากปัจจัยภายนอกยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากการที่ผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นถ้อยแถลงของประธานเฟดจากงานสัมมนาวิชาการที่เมือง Jackson Hole ทำให้เงินบาทอาจผันผวนไปตามปัจจัยการเมืองของไทยได้

โดยเรามองว่า ค่าเงินบาทอาจยังไม่สามารถกลับมาแข็งค่าได้ชัดเจน จนกว่าการโหวตเลือกนายกฯ และการจัดตั้งรัฐบาลเสร็จสิ้นลง และหากสถานการณ์การเมืองไทยมีความวุ่นวายมากขึ้น ก็อาจกดดันให้ เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงได้ ตามแรงขายสินทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติ ทำให้เรายังคงประเมินแนวต้านเงินบาทในโซน 35.50-35.75 บาทต่อดอลลาร์ และในกรณีที่ การโหวตเลือกนายกฯ และการจัดตั้งรัฐบาลผสมเสร็จสิ้นลง เรามองว่า เงินบาทก็อาจพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น “จบรอบการอ่อนค่าที่ผ่านมา” โดยเราประเมินแนวรับเงินบาทในระยะนี้ แถวโซน 35.00 บาทต่อดอลลาร์ และโซน 34.80 บาทต่อดอลลาร์ เป็นแนวรับสำคัญถัดไป

และนอกเหนือจากปัจจัยการเมืองไทย ในช่วงระหว่างวัน เรามองว่า เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าได้บ้าง จากโฟลว์ซื้อเงินเยนญี่ปุ่น หลังเงินเยนญี่ปุ่นพลิกกลับมาอ่อนค่าลงทะลุระดับ 146 เยนต่อดอลลาร์อีกครั้ง ทำให้เมื่อเทียบกับเงินบาท ค่าเงินเยนญี่ปุ่นก็อยู่ในระดับที่ถูกพอสมควร (ต่ำกว่าระดับ 24 บาทต่อ 100 เยน)