“กรุงศรี ไทย พาวิลเลียน” ศาลาเรือนไทยซึ่งใช้เป็นที่ตั้งของศูนย์บริการเพื่อรับรองลูกค้า กรุงศรี ไพรเวต แบงกิ้ง เรือนไทยที่สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมไทยดั้งเดิมก็คงเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ถือกำเนิดขึ้นเพื่อทำหน้าที่สืบสานมรดกไทย ที่ไม่ใช่เพียงแค่การบอกเล่าเรื่องราวของสถาปัตยกรรมแต่ยังแฝงนัยเรื่องการเงินที่เป็นหน้าที่หลักของเจ้าของพื้นที่ไปพร้อมกันด้วย

พื้นที่ศาลาไทยแห่งนี้เป็นส่วนต่อขยายจากสำนักงานใหญ่ ถนนพระราม 3 เพิ่งสร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้งานเมื่อประมาณช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งอีกมิติหนึ่งยังทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์สื่อถึงประวัติศาสตร์การดำเนินงานในประเทศไทยมาอย่างยาวนานกว่า 75 ปี ประกอบกับชื่อของธนาคารที่เป็นจุดเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ของชาติไทย สถาปัตยกรรมไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยาจึงถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบตกแต่งทั้งยังเป็นอนุสรณ์เพื่อระลึกและสร้างจิตสำนึกในการรักษาคุณค่าของอดีตกาล

วิน พรหมแพทย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานลูกค้าไฮเน็ตเวิร์ธ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ระบุว่า พาวิลเลียนแห่งนี้มีการผสมผสานสถาปัตยกรรมไทยกับการตกแต่งในรูปแบบทันสมัยไว้ด้วยกันอย่างลงตัว จึงเสมือนเป็นการเชื่อมโยงผู้คนจากรุ่นสู่รุ่นด้วย

มองจากภายนอกจะเห็นชัดเจนว่าอาคารนี้มีความโดดเด่นเฉพาะตัว ทั้งเรื่องของการใช้สี บรรยากาศโดยรอบ และงานสถาปัตยกรรม เนื่องจากอาคารแห่งนี้เป็นผลงานการออกแบบของ อาจารย์เผ่า สุวรรณศักดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ สถาปัตยกรรมไทย ในปี 2553 โดยอาจารย์เผ่ายังมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักด้านการให้คำแนะนำและออกแบบสถาปัตยกรรมไทยของ “สัปปายะสภาสถาน” อาคารรัฐสภาในปัจจุบัน

อาจารย์เผ่า สุวรรณศักดิ์ศรี

แนวคิดการออกแบบภายใต้คอนเซปต์ “อะ เบลนด์ ออฟ เฮอริเทจ แอนด์ โมเดิร์นนิตี้” เป็นการผสมผสานกันระหว่างสถาปัตยกรรมไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยาและสถาปัตยกรรมรูปแบบสมัยใหม่ โดยยังคงหลักการออกแบบ และการเลือกวัสดุตกแต่งสอดคล้องกับงานสถาปัตยกรรมไทยในยุคสมัยปัจจุบัน อาทิ การเลือกใช้วัสดุบานหน้าต่างที่เป็นอะลูมิเนียมเฟรม แต่ยังคงใช้โทนสีที่ใกล้เคียงกับ “สีแดงชาด” ที่นิยมใช้กันในสมัยก่อน ซึ่งเป็นสีที่แสดงถึงความศักดิ์สิทธิ์ ความมีพลัง

ไม่เพียงเท่านั้นภายนอกของศาลาเรือนไทยยังสอดแทรกรายละเอียดลึกซึ้งน่าค้นหา เพราะตัวอาคารออกแบบเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาสูงทรงจั่ว มีหน้าบัน ซุ้มหลังคา เสากลมสูง ตามแบบลักษณะเด่นของบ้านทรงไทยประยุกต์ภาคกลาง บริเวณประตูและหน้าต่าง ถูกออกแบบให้อยู่ในแนวเส้นระนาบเดียวกันอย่างเป็นระเบียบ ประดับและตกแต่งด้วยบัวปูนปั้นที่หัวเสา ขอบพื้น หน้าบันและบัวปูนปั้นต่าง ๆ โดยใช้ปูนปั้นผสมคอนกรีตตามสูตรของช่างฝีมือ เพื่อเพิ่มความทนทานและแข็งแรง และใช้เทคนิคการขึ้นลายด้วยการปั้นมือ

