บางคนทำเรื่องความยั่งยืนตามกฎเกณฑ์ที่ถูกกำหนดไว้เพื่อเก็บสะสมคะแนน หรือทำกันแบบผิวเผินเพื่อ PR หรือ Green Wash โดยบางคนก็ไม่เห็นความสำคัญของความยั่งยืนเลย ซึ่งจักรวาลคู่ขนานของคนแต่ละประเภทเหล่านี้ มักมาตัดกันในบางช่วงเวลา และถ้ามีใครมาจากอนาคต หรือแม้แต่ถ้าเรากลับสู่ Timeline ในอดีตได้ เราอาจสามารถกลับไปเปลี่ยนคนบางคน องค์กรบางองค์กร เพื่อแก้ไขวิกฤติในปัจจุบัน หรืออนาคตได้

งานบ้านและสวน น่าจะเป็นหนึ่งในจุดตัดแห่งช่วงเวลา ที่จักรวาลของความยั่งยืนของผู้คนที่หลากหลายมาพบกัน ผมคงจะเหมือนกับหลาย ๆ ท่านที่คุ้นเคยกับงานนี้มานานกว่า 47 ปี ช่วงก่อน Covid ผมเริ่มเห็นแนวคิดการจัดงานที่เปลี่ยนไป มีสิ่งแปลกใหม่ที่เป็นวิถีชีวิต เป็นกิจกรรม เป็นห้องเรียน เป็น playground ให้เล่น ให้ทดลอง โดยมีผู้เชี่ยวชาญในเรื่องต่าง ๆ มาร่วมวงพูดคุย ช่วยแนะนำแก้ปัญหา สิ่งเหล่านี้เป็นนวัตกรรมทางธุรกิจบนพื้นฐานของความยั่งยืนที่ผสมผสารอยู่ในทุกอณูของการจัดงาน จนเราแทบมองไม่เห็น และสิ่งใหม่ ๆ เหล่านี้ เป็นแม่เหล็กดูดผู้ชมงานให้เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยผมทราบจากผู้จัดงานว่า แนวคิดเรื่องความยั่งยืนนั้น อยู่ใน DNA ของทีมงาน ตั้งแต่การเตรียมงาน การคัดสรรผู้ประกอบการ ที่ให้โอกาสผู้ประกอบการรายเล็ก ที่มีนวัตกรรมความยั่งยืน มีสินค้าบริการรักษ์โลก สินค้าชุมชน โดยในงานไม่ได้แยก Zone ของความยั่งยืนเป็นพื้นที่พิเศษ แต่ผสมผสารผู้ประกอบการเหล่านั้นไปใน Zone ต่าง ๆ ด้วยการออกแบบผังที่ชาญฉลาดเพื่อสร้าง Customer Journey แบบ Seamless ที่ไร้รอยต่อในโลกของความยั่งยืน

จาก Zone บ้านและสวนเดิม เพิ่มสีสันด้วย Zone วิถีชีวิตต่าง ๆ เช่น Garden & Farm จากสวนไม้ประดับสวยงาม ได้เพิ่มนวัตกรรม พืชผักสวนครัว ที่ส่งเสริมกิจกรรมการเกษตรเล็ก ๆ ในบ้าน จนถึงขยายเป็น Farm House ซึ่งเป็นฝันของพวกเราหลายคน ทำให้เรารัก อยากขยายพื้นที่สีเขียว อยากทำแหล่งอาหารสุขภาพเพื่อทานเอง ส่วนเกินก็สามารถสร้างรายได้เพิ่ม Pet Zone เป็นพื้นที่สำหรับคนรักสัตว์ต่าง ๆ มีสินค้า บริการ สถานเสริมสวย สถานพยาบาล และกิจกรรมเพื่อคนรักสัตว์ เมื่อเรารักสัตว์เลี้ยงของเรา ก้าวต่อไปเราก็อยากออกไปสำรวจชีวิตสัตว์โลก และเราก็จะได้เรียนรู้ระบบนิเวศน์ที่เหมาะกับการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน

