นายวัตสัน ถิรภัทรพงศ์  ผู้จัดการประจำประเทศไทย ของ บริษัท อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด หรือ เอดับบิวเอส เปิดเผยว่า ปัจจุบันองค์กรธุรกิจในไทย ได้หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่นยืน (ซัสเทนอะบิลิตี้) และอีเอสจี  ที่เกี่ยวเนื่องกับ สิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล มากยิ่งขึ้น หลังจากที่ผ่านมาจะมีเฉพาะในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่ได้ขยายมายังกลุ่มไฟแนนซ์ และกลุ่มเอสเอ็มอี โดยเฉพาะการนำแอพพลิเคชั่นต่างๆมาไว้บนคลาว์ด ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งในการช่วยในการช่วยประหยัดทรัพยากรและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากว่าการใช้ศูนย์ข้อมูลขององค์กรเอง

“จากงานวิจัย  เซาท์อีสเอเซีย กรีน รีพอร์ต 2023 ระบุว่า การลงทุนเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว ในภูมิภาคนี้จะมีมูลค่าถึง  2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และหากเริ่มต้นตั้งแต่ตอนนี้จะช่วยให้สามารถเป็นผู้นำได้ และจะมีการสร้างงานด้านนี้สูงถึง 5-6 ล้านตำแหน่ง อย่างไรก็ตามองค์กรต่างๆในภูมิภาคนี้ กำลังเผชิญความท้าท้าย ในเรื่องการประหยัดพลังงาน และการปล่อยก๊าซฯที่สวนทางกับการเติบโตของเศรษฐกิจ ”

นายวัตสัน กล่าวต่อว่า  บริษัทมีเป้าหมายคาร์บอนเป็นศูนย์ในปี 83 จึงได้นำหลักการการเศรษฐกิจหมุนเวียน มาใช้ในทุกส่วนขององค์กรตั้งแต่การผลิตสินค้า บรรจุภัณฑ์ ไปจนถึงศูนย์ข้อมูลต่างๆ ซึ่งเรื่องความยั่นยืนจะเป็นเรื่องที่บริษัทให้ความสำคัญและขับเคลื่อนในประเทศไทยต่อจากนี้  โดยเฉพาะการใช้คลาว์ดจะเป็นเครื่องมือช่วยที่สำคัญ ซึ่งจากงานวิจัยระหว่างประเทศ  451 รีเซิร์ช พบว่าการย้ายปริมาณงาน ขององค์กรไปยัง คลาว์ดของ เอดับบิวเอส จะสามารถ ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของปริมาณงานได้เกือบ 80% และจะเพิ่มสูงสุดถึง 96% เมื่อบริษัท ได้ใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ภายในปี 68  นอกจากนี้ยังพบว่าศูนย์ข้อมูลคลาว์ดยังสามารถประหยัดพลังงาน ได้มากกว่าศูนย์ข้อมูลในองค์กรของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกถึง 5 เท่า