โดยปัจจุบันอาสาสมัครของมูลนิธิช่วยกันเก็บขยะในคลองลาดพร้าวได้ถึงวันละ 1.6 ตัน แต่ในวันที่พี่แจ็คสันมาร่วมด้วยนั้น ปรากฏว่ามีอาสาสมัครมาช่วยกันมากมาย จนวันนั้นวันเดียว น่าจะเก็บขยะจากคลองได้ถึง 2.2 ตันเลยทีเดียว

“พี่แจ็คสันทำไปทำไม?” ซึ่งพอผมเห็น Logo งาน กิจกรรมนี้ก็น่าจะเป็นกิจกรรม CSR ของน้ำดื่มแบรนด์หนึ่งที่มีพี่แจ็คสันเป็น Brand Ambassador ซึ่งนับเป็นกิจกรรมประชาสัมพันธ์ ผสมความรับผิดชอบต่อสังคม ที่นำคนที่มีชื่อเสียงมาร่วมทำกิจกรรมเพื่อสังคม โดยกิจกรรมรูปแบบนี้มีประโยชน์หลายอย่าง นั่นคือ ประการแรก สร้างกระแสสังคมในประเด็นที่อยากขับเคลื่อนให้ดังขึ้น กรณีนี้คือจิตสำนึกและความรับผิดชอบในการทิ้งขยะลงคลอง ที่ทำให้คุณภาพน้ำเสื่อมโทรมลง จนแม่น้ำลำคลองเป็นสีดำที่เต็มไปด้วยขยะ ซึ่งถ้าทุกคนไม่ช่วยกันดูแล คูคลองก็คงเป็นทางระบายน้ำเสียและที่สะสมขยะของเมือง โดยวันที่พี่แจ็คสันมาปลุกกระแสสังคมโดยการส่งสารออกไปให้ผู้คน หันมาสนใจเรื่องนี้นั้น ถ้าทำเรื่อย ๆ ปัญหาขยะในคลองก็จะลดลงได้ ยิ่งมีผู้ว่าฯ กทม. มาร่วมกิจกรรมด้วย ถ้าคิดต่อก็อาจทำให้เกิดสถานีเก็บขยะริมคลอง และการจัดการที่เป็นระบบมากขึ้น ยิ่งถ้าเปลี่ยนไปใช้เรือไฟฟ้าเก็บขยะ หรือใช้พลังงานไฮโดรเจน หรือพลังงานทางเลือกอื่น ๆ ก็จะสร้างนวัตกรรมเมืองแห่งความยั่งยืนได้ดีทีเดียว

ประการที่สอง เก็บแล้วขยะไปไหนต่อ โดยมูลนิธิ TerrraCycle ในประเทศอังกฤษนั้น เป็นกิจการเพื่อสังคม ที่นอกจากเก็บขยะกับสิ่งของเหลือใช้แล้ว ยังเป็นองค์กรที่ช่วยเชื่อมโยง Circular Economy อย่างครบวงจร เพราะมีการจัดการระบบสถานีทิ้งขยะ การแยกขยะ และนำขยะที่ Recycle ได้ไปยังบริษัทที่สามารถนำขยะเหล่านั้น ไปเป็นวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ใหม่ได้ รวมถึงให้คำแนะนำการออกแบบบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก ที่สามารถนำกลับไปใช้ใหม่ได้ โดยผมเคยเห็นเขาเก็บพลาสติกที่ถูกทิ้งเป็นขยะนำกลับไปผลิตเป็นเครื่องเล่นเด็ก หรือเป็นที่นั่งในสวนสาธารณะให้ชุมชนที่ขาดแคลน และเช่นกัน ถ้าผู้ว่าฯ กทม. คิดต่อ ขยะพลาสติกที่เก็บได้วันนั้นอาจนำไป Recycle กลับมาเป็นสนามเด็กเล่นในสวนสาธารณะของ กทม. ซึ่งเป็นการใช้ขยะพลาสติกอย่างคุ้มค่า

ประการที่สาม คือการที่ผู้มีชื่อเสียงมาทำกิจกรรมแบบนี้ จะช่วยทำให้ได้มีโอกาสเรียนรู้พัฒนาตนเอง และก้าวเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง หรือสนับสนุนการขับเคลื่อนในเรื่องที่เขาสนใจได้ในอนาคต โดยดูจากตัวอย่างคนดังระดับโลก อาทิ “แอนเจลินา โจลี” ที่ในช่วงถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง Lara Croft : Tomb Rider ที่กัมพูชา เธอได้แรงบันดาลใจในการช่วยเหลือผู้อพยพจากภัยสงครามทั่วโลก จนร่วมงานกับ UNHCR ในฐานะทูตสันถวไมตรี เพื่อเป็นกระบอกเสียงให้คนเหล่านี้ ซึ่งเธอทำเรื่องมายาวนาน 20 ปี ตั้งแต่ปี 2001