ชิ้นงานแต่ละชิ้นขึ้นตามสัดส่วนงานลายไทย ทางผู้ออกแบบ อาจารย์เผ่า สุวรรณศักดิ์ศรีจะไปตรวจสอบต้นแบบก่อน เมื่อลวดลายถูกต้องแล้วจึงอนุมัติให้ทำแบบหล่อต่อได้ สำหรับลวดลายของงานปูนปั้นเป็นการผูกลายตามเอกลักษณ์ของศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์สถาปัตยกรรมไทย ในปี 2553 ซึ่งเป็นรูปแบบของลายพฤกษชาติ นั่นคือ “ลายดอกพุดตาน” หากมองในรายละเอียดใกล้ ๆ จะเห็นความสวยงาม อ่อนช้อยตามธรรมชาติ กลมกลืนกันกับสถานที่ที่ตั้งอยู่ริมแม่นํ้าเจ้าพระยาและมีพื้นที่สวนกว้างโดยรอบ

ความโดดเด่นงดงามของดอกพุดตาน หากย้อนกลับไปสืบค้นเรื่องราวของดอกไม้ มีข้อมูลบันทึกไว้ให้สืบค้นน่าติดตามหลากหลายที่ ส่วนหนึ่งผลงานค้นคว้าและวิจัย เรื่อง “ที่มาและพัฒนาการของลายดอกโบตั๋นในงานศิลปกรรมไทย” ของนายอาสา ทองธรรมชาติ เผยว่าลายดอกพุดตาน เป็นลายที่พัฒนามาจากดอกไม้มงคลของจีน ซึ่งก็คือ “ดอกโบตั๋น” ราชันแห่งบุปผา สัญลักษณ์แห่งปัญญาและความสง่างาม ลายดอกโบตั๋นในดินแดนไทยได้รับอิทธิพลจากจีนหลายระลอก ลายดอกโบตั๋นเก่าแก่ที่สุดปรากฏที่ลายปูนปั้นบริเวณกรุยเชิงด้านเหนือของปรางค์ประธานวัดพระศรีมหาธาตุ ลพบุรี ซึ่งเป็นศิลปะก่อนอยุธยาร่วมสมัยกับราชวงศ์ซ่ง

ลายโบตั๋นในศิลปะอยุธยานอกจากปรากฏในศิลปกรรมที่หลากหลายแล้วยังสะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการจากลายธรรมชาติ มาเป็นลายประดิษฐ์ และกลายเป็นแม่ลายสำคัญในศิลปะไทย ลายดอกโบตั๋นอยุธยาพบกระจายอยู่ตามเมืองและดินแดนอื่น ๆ เช่น ลังกา พม่า และยังสืบทอดลายมาให้กับสกุลช่างรัตนโกสินทร์ ในช่วงต้นกรุงมีลายดอกโบตั๋นจากจีนตอนใต้แพร่เข้ามาระลอกใหม่ เรียกว่า “ลายดอกพุดตาน”

ต่อมาช่างในสมัยรัชกาลที่ 3 นำไปประกอบกับลายเทศจากตะวันตก เรียกว่า “ลายเทศพุดตาน” หรือ “ลายนอกอย่าง” ซึ่งได้รับความนิยมมากและแพร่กระจายไปทุกภูมิภาค รวมถึงดินแดนประเทศราชด้วย ปัจจุบันลายดอกโบตั๋นยังคงได้รับความนิยมสืบเนื่องมาดังปรากฏอยู่ทั่วไปตามพระอารามต่าง ๆ และยังนำลายดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันด้วย

นับเป็นอีกมิติหนึ่งของมุมมองศิลปะที่สามารถนำสถาปัตยกรรมไทยมาช่วยเสริมในการเล่าเรื่องการเงินได้อย่างแยบคาย.

ช้องมาศ พุ่มสวัสดิ์