เมื่ออยากจะออกไปสำรวจโลก ก็จะมี Zone สำหรับนักผจญภัย Explorer ที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับ ป่าเขาลำเนาไพร จากภูผาสู่มหานที จากลุ่มน้ำสู่ทะเลและมหาสมุทร แถมยังมี National Geographic ที่เชื่อมการผจญภัยของไทย สู่สิ่งมหัศจรรย์ของโลก ความงามของธรรมชาตินั้นเชื่อมโยงกันเป็นเนื้อเดียว ยิ่งเรามีประสพการณ์กับธรรมชาติมากขึ้นเท่าไร เราก็จะรักษ์โลกมากขึ้นเท่านั้น และเราก็จะกลับมารักษ์บ้านของเรา เรื่องความยั่งยืนมันวนเวียนอยู่ในวิถีชีวิตของเราโดยเราไม่รู้ตัว การออกแบบการจัดงานก็เช่นกัน นวัตกรรมของ Zone ใหม่ ๆ เหล่านี้ สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ชมงานกว่า 100,000 คนในแต่ละวัน โดยไม่ต้องติดป้าย Sustainable

นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดอื่น ๆ อีกมายมายที่เล่าไม่หมด อาทิ การออกแบบบูธที่เป็นระบบ Knock Down รื้อถอน ใช้ซ้ำได้หลายครั้ง การใช้พรมพื้นแบบ Reuse หรือบาง Zone ก็ใช้พื้นเปลือยตกแต่งให้เป็น Minimal การเลือก Prop ประกอบฉากก็นำของเหลือใช้ที่โรงพิมพ์มาแปรรูป เก้าอี้ที่ใช้ก็ทำจากวัสดุ Recycle จากสิ่งต่าง ๆ ที่ทิ้งในงานเช่น จุกขวดน้ำ และกากกาแฟ การออกแบบเส้นทางการชมงานก็คิดเรื่อง Universal Design อย่างดี เพราะมีคนชรา และผู้พิการมาชมงานจำนวนมาก ต้องดูระดับพื้น ความเรียบต่อเนื่องแข็งแรงเพื่อความปลอดภัย ผมแอบไปดูหลังฉาก ยังเห็นพื้นที่ที่เตรียมไว้สำหรับแม่บ้าน คนทำความสะอาด มีพื้นที่ให้นั่งพักผ่อนอย่างมีคุณภาพ โดยไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ทิ้งใครไว้ด้านหลัง

Zone ที่ผมชอบมากจะอยู่ด้านหน้า คือ การจัดประกวด Unlock Your Garden ซึ่งปีนี้สนับสนุนโดยถังน้ำ DOS ผมเดินดูผลงานที่เข้ารอบสุดท้าย 10 ทีม ที่นำมาจัดแสดงล้วนออกแบบตกแต่งอย่างสร้างสรรค์ สวยงาม ผมไม่ทราบว่าใครได้รางวัลชนะเลิศ หรือมีเกณฑ์ตัดสินอย่างไร แต่ด้วยสายตาของ Sustainable Sunday ผมเดินชมและลองอ่านแนวคิดดูว่า ถ้าผมเป็นผู้ตัดสินจะเลือกทีมไหน เพื่อให้รางวัลสุดยอดนักออกแบบรักษ์โลก Sustainable Design Award ซึ่งสำหรับผมแล้ว จาก 10 ทีม มีเพียง 2 ทีมเท่านั้น ที่เขียนแนวคิดการออกแบบที่มาจากความยั่งยืน และที่น่าสนใจมากคือทั้ง 2 ทีมนี้เป็นเด็กรุ่นใหม่ เป็นนักเรียนมัธยม และนักศึกษามหาวิทยาลัย ที่มาทำบูธกันเองแบบมือสมัครเล่น ที่กล้าแข่งขันกับมืออาชีพ

ซึ่งทีมแรกคือ สวนที่ 7 โดย คุณวีรินทร์ บูรณะเลิศไพศาล ชื่อผลงาน “สวนครัว” โดยมีแนวคิดเปลี่ยนพื้นที่รกร้างหลังบ้าน ให้เป็นพื้นที่ของครอบครัว ที่พ่อ แม่ ลูก ออกมาทำกิจกรรมนอกบ้านร่วมกันด้วยการปลูกผักสวนครัว เลือกใช้โครงสร้างรักษ์โลกที่ประหยัด ทำจากไม้ไผ่ซึ่งเป็นวัสดุธรรมชาติที่ดูดซับคาร์บอนได้มากที่สุดชนิดหนึ่ง โครงสร้างมีมิติที่น่าสนใจ แสงเงาจะเปลี่ยนไปจากเช้าสู่เย็น เป็นการออกแบบที่เรียบง่ายและสร้างสรรค์จากน้อง ๆ มัธยมปลายสาธิตประสานมิตร

ขณะที่อีกทีมที่เยี่ยมยอดมาก คือ สวนที่ 8 โดย คุณรินรดา ธรรมนิภานนท์ และ คุณพริมา อุทินทุ ชื่อผลงาน “Enjoy the little things” โดยมีแนวคิดว่า เราไม่ต้องเปลี่ยนแปลงการใช้งานของพื้นที่ แค่นำการออกแบบที่สร้างสรรค์มาแก้ปัญหาให้ครบวงจร พื้นที่หลังบ้านที่คนมักนำของมาทิ้ง หรือรอทิ้ง ถ้าออกแบบเป็นมุมนั่งเล่นปกติ ก็จะสวยแบบ showroom แป๊บเดียว หลังจากนั้นจะเป็นที่ทิ้งขยะเช่นเดิม น้อง ๆ จึงออกแบบพื้นที่ให้เป็น Recycle Station โดยวัสดุที่นำมาใช้ในงานนี้ทั้งหมดเป็นวัสดุ Reuse ที่ใช้แล้วมาสร้างสรรค์เป็น Second Life ที่ดีกว่าเดิม โดยออกแบบเป็นตู้แยกขยะอันตราย แยกขยะพลาสติก ขยะกล่องกระดาษที่สามารถนำไปขายเพื่อเป็นรายได้  แยกขยะเปียกเพื่อทำปุ๋ยชีวภาพ นำไปเป็นปุ๋ยให้แปลงผัก และสวนครัวที่ออกแบบไว้ด้านข้างเพื่อให้เกิด Circular Economy พื้นที่เล็ก ๆ นี้ถูกออกแบบให้สร้างความสุขได้ตลอดวัน ตั้งแต่จิบกาแฟยามเช้า หรือเด็ด Mint มาชงชา แล้วใช้เวลากับ Hobby ที่เรารัก เช่น ทำสวนครัว เลี้ยงไม้ประดับ สะสมตะบองเพชร ให้อาหารปลา เล่นกับสัตว์เลี้ยงแสนรัก จนถึงเก็บผักสลัดมาทำ Chef Table แม้ในยามค่ำคืนยังใช้งานได้อย่างโรแมนติค ด้วยไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ พื้นที่ถูกออกแบบให้เชื่อมโยงการใช้งานกับถัง DOS ที่เป็นพระเอกอยู่ตรงกลาง เพราะน้ำคือความสำคัญของกิจกรรมรักษ์โลกตลอดวัน

ไม่น่าเชื่อว่าพื้นที่เล็ก ๆ เพียง 3×3 เมตร ที่ถูกออกแบบอย่างชาญฉลาดโดยนิสิตสถาปัตย์ จุฬาฯ สองคนนี้ จะเป็นพื้นที่สำหรับความสุขที่ยิ่งใหญ่ สามารถสร้างแรงบันดาลใจ และสร้างจริงได้ง่าย ๆ ในทุกบ้าน โดย DOS สามารถต่อยอดด้วยการแนะนำลูกค้า ให้นำแนวคิดที่ยอดเยี่ยมทั้งสองนี้ไปประยุกต์ใช้งานจริง ขยายตลาด และขยายความยั่งยืนไปพร้อมกัน สำหรับ Sustainable Sunday Choices ผมขอเลือกสวนที่ 7 และสวนที่ 8 ให้เป็นสุดยอด Sustainable Design Award ของงาน ขอแสดงความยินดีกับน้อง ๆ ทั้งสองทีมนะครับ.

CSR Man