เหมือนเช่นเดียวกันกับ “ลีโอนาโด ดิคาปริโอ” ที่ใช้ช่วงถ่ายทำ Titanic เขาได้เห็นความสำคัญของภูเขาน้ำแข็งที่กำลังละลาย ยิ่งหลังจากได้มาถ่ายภาพยนตร์เรื่อง The Beach ที่อ่าวมาหยา จ.กระบี่ เขาก็ยิ่งเห็นปัญหา จึงก่อตั้งมูลนิธิ Leonardo Di Caprio Foundation เพื่อรณรงค์เรื่องโลกร้อนร่วมกับองค์กรพันธมิตรทั่วโลก โดยปี 2016 เมื่อเขาคว้ารางวัล Oscar ดารานำชายยอดเยี่ยม สุนทรพจน์ที่เขากล่าวกลับเป็นการรณรงค์ให้ทั่วโลกตื่นตัวกับความเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและโลกร้อน ซึ่งเป็นวิธีสื่อสารที่ชาญฉลาด เพราะเขารู้ดีว่า สิ่งที่เขาพูดตอนรับรางวัลจะมีคนฟังและมีคนส่งต่อไปอีกหลายพันล้านคน

นอกจากนี้ก็ยังมี “Emma Watson” นักแสดงอังกฤษที่ทุ่มเทให้เรื่องสิทธิสตรีและความเท่าเทียม “George Clooney” กับภรรยา ที่ทำงานส่งเสริมความยุติธรรมและสันติภาพทั่วโลก “Lady Gaga” ที่เคลื่อนไหวสนับสนุนความหลากหลายทางเพศของกลุ่ม LGBTQ+ และปัญหาจิตเภท ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของคนรุ่นใหม่ “Jane Fonda” ดาราดัง Hollywood ที่แม้มีอายุ 85 ปีแล้ว แต่ยังร่วมรณรงค์เรื่องสิทธิสตรีชนผิวสีกับชนกลุ่มน้อยจนถูกจับกุมอยู่บ่อย ๆ “Gul Panag” นางงามอินเดีย และนักแสดง Bollywood ก็ออกมาต่อสู้เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ การศึกษา และภัยพิบัติ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของอินเดีย

หรือเด็กที่เป็นคนดัง “Greta Thunberg” เยาวชนนักเคลื่อนไหวสวีเดน ก็ออกมาเรียกร้องผู้ใหญ่ให้ใส่ใจภาวะโลกร้อนโดยเร่งด่วน ซึ่งไม่นานนี้ เธอถูกตำรวจหิ้วจากการชุมนุมประท้วง และถูกปรับไปพร้อมกับเพื่อนร่วมอุดมการณ์ นอกจากนี้ยังมีคนดังการเมือง เช่น “Al Gore” อดีตรอง ปธน.สหรัฐอเมริกา ที่เอาจริงกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดยเขาเคยเขียนบทภาพยนตร์ และร่วมแสดงในเรื่อง An Inconvenience Truth ซึ่งหนังเรื่องนี้ได้รางวัล Oscar ปี 2007 ด้วย แถมเป็นแรงบันดาลใจให้นักขับเคลื่อนความยั่งยืนของโลกในยุคนั้นและยุคต่อมา ซึ่งถ้านักการเมืองไทย สส. สว. ที่วางมือแล้วหันมาเคลื่อนไหวเรื่องเหล่านี้ ประเทศไทยคงดีขึ้นไม่น้อย และคงยั่งยืนกว่าการงดออกเสียง

อย่างไรก็ดี เราก็มีคนดังของไทยที่เคลื่อนไหวเรื่องความยั่งยืนเช่นกัน เรียกว่าไม่น้อยหน้าคนดังระดับโลก อย่างช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้ไปนั่งฟัง “เชอรี่ เข็มอักษร” ในงานแจกรางวัล ESG ซึ่งเธอเล่าถึงแรงบันดาลใจที่เห็นการตัดไม้ทำลายป่าที่แหล่งต้นน้ำที่ จ.น่าน จนกลายมาเป็นโครงการอนุรักษ์ป่าเล็ก ๆ และถูกพัฒนากลายเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม The Little Forest เพื่อระดมทรัพยากรมาช่วยกันอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ หรือแม้แต่คนดังรุ่นใหม่อย่าง “อเล็กซ์ เรนเดล” ดาราชายชื่อดัง ก็จัดตั้งโครงการ ECC Thailand เพื่อทำค่ายพัฒนาเยาวชนในเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยได้สร้างประสบการณ์จริงให้เด็ก ๆ ทั้งเดินป่า การใช้ชีวิตร่วมกับสัตว์ป่า การดำน้ำ การเก็บขยะใต้น้ำ เพื่อเรียนรู้ระบบนิเวศใต้ทะเล เพราะเมื่อเด็ก ๆ เข้าใจคุณค่าของธรรมชาติ พวกเขาก็จะเติบโตและช่วยกันรักษาโลกใบนี้ไว้

นอกจากนั้นก็ยังมีคู่รักดาราอย่าง “ท๊อป-พิพัฒน์” และ “นุ่น-ศิรพันธ์” ที่ช่วยกันโปรโมตวิถีชีวิตแบบรักษ์โลก ด้วยการพัฒนาแอปพลิเคชัน Eco Life ขึ้นมา เพื่อช่วยให้เราใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนมากขึ้น รวมถึงเปิดร้าน The Eco Shop เพื่อจำหน่ายสินค้ารักษ์โลกด้วย นี่แค่ตัวอย่างเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะยังมีคนรุ่นใหม่ คนดัง คนมีชื่อเสียงอีกมากที่ออกมาช่วยกันทำให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้น ซึ่งเรื่องนี้นั้น พวกเราทุกคนก็ทำได้เช่นกัน.