ซึ่งจากงานวิจัยนั้น คนส่วนใหญ่มักจะซื้อเสื้อผ้าคล้ายแบบเดิมที่มีอยู่แล้ว แต่ไม่เคยใช้ เพราะกลับหมกอยู่ในตู้เสื้อผ้า ซึ่งเราอาจคิดว่าเรื่องเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายนี้เป็นเรื่องเล็ก แต่ด้วยความที่โลกมีประชากรเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งตอนนี้น่าจะมีอยู่ราว 8 พันล้านคน โดยเมื่อทุกคนใช้เสื้อผ้ากับต้องการของใหม่ทุกวัน โดยเฉพาะสิ่งที่เรียกว่า Fast Fashion แล้ว กรณีนี้ โลกของเราจะมีผลกระทบอย่างไร โดย Fast Fashion อาจจะเป็นคำใหม่ แต่เป็นที่กล่าวขานในวงการความยั่งยืน โดย Fast Fashion คือพัฒนาการของตลาดแฟชั่นที่พยายามเปลี่ยน Collection ไปเรื่อย ๆ เพื่อสร้างกำไรสูงสุด

ซึ่งแต่ละ Collection จะศึกษามาอย่างดี เพื่อเอาใจลูกค้ากลุ่มใหญ่ โดยมีการทำการตลาดที่ชาญฉลาด ประชาสัมพันธ์เจาะกลุ่มเป้าหมาย และมีระบบจัดจำหน่ายอย่างดี ทำให้สามารถผลิตสินค้าที่เหมือนกันได้จำนวนมาก เน้นขายเร็ว ดูดีในคุณภาพที่พอรับได้ วัสดุก็เน้นราคาไม่แพง หาแหล่งผลิตในประเทศที่มีแรงงานราคาถูก กับไม่มีกฎระเบียบเรื่องมาตรฐานมากนัก ทำให้สินค้าราคาถูกกว่า Fashion แบบเดิม ๆ จนเป็นที่ถูกใจของผู้บริโภค เพราะทำให้ซื้อได้บ่อย ๆ โดยไม่ลังเล

แล้ว Fast Fashion เกี่ยวกับความยั่งยืนอย่างไร? นี่แหละที่เป็นปัญหาของ SDG12 การบริโภค และการผลิตที่มีความรับผิดชอบ ซึ่งลองดูที่ตัวเราก่อนว่า Fast Fashion ทำให้เราซื้อของเกินความจำเป็นหรือไม่ โดยถ้าเกินความจำเป็น ก็มาดูว่าห่วงโซ่สินค้านั้นจะสร้างผลกระทบอะไรกับโลกนี้บ้าง

นั่นคือ 1.ปัญหาสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่วัสดุราคาถูกที่มักจะไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้น้ำกับคาร์บอนสูงจนสร้างแก๊สเรือนกระจกจำนวนมาก อีกทั้งยังเกิดวัสดุเหลือทิ้งจำนวนมากอีกด้วย 2.แหล่งผลิตมักจะใช้โรงงานในประเทศที่แรงงานถูก จึงเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน แรงงานเด็ก แรงงานต่างด้าว การใช้แรงงานทาส และคุณภาพชีวิตพนักงาน 3.ปัญหาการบริโภคเกินความจำเป็นและเกิดวัฒนธรรมใช้แล้วทิ้ง จนสร้างปัญหาของเสีย ที่แม้จะนำไปถมดินก็ไม่สามารถย่อยสลายได้ในเวลาหลายร้อยปี 4.วงการ Fast Fashion มักไม่ได้เปิดเผยข้อมูลที่โปร่งใสเพียงพอ ตลอดห่วงโซ่สินค้า รวมถึงมักจะไม่ได้คำนึงถึงการกำจัดหรือการนำกลับมาใช้ใหม่ 5.การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม กับผู้ผลิตเดิมที่มีมาตรฐานความยั่งยืน และผู้ผลิตท้องถิ่นที่ผลิตเสื้อผ้าตามวัฒนธรรมชุมชน

เหล่านี้คือปัญหาด้านความยั่งยืนที่เกิดจาก Fast Fashion ซึ่งสร้างผลกระทบต่อความยั่งยืนของโลก เพราะจากปี 2000 เป็นต้นมา เราผลิตเสื้อผ้าเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว ที่สำคัญกว่าครึ่งถูกทิ้งเป็นของเหลือใช้แต่ละปีมหาศาล เช่น ในยุโรป เดิม Designer จะออก Collection ใหม่ปีละ 2 ครั้ง แต่ปัจจุบันเพิ่มเป็น 5-6 ครั้ง ส่วนแบรนด์ดังหลายแบรนด์ก็จะออก Collection ใหม่ ๆ มาล่อใจทุกเดือน ซึ่งอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสร้างคาร์บอนถึง 10% ของคาร์บอนทั้งหมดของโลก แถมมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนแทบไม่น่าเชื่อว่าวงการ Fashion จะสร้างปัญหามากกว่าแวดวงการบินเสียอีก

นอกจากนี้ ยังเป็นตัวการที่สร้างปัญหามลภาวะทางน้ำ 20% ให้กับแหล่งน้ำของโลก เพราะทราบหรือไม่ว่า เสื้อเชิ้ตตัวหนึ่งต้องใช้น้ำในขบวนการผลิตถึง 700 แกลลอน ซึ่งเท่ากับน้ำที่คน 1 คนดื่ม 3 ปี หรือยีนสวย ๆ ตัวหนึ่งต้องใช้น้ำในการผลิต 2,000 แกลลอน หรือเท่ากับน้ำที่คน 1 คน ดื่ม 10 ปีทีเดียว โดยที่ใช้น้ำมากมายขนาดนั้น เพราะทั้งเสื้อเชิ้ตและกางเกงยีนที่เราใส่กันเกือบทุกวัน มาจากพืช Cotton ที่ใช้น้ำในการเติบโตสูงมาก โดยในประเทศ Uzbekistan การทำฟาร์ม Cotton ใช้น้ำจากทะเลสาบ Aral Sea มากว่า 50 ปี จนปัจจุบันทะเลสาบที่ใหญ่อันดับ 1 ใน 4 ของโลกนี้ ได้แห้งเหือดจนแทบจะเหมือนทะเลทรายแล้ว

นอกจากปัญหาการใช้น้ำจำนวนมากในการผลิตแล้ว ยังมีเรื่องขบวนการย้อมสีที่สวยงาม ที่ทำให้น้ำเสียจากสารเคมีไหลลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะอีกด้วย ขณะที่เส้นใยของเสื้อผ้าประมาณ 60% เป็น Polyester ที่สร้างคาร์บอนได้มากกว่าเส้นใย Cotton ถึง 2-3 เท่า โดยเส้นใย Polyester นี้ เมื่อเราซักเสื้อผ้าก็จะปลดปล่อยไมโครพลาสติกลงในแหล่งน้ำได้มากกว่า 500,000 ตันแต่ละปี ที่เป็นเหมือนการที่เราทิ้งขวดน้ำพลาสติก 50,000 ล้านขวดลงแหล่งน้ำ โดยเป็น 1 ใน 3 ของปัญหาพลาสติกในทะเล

และนอกจากการผลิตกับการใช้งานแล้ว ทราบหรือไม่ว่า Fast Fashion ที่ผลิตในโรงงานที่ใช้แรงงานราคาถูกในเอเชีย แล้วถูกส่งไปขายใน Super Store ในยุโรป อเมริกา และทั่วโลกนั้น ในเวลาไม่ถึงปี เสื้อผ้าที่ขายไม่ได้จะถูกรวบรวมไปเป็นขยะของเสีย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นขยะ Landfill ในประเทศที่ไม่มีกฎหมายรัดกุมเพียงพอ และที่น่าตกใจก็คือ เมื่อไม่นานมานี้ มีภาพถ่ายจากยานอวกาศที่ถ่ายลงมาจนเห็นภูเขาขยะเสื้อผ้าขนาดยักษ์ ราว 60,000 ตัน ซึ่งสามารถเห็นได้ชัดเจนมาจากนอกโลก โดยภูเขาขยะเสื้อผ้านี้ ตั้งอยู่ในทะเลทราย Atacama ของประเทศชิลี ซึ่งในกองขยะนี้ มีเพียง 15% ที่เป็นเสื้อผ้าที่ใช้แล้ว แต่อีก 85% เป็นเสื้อผ้าใหม่ที่ขายไม่ออก อีกทั้งในหน้าแล้งได้เกิดไฟไหม้กองเสื้อผ้านี้ จนชุมชนรอบกองขยะต้องใช้ชีวิตอยู่ในบ้านนานเป็นเดือน ๆ รวมถึงยังมีปัญหาสารเคมีที่สะสมในแหล่งน้ำใต้ดิน เนื่องจากขยะเหล่านี้ไม่สามารถย่อยสลายได้เป็นเวลาหลายร้อยปี จนก่อให้เกิดปัญหาความสะอาดและสุขภาวะตามมามากมาย จนทาง UN ต้องประกาศเป็นวิกฤติเร่งด่วนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม

นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็ก ๆ น้อย ๆ ในห่วงโซ่ Fast Fashion ซึ่งหลายท่านคงมีคำถามว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาจากวงจรธุรกิจที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม หรือที่จริงเป็นปัญหาที่เกิดจากตัวเราเอง ซึ่งหากลองกลับมาดูที่ตัวเรา เราก็ต้องตั้งคำถามว่า เราเป็นผู้บริโภคที่พอเพียงแล้วหรือยัง หรือเราใช้ทรัพยากรของโลกนี้มากเกินจำเป็นหรือไม่ และเราได้ตระหนักถึงเรื่องผลกระทบจากการใช้สินค้ามากน้อยเพียงใด ซึ่งสำหรับวงการความยั่งยืนนั้น ชาว Minimal มีกฎเหล็กว่า “One In One Out” หรือ “มีของใช้แค่พอดี” ซึ่งถ้าซื้อของใหม่เข้าบ้าน เราก็ต้องบริจาคของที่มีอยู่เดิมออกไป ที่เรื่องนี้ทำใจยากที่สุด.

CSR Man