น้อง ญ : คุณอาหมอคะ หนูอยากส่งผลงานเข้าประกวด จะได้เก็บเป็น Portfolio เพื่อเข้าเรียนต่อสถาปัตย์ จะได้ไม่ต้องถ่ายรูปใส่บาตรพระ หรือจูงคนแก่ข้ามถนน Portfolio แบบนี้น่าจะเข้าตากรรมการมากกว่า คุณหมอมาร์คมีคำแนะนำอย่างไรคะ?

คุณหมอมาร์ค :  ตอบน้อง ญ คะ การเรียนสถาปัตย์หนักมาก แต่ถ้าชอบ การประกวดนี้จะทำให้เราได้เรียนรู้มากมายในหลายเรื่อง โดย เรื่องแรก ต้องตั้งเป้าหมายการเข้าร่วมแข่งขันก่อนว่าต้องการอะไร เพื่อพัฒนาตนเอง เพื่อหาประสบการณ์ใหม่ เพื่อชัยชนะ หรือเพื่อรางวัล โดยต้องตอบให้ได้ว่า เราตั้งใจไว้ตอนแรกแบบไหน ตอนจบจะได้มาทบทวนว่าเราสำเร็จไหม เพราะอะไร

เรื่องที่สอง เมื่อเป้าหมายชัดเจนแล้ว ก่อนสมัครเข้าแข่งขัน ก็ต้องมาตีโจทย์ให้แตกว่าผู้ให้โจทย์ต้องการอะไร เพราะส่วนใหญ่ทีมที่ตกรอบคือส่งงานไม่ตรงโจทย์ หรือไม่ชน ะเพราะกรรมการบอกว่าตีโจทย์ไม่แตก บางครั้งแม้เราตีโจทย์แตก แต่กรรมการกลับตีโจทย์ไม่แตกเสียเองก็มี แต่ทุก ๆ การประกวดกรรมการย่อมเป็นใหญ่ เราจะเถียงไม่ได้ ดังนั้นนี่คือหนึ่งบทเรียนของชีวิตที่ น้อง ญ จะต้องเจอ เรื่องที่สาม เมื่อเข้าใจโจทย์และข้อกำหนดชัดแล้ว ก็มาสู่ขบวนการ Design Thinking เพื่อออกแบบให้ wow ซึ่งเรื่อง Design Thinking ได้อธิบายไว้แล้วในฉบับก่อน ๆ ที่สำคัญเมื่อแบบ wow แล้ว ก็ต้องไม่ทำผิดข้อบังคับที่เขากำหนดไว้ เช่น เขาให้พื้นที่มา 3×3 เมตร ก็ต้องให้พอดี อย่าเกิน หรือถ้ากำหนดให้ใช้งบประมาณเท่าไร ก็ทำเท่านั้น เป็นต้น เพราะถ้าเราทำผิด กรรมการก็มีข้ออ้างให้เราตกรอบได้เสมอ หรือถ้ากรรมการเอ็นดูเรา แม้จะทำผิดกฎ เขาก็อะลุ่มอล่วยให้ได้เช่นกัน เรื่องที่สี่ เมื่อได้แบบที่ดี และก่อสร้างได้สมบูรณ์ตามแบบแล้ว เรื่องสำคัญคือ Presentation หรือการเล่าเรื่องแนวคิดให้น่าสนใจ ซึ่งเราจซ้อมเยอะ ๆ เพราะมือสมัครเล่นอย่าง น้อง ญ อาจจะเสียเปรียบมืออาชีพ ที่ผ่านเวทีประกวดมามากมาย และนี่ก็เป็นอีกบทเรียนในโลกแห่งความจริง ที่มีทั้งปลาใหญ่และปลาเล็ก และไม่มีอะไรเท่าเทียม

น้อง ญ : แล้ว Concept ความยั่งยืนสำคัญไหม? เพราะเห็นกรรมการทำหน้าแปลก ๆ ไม่สนใจถาม และมักข้ามไปเลย    

คุณหมอมาร์ค : อันนี้ตอบยาก เพราะแล้วแต่กรรมการ ซึ่งถึงแม้ไม่มีข้อกำหนดเรื่องความยั่งยืนไว้ ถ้าเป็นกรรมการระดับ World Class จะมองเรื่องนี้ว่าสำคัญมาก และจะให้น้ำหนักที่สุด แต่การแข่งขันในเมืองไทยนั้น การตัดสินจะขึ้กับมุมมองและมาตรฐานของกรรมการ ดังนั้น น้อง ญ ก็ต้องทำใจไว้เช่นกัน และข้อแนะนำสุดท้ายจากคุรหมอมาร์คก็คือ ในชีวิตจริง ผลงานที่ดีที่สุดหรือคนที่เก่งที่สุด ก็อาจจะไม่ใช่ผู้ชนะเสมอไป ซึ่งนี่คือบทเรียนชีวิตที่ น้อง ญ จะได้เรียนรู้ ขอให้สนุกกับการแข่งขันนะคะ.

คุณหมอมาร์